×

แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายนปรับตัวดีขึ้น คาดพฤษภาคมดีต่อเนื่อง เชื่อเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบในปลายปีนี้

31.05.2024
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย แบงก์ชาติ เศรษฐกิจไทย เดือน เมษายน

แบงก์ชาติชี้ เศรษฐกิจไทย ในเดือนเมษายนปรับตัวดีขึ้น มองพฤษภาคมจ่อดีต่อ เชื่ออัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบล่างของเป้าหมายที่ 1-3% ในปลายปีนี้

 

วันนี้ (31 พฤษภาคม) สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2567 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทย ในเดือนเมษายนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ขยายตัว สอดคล้องกับรายรับภาคการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง

 

นอกจากนี้อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงในเดือนก่อน สำหรับการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวอยู่จากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ

 

ส่วนในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจพบว่า ในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวก 0.19%YoY เนื่องจากหมวดอาหารสดตามราคาผักและเนื้อสุกร และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อน

 

ส่วนในระยะต่อไป สักกะภพระบุว่า ธปท. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) จะกลับเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมาย ธปท. ซึ่งอยู่ที่ 1-3%

 

จับตา ‘ดุลบัญชีเดินสะพัด’ พลิกติดลบครั้งแรกรอบ 3 เดือน

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนเมษายนติดลบเล็กน้อยที่ 40 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการพลิกขาดดุลครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือนมกราคม 2567

 

อย่างไรก็ดี สักกะภพมองว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับดังกล่าวนับเป็นระดับที่ ‘ค่อนข้างสมดุล’ เนื่องมาจากดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง

 

เปิดแนวโน้มเศรษฐกิจระยะต่อไป

 

สักกะภพกล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่ายังได้รับแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยในระยะต่อไปต้องติดตาม

 

  1. ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ
  2. การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต
  3. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

จับตาไตรมาส 2 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ หลังตัวเลขต่างๆ เริ่มพลิกบวก

 

สักกะภพกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี ซึ่งขยายตัว 1.5% สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 0.8% และสูงกว่าประมาณการของ ธปท. ที่ 1% ทำให้รู้สึก ‘อุ่นใจ’ ขึ้นมาเล็กน้อย

 

อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยน (Turning Point) เนื่องจากตัวเลขต่างๆ เริ่มกลับมาเป็นบวก ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่าพัฒนาการเชิงบวกเหล่านี้ยั่งยืนและชัดมากแค่ไหน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X