×

เศรษฐกิจไทย ‘วิกฤต’ จริงหรือ? จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ และคำนิยามจาก IMF

18.01.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

หาคำตอบว่าเศรษฐกิจไทย ‘วิกฤต’ จริงหรือ? ผ่านคำนิยามของ IMF และมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ หลังจากคำถามดังกล่าวดูเหมือนจะกลายเป็นหนึ่งในคำถามสำคัญชี้ชะตาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลต้องก้าวข้ามให้ได้ เพื่อจะทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

 

ตามข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Working Papers) หัวข้อ ‘การทำความเข้าใจความซับซ้อนของวิกฤตการณ์ทางการเงิน’ (Understanding the Intricacies of Financial Crises: A Deep Dive into Economic Theories and Causes) ได้เน้นย้ำว่า วิกฤตการณ์ทางการเงิน (Financial Crisis) ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดจากปัจจัยเดียว (Singular Event) แต่มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินที่หลากหลายผสานกัน พร้อมทั้งแบ่งประเภทของวิกฤตการเงินออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

 

1. วิกฤตค่าเงิน (Currency Crisis)

คำนิยาม: วิกฤตค่าเงินอาจเกิดจากการโจมตีค่าเงินแบบเก็งกำไรจนส่งผลให้ค่าเงินนั้นๆ เสื่อมค่าอย่างรวดเร็ว หรือเกิดภาวะที่บีบบังคับให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องปกป้องสกุลเงินตนเองด้วยการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมกระแสเงิน

 

ตัวอย่างเช่น: การอ่อนค่าราว 466% ของเงินลีราของตุรกีภายในระยะเวลาราว 5 ปี (ถึงวันที่ 17 มกราคม) ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

 

2. วิกฤตดุลการชำระเงิน (Capital Account Crisis)

คำนิยาม: วิกฤตดุลการชำระเงินอาจหมายถึงการลดลงอย่างมาก (และมักไม่คาดคิด) ของการไหลเข้าของเงินจากต่างประเทศ (Decline in International Capital Inflows)

 

ตัวอย่างเช่น: วิกฤตในศรีลังกาหลังช่วงโควิดที่ทำให้ศรีลังกาขาดแคลนเงินสดจนไม่เพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าจำเป็นและชำระหนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ทำให้กระแสเงินจากต่างประเทศลดลงอย่างมาก รวมไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยเมื่อปี 1997 ก็เป็นหนึ่งในวิกฤตที่แสดงให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพของดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเคยขาดดุลสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในปี 1996 

 

3. วิกฤติการธนาคาร (Banking Crisis)

คำนิยาม: วิกฤตระบบธนาคารจะเกิดขึ้นเมื่อการดำเนินการของระบบธนาคารเกิดความล้มเหลว หรือเกิดเหตุที่บังคับให้รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธนาคารล่ม เช่น การขยายสภาพคล่องและความช่วยเหลือด้านเงินทุนในวงกว้าง

 

ตัวอย่างเช่น: วิกฤตหนี้เสีย (NPL) ธนาคารอิตาลีเมื่อช่วงปี 2017 ที่ครั้งหนึ่งเคยมีสัดส่วนสูงถึง 18% ของหนี้ทั้งหมดในประเทศ ทำให้ภาคธนาคารขาดความเข้มแข็ง 

 

4. วิกฤตหนี้ (Debt Crisis)

คำนิยาม: วิกฤตหนี้เกิดขึ้นเมื่อประเทศไม่สามารถ (หรือไม่ต้องการ) ชำระหนี้ต่างประเทศ และ/หรือชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการผิดนัดชำระหนี้ทางตรง การทำให้ค่าเงินแข็งเกินจริง หรืออื่นๆ

 

ตัวอย่างเช่น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปซึ่งเกิดขึ้นช่วงปี 2009 ในรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศ ได้แก่ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และไซปรัส โดยประเทศเหล่านี้ไม่สามารถใช้หนี้ที่รัฐบาลก่อไว้หรือก่อหนี้ใหม่ชดใช้หนี้เก่าได้  

 

เศรษฐกิจไทยเข้าข่ายวิกฤตหรือไม่ ตามคำนิยาม IMF

 

เมื่อดูตัวอย่างวิกฤตการเงินในหลายประเทศที่ผ่านมาอาจพอเข้าใจได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอาจยังไม่เข้าข่ายวิกฤตตามคำนิยามของ IMF เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้

 

  1. เงินบาทได้รับการดูแลให้มีเสถียรภาพ: โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันมาตลอดว่าดูแลเสถียรภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดย ณ วันที่ 17 มกราคม พบว่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าราว 8.0% (YoY) และราว 12% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการแข็งค่าของดัชนีดอลลาร์สหรัฐ 1.2% และ 7.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

  1. ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเป็นบวก ทุนสำรองแกร่ง: ตามการประมาณการของแบงก์ชาติยังคาดว่าในปี 2023 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะกลับมาเกินดุลที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศเดือนธันวาคมอยู่ที่ 224,483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมหนี้ต่างประเทศระยะสั้นได้หลายเท่า

 

  1. ระบบการเงินมีเสถียรภาพ: โดยในรายงานนโยบายการเงินของ ธปท. (Minutes) ฉบับล่าสุดยืนยันว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แม้ว่าต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อที่อาจถูกกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบาง

 

  1. รัฐบาลไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้: โดย Fitch Ratings ยังคงอันดับเครดิตประเทศไทยไว้ที่ BBB+ ซึ่งเป็นระดับการลงทุน พร้อมคงมุมมองไว้ที่ระดับมีเสถียรภาพ สะท้อนว่าสถาบันจัดอันดับเครดิตนั้นยังเชื่อมั่นความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทย แม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด โดยอยู่ที่ 61.88 % ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2023

 

เศรษฐกิจไทยวิกฤตจริงหรือ? จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์

 

ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังเผชิญกับ 4 กับดักสำคัญ ยังไม่ใช่วิกฤต ได้แก่ กับดักรายได้ปานกลาง กับดักการพึ่งพาจากต่างประเทศ กับดักหนี้สิน และกับดักความเหลื่อมล้ำ

 

พร้อมทั้งระบุว่า กับดักทั้งหมดที่กล่าวมาไม่สามารถเรียงได้ว่ากับดักใดสำคัญที่สุด เนื่องจากทั้งหมดมีความสัมพันธ์กัน หากจะแก้ไขก็ควรแก้ไขไปพร้อมๆ กัน เพื่อความมีเสถียรภาพในระยะยาว

 

“วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมามักมาจากภาคการเงิน ตัวอย่างเช่น วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 หรือวิกฤตฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลุกลามไปในภาคการเงินและส่งปัญหาต่อไปในภาคเศรษฐกิจจริง นี่คือความเข้าใจโดยทั่วไปของวิกฤตเศรษฐกิจที่มักมาจากภาคการเงินที่จะเรียกว่า Financial Crisis แต่ประเทศไทยในปัจจุบัน ภาคการเงินไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ปัญหาที่พบคือการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาต่อเนื่อง” ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าว

 

ทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย: ดิจิทัลวอลเล็ตใช่คำตอบหรือไม่?

 

ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ ยังเตือนว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งมุ่งเน้นไปที่การบริโภคอาจส่งผลดีในระยะสั้นเท่านั้น หวั่นรัฐบาลรักษาผิดจุด ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่มีต้นตอของโรคมาจากโครงสร้างได้

 

“โดยหลักการแล้วการออกนโยบายในรูปแบบการแจกเงินนี้มักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต ตัวอย่างเช่น วิกฤตโควิด แต่อาจพูดได้ว่าวิกฤตเชิงโครงสร้างหรือกับดักรายได้ปานกลางไม่สามารถแก้หรือกระตุ้นได้ด้วยการแจกเงิน

 

“ดิจิทัลวอลเล็ตอาจเป็นการฉีดยาชูกำลังเพื่อให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยชั่วคราว ทั้งๆ ที่อวัยวะภายในของเรานั้นกำลังมีปัญหา

 

“การแก้ไขปัญหาผิดจุดอาจทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ขณะที่ต้นทุนที่ต้องจ่ายคือหนี้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าว

 

ทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์

 

ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ ระบุว่า หนึ่งในทางแก้ที่ชัดเจนคือการเพิ่มการลงทุนในประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผ่านการลงทุนของภาครัฐและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

 

“ประเทศไทยไม่ได้แข็งแรงเหมือนสมัยก่อน จึงจำเป็นจะต้องหาจุดแข็งใหม่ๆ ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นความพยายามของนายกฯ เศรษฐา ที่ได้เชิญชวนบริษัทและนักลงทุนจำนวนมากมาลงทุนในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมและจำเป็นในระยะปานกลางและในระยะยาว

 

“ที่ผ่านมาปัจจัยหนึ่งที่เป็นต้นตอทำให้ไทยมีการลงทุนไม่มากพอคือความไม่แน่นอนและความผันผวนทางการเมือง ซึ่งทำให้นโยบายเศรษฐกิจไทยเกิดความไม่แน่นอนไปด้วย ทำให้องค์กรหรือผู้ประกอบการไม่กล้าจะตัดสินใจลงทุนในระยะยาว” ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าว

 

จุลพันธ์เผยเตรียมคำตอบไว้พร้อมแล้ว

 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคมว่า ได้เตรียมคำตอบสำหรับคำถาม “เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่?” ไว้แล้ว ผ่านตัวชี้วัด (Indicator) หลายตัว เช่น เงินเฟ้อ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และโครงสร้างของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าคำถามดังกล่าวเป็นเรื่องของมุมมองของแต่ละคน (Subjective) ถามคนสองคนก็ได้คำตอบไม่เหมือนกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X