×

กูรูมองเศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้น หวั่นซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง-เจาะฟองสบู่หนี้

20.06.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

HIGHLIGHTS

  • ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่น่าจะอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาที่ยาวขึ้น ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายต้องชั่งน้ำหนักและตัดสินใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่
  • นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักมองตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง ยังไม่พร้อมรับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
  • หากดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นอาจเป็นการซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง เช่น ครัวเรือน และธุรกิจ SMEs ที่มีภาระหนี้สูงและเจ็บหนักมาจากช่วงโควิด ซึ่งยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูตัวเอง
  • ไทยควรรอให้การฟื้นตัวฝั่งอุปสงค์มีความชัดเจนขึ้น แล้วจึงค่อยปรับขึ้นดอกเบี้ย

ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่จบลงด้วยมติเสียงแตก 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% รวมถึงสัญญาณที่ถูกส่งออกมาจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างชัดเจนว่า จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้ เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้ฝังรากลึก นับเป็นการสะท้อนว่าดอกเบี้ยของไทยกำลังเข้าสู่ ‘ขาขึ้น’ อย่างเต็มตัว 

 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้เปราะบางประกอบกับภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักตั้งคำถามถึงความพร้อมของเศรษฐกิจไทยในการรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา 

 

กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยเวลานี้เกิดจากแรงกดดันในฝั่งอุปทานเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันจากฝั่งอุปสงค์ยังมีไม่มาก เพราะเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่ช่วยดึงให้เงินเฟ้อลดลงมาได้มากนัก ขณะเดียวกันยังอาจซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง เช่น ครัวเรือนที่มีหนี้สูง และธุรกิจ SMEs เจ็บหนักมาจากช่วงโควิดและกำลังฟื้นตัวได้

 

“โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะรอดูการฟื้นตัวของฝั่งอุปสงค์ให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ก่อน จึงค่อยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย เพราะหนี้ครัวเรือนเราก็สูง SMEs เราก็ยังอยู่ระหว่างแก้ไขหนี้กันค่อนข้างมาก หากมีการขึ้นดอกเบี้ยก็เท่ากับไปทำให้เขาเดือดร้อนยิ่งขึ้น ใช้หนี้ยากขึ้น แผนที่จะลงทุนต่างๆ อาจต้องชะลอออกไป ซึ่งจะไม่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย” กิริฎากล่าว

 

กิริฎากล่าวว่า หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาที่ 1.6% และตัวเลขคาดการณ์ในปีนี้ของ กนง. ที่ 3.3% จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดได้ และคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงปีหน้า ซึ่งสะท้อนว่าการฟื้นตัวของไทยยังไม่แข็งแรงพอ และยังไม่เหมาะสำหรับการขึ้นดอกเบี้ย

 

“แม้ว่า กนง. จะปรับประมาณการ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ไม่ได้โตอะไรมากมาย ตัวเลขนักท่องเที่ยวแม้ว่าบางสำนักมองว่าในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคน แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากช่วงก่อนเกิดโควิดอยู่ดี โดยส่วนตัวจึงมองว่า เราไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย รอให้การฟื้นตัวของอุปสงค์แรงขึ้น ชัดเจนขึ้น แล้วค่อยขึ้นก็ได้” กิริฎากล่าว

 

สอดคล้องกับความเห็นของ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่พร้อมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้นจากการที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ GDP ประเทศยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดได้ ดังนั้นหากดอกเบี้ยถูกปรับขึ้น ก็จะสร้างความท้าทายให้กับเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

 

มิติแรกคือ ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การบริโภค และการลงทุนที่อาจชะลอตัวลง มิติต่อมาคือ การปรับลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย และมิติที่สามคือ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและประชาชนบางกลุ่ม

 

“คนที่มีหนี้ซึ่งคิดดอกเบี้ยลอยตัว เช่น ธุรกิจ SMEs จะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นทันที ส่วนคนกู้บ้าน แม้ว่าจำนวนการผ่อนชำระต่องวดจะเท่าเดิม แต่ส่วนที่จะถูกตัดเป็นดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาว กลุ่มที่น่ากังวลคือ SMEs และคนที่รายได้ยังฟื้นตัวจากโควิดไม่เต็มที่ เพราะลำพังเงินเฟ้อก็ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของเขาลดลงอยู่แล้ว การขึ้นดอกเบี้ยก็จะเป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์ระบุว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากแรงกดดันในฝั่งอุปทานและปัจจัยภายนอกเป็นหลัก การขึ้นดอกเบี้ยคงไม่สามารถช่วยให้เงินเฟ้อลดลงได้ เนื่องจากดอกเบี้ยไม่สามารถทำให้ราคาพลังงานและอาหารลดลงได้ แต่สิ่งที่การขึ้นที่ดอกเบี้ยจะช่วยได้คือ การส่งสัญญาณไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลต่อการส่งผ่านเรื่องราคา 

 

“ในกรณีของไทยเราคงไม่ได้หวังให้การขึ้นดอกเบี้ยมาเบรกเงินเฟ้อ แต่เราหวังจะให้ช่วยประคองไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่ Wage-Price Spiral อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าในภาวะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก เราคงไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ถ้าใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคือทำให้บาทแข็งขึ้น เพื่อที่จะนำเข้าสินค้าได้ถูกลง วิธีการที่จะทำให้ค่าเงินแข็งก็คือการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดี” พิพัฒน์กล่าว

 

ด้าน เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากพิจารณาจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่แข็งแรงนัก ก็ต้องถือว่ายังไม่พร้อมสำหรับการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ก็ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะความเสี่ยงเงินเฟ้อที่น่าจะอยู่ในระดับสูงในระยะเวลาที่ยาวขึ้น ถือเป็นโจทย์ยากที่ผู้กำหนดนโยบายต้องชั่งน้ำหนักและตัดสินใจ

 

“พื้นฐานเราอาจยังไม่พร้อมขึ้นดอกเบี้ย แต่ในเมื่อเงินเฟ้อมาแล้วก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าการขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน ถ้าปล่อยให้ราคาขึ้นไปจนคุมไม่อยู่ก็จะยิ่งแย่ แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ยก็จะมีผลกระทบกับภาคธุรกิจและคนที่มีหนี้เช่นกัน” เกวลินกล่าว

 

เกวลินกล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ที่ระดับ 0.25% ในช่วงไตรมาสที่ 3 และน่าจะหยุดรอดูว่าเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดและเศรษฐกิจยังไปต่อได้หรือไม่ เพื่อประเมินสถานการณ์และทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อยังมีทิศทางเร่งตัวขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

เมื่อถามว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยมีความเสี่ยงจะนำไปสู่วิกฤตหนี้หรือไม่ เกวลินยังมองว่าความเสี่ยงยังมีไม่มากนัก เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะเป็นการทยอยปรับขึ้น ไม่ได้ขึ้นเร็วและแรงเหมือนกับสหรัฐฯ ขณะที่ผลกระทบต่อภาคธุรกิจอาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมใหม่สูงขึ้น แต่ธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยมีการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร เพื่อรองรับดอกเบี้ยขาขึ้นไว้ล่วงหน้าแล้ว

 

“ดอกเบี้ยคิดเป็นต้นทุนเพียง 2-5% ของภาคธุรกิจ ซึ่งเมื่อเทียบน้ำหนักกับต้นทุนอื่นๆ เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และขนส่ง ถือว่าน้อยมากๆ ส่วนผลกระทบที่จะเกิดกับผู้กู้ที่เป็นบุคคลทั่วไปก็จะกระทบเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อที่ใช้ดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อบ้าน เพราะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล มีเพดานดอกเบี้ยกำหนดไว้อยู่แล้ว การขึ้นดอกเบี้ยคงไม่ก่อให้เกิดวิกฤตหนี้” เกวลินกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X