ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ‘ประเทศไทยควรทำมาหากินแบบไหนในอนาคต?’ จัดโดย TDRI ว่า โดยส่วนตัวกังวลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังแข่งขันในระดับโลกยาก ดังนั้นต่อให้โควิดหมดไปแต่สภาพของโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิดก็จะทำให้ไทยตกอยู่ในภาวะไม่ปกติอยู่ดี
“ผมเพิ่งกลับจากทัวร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนอยู่ที่นู่น เห็นได้ชัดเลยว่าในระดับโลกไทยเป็นแค่ SMEs ขนาดเล็ก มีสินค้าไทยที่วางอยู่บนเชลฟ์ของ Costco เป็นเกี๊ยวกุ้งกับข้าวแต๋นแค่สองชนิด และเราไม่มีสินค้าหมวดที่อยู่ในกระแสความนิยมของโลกเลย” ธนากล่าว
ธนาระบุว่า กระแสเรื่องความยั่งยืนหรือ Sustainability กำลังเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลก ดังนั้นหนึ่งในโจทย์ที่ไทยควรเร่งศึกษาในเวลานี้คือจะ Commercialize เรื่องอาหารและธรรมชาติซึ่งเป็นจุดเด่นของไทยให้อิงกับกระแสนี้โดยไม่เป็นเพียงการ CSR
“อีกหนึ่งเมกะเทรนด์ตอนนี้คือการ Work from Anywhere เราจะทำอย่างไรเพื่อดึงดูดมันสมองจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย คำว่าทีมไทยแลนด์ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทยทุกคนก็ได้ อาจจะผสมกันหลายๆ ชาติ อีกเรื่องที่ควรทำคือการมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองบ้าง” ธนากล่าว
ด้าน สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group กล่าวว่า การฟื้นตัวจากโควิดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 เฟส หรือ 3 อยู่ เฟสแรกคือ ‘อยู่รอด’ ซึ่งเป็นช่วงที่มีคนป่วยหนักและเสียชีวิตมาก จะต้องมุ่งไปที่ด้านสาธารณสุขก่อน เฟสต่อมาคือ ‘อยู่เป็น’ หรือการใช้ชีวิตร่วมกับโรค และเฟสสุดท้ายคือ ‘อยู่ยืน’ ซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดหลังจากโควิด
“ไทยเราชอบไปรบในสงครามของเมื่อวานและพลาดสงครามของพรุ่งนี้ เช่น โจทย์ของปี 2021 คือวัคซีน ซึ่งเราพลาดไปแล้ว เราควรอ่านอนาคตหรือเก็งข้อสอบให้ออก โดยส่วนตัวมองว่าโจทย์ของปี 2022 จะเป็นการอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร เราต้องคิดเรื่องนี้ให้ออกตั้งแต่ปีนี้ ถ้ายังมัวไปรบอยู่กับวัคซีนก็จะทำให้เราสู้อยู่ในสงครามของเมื่อวานเช่นเดิม” สันติธารกล่าว
สันติธารกล่าวว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันเป็นรุ่นที่ค่อนข้างเก่า เช่น รถยนต์ยังไม่ EV ท่องเที่ยวยังเน้นเชิงปริมาณ ทำให้ภาครัฐพยายามจะคิดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคตบางประเภทให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การทำเช่นนั้นเปรียบได้กับการให้ความสำคัญเฉพาะกองหน้าในเกมฟุตบอล วิธีการที่เหมาะสมกว่าคือการเน้นพัฒนากองกลาง เช่น ระบบโลจิสติกส์ การเงิน การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ให้เข้าถึงได้ง่ายและเป็นวงกว้างมากขึ้น
“การเน้นไปที่กองหน้า เราอาจต้องวัดดวงว่ากองหน้าคนนี้จะเก่งทำประตูได้หรือเปล่า แต่ถ้าเราเน้นไปที่กองกลางให้คอยป้อนบอลให้กองหน้าหาจังหวะยิงได้บ่อยๆ เราจะได้ประตูในที่สุด” สันติธารกล่าว
สันติธารกล่าวอีกว่า ไทยควรใช้โอกาสในช่วงโควิดนี้ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่อง หรือ ‘กขค’ โดย ก. ย่อมาจาก กฎกติกา ที่ต้องเร่งแก้ไขในประเด็นที่เป็นอุปสรรค ข. คือ ข้อมูล ที่ภาครัฐควรสร้างระบบจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและนำข้อมูลที่ได้จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ มาใช้ต่อยอดในการวางนโยบาย และ ค. คือ คน ซึ่งต้องเร่งดึงคนเก่งเข้ามาในประเทศในภาวะที่ทั่วโลกกำลังแย่งชิงคนเก่ง
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ป่าสาละ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ‘ประเทศไทยควรทำมาหากินแบบไหนในอนาคต?’ จัดโดย TDRI ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาที่อยู่กับประเทศไทยไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี แม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารต่างๆ จะมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินออกมาก็ตาม เนื่องจากในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด รายได้ของคนไทยหายไปค่อนข้างเยอะ ต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายและกู้หนี้ยืมสิน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดสึนามิหนี้ตามมา
“หนึ่งเรื่องที่คิดว่าภาครัฐควรทำคือแก้กฎหมายล้มละลายให้ลูกหนี้ปกติสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้อาจช่วย SMEs ได้ด้วย เพราะ SMEs จำนวนมากใช้เงินกู้ส่วนบุคคลมาหมุนเวียนกิจการ” สฤณีกล่าว
สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป สฤณีมองว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดิมของไทยหลายๆ ตัวยังใช้งานได้ เช่น การท่องเที่ยวที่น่าจะกลับมาเป็นพระเอกได้ แต่โจทย์ที่ภาครัฐจะต้องทำเพิ่มคือการกระจายผลประโยชน์ไปสู่คนให้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและผูกขาด หรือพูดง่ายๆ คือการเติมคำว่า Inclusive นำหน้านโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP