×

เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ! กกร. คาด GDP ปีนี้โต 2.8-3.3% ระบุ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ส่งผลทั้งบวกและลบ

07.02.2024
  • LOADING...

เอกชนมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัว แต่อ่อนแอจากภาคการผลิต ประเมิน GDP ที่ 2.8-3.3% ชี้แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% จะส่งผลทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อภาวะเศรษฐกิจไทย แม้เสียงสะท้อนเอกชนจะขอให้ปรับลดลงก็ตาม

 

ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อน หลีกเลี่ยงการชะลอตัวรุนแรงได้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ราว 3% ปรับตัวดีกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยตามคาดการณ์ของ IMF และ OECD เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งแม้ดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะมีแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือนมกราคมที่ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญหลายปัจจัย กกร. จึงคง GDP ไว้ที่ 2.8-3.3% ซึ่งยังไม่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนเงินเฟ้อปีนี้คงไว้ที่ 0.7-1.2% 

 

“น่าห่วงว่าภาคการส่งออกของไทยที่แม้ภาพรวมยังขยายตัวได้ แต่มีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญ ผลกระทบจากสงครามที่ขยายวง โดยเฉพาะทะเลแดงที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่ม ล้วนมีผลต่อราคาพลังงาน ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และการแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน”

 

จึงประเมินการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 2-3% ซึ่งยังมีปัจจัยบวกของประเทศตลาดเกิดใหม่ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

 

 

“แม้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ แต่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเห็นจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง เป็นสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ เป็นสัญญาณที่ต้องเฝ้าติดตาม โดยเฉพาะภาคการผลิตศักยภาพลดลง สินค้าไทยหลายรายการเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด” 

 

แบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ส่งผลบวกและลบ

 

ส่วนกรณีนโยบายการเงินที่จะมีการพิจารณาดอกเบี้ยของไทย โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี มองว่าอาจสวนทางกับความต้องการของนักลงทุนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากขาดแรงกระตุ้นจากการลงทุน ซึ่งท่าทีของเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 

 

“เรื่องนี้ที่ประชุมมีความเห็นที่หลากหลาย การกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงส่งผลทั้งแง่บวกและแง่ลบ คิดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีข้อมูลเชิงลึกและมีข้อเสนอแนะที่ดีต่อภาพรวม การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมองถึงอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินในทุกๆ ด้าน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถเลี่ยงได้ โดยฝั่งเอกชนจะพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด” ทวีกล่าว

 

ด้าน กอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แต่ยังอ่อนแอ แม้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ จากเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยในปี 2567 จำนวน 35 ล้านคน

 

ทั้งนี้ กกร. กังวลความหนาแน่นของจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่ อาทิ จังหวัดภูเก็ต จึงขอเสนอให้ภาครัฐช่วยจัดระเบียบ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ยวตามเมืองรองต่างๆ เพื่อลดความหนาแน่น กระจายรายได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งควรกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เกิดการใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น 

 

“รวมถึงการลงทุนภาครัฐ เป็นบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการคูณในระบบเศรษฐกิจและ GDP ของไทย โดยเฉพาะโครงการที่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่จะเป็นการลงทุนจริง เพิ่มการจ้างงาน แต่ควรใช้กฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง เน้นใช้สินค้าภายในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายเดียวเท่านั้น” กอบศักดิ์กล่าว 

 

จี้รัฐแก้หนี้ เร่งเครื่องงบเบิกจ่ายภาครัฐ

 

กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า ขอให้รัฐบาลดูแลมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเล็งเห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้หนี้ให้กับประชาชนได้จริง แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ตามแนวทาง Responsible Lending ที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ

 

“รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานาน ต้องเร่งขจัดความแตกต่างทางรายได้ระหว่างกลุ่มต่างๆ รวมถึงลดขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”

 

นอกจากนี้ ปัญหาความล่าช้าการเบิกจ่ายของงบประมาณรัฐยังส่งผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ภาคเอกชนไทยไม่สามารถแข่งขันได้เต็มศักยภาพ อีกทั้งการอ้างอิงราคาในอดีตไม่สะท้อนต้นทุนจริง เน้นราคาต่ำ การคัดเลือกยังเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน 

 

ดังนั้นระหว่างนี้เอกชนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดจ้างงานก่อสร้างภาครัฐ ด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สร้างมูลค่าเพิ่ม 2.6% ของ GDP และมีสัดส่วนการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน ตลอดจนกระตุ้นการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐ เช่น การใช้ Local Content ภายในประเทศ หรือวัสดุที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Made in Thailand และเครื่องหมายรับรอง Green Product โดยจะมีการรวบรวมรายละเอียดเสนอรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป

 

ภาพ: Karl Hendon / Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X