×

KKP Research ประเมิน ศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอย มีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ในระยะข้างหน้า

18.07.2024
  • LOADING...

KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้าลงหลังโควิดไม่ได้เป็นเพียงการโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่อาจเป็นเพราะศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอยลง โดยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ในระยะข้างหน้าจาก 3 ปัจจัยหลัก พร้อมเสนอการปฏิรูปใน 4 ด้าน 

 

วันนี้ (18 กรกฎาคม) KKP Research เปิดเผยบทความที่ระบุว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ด้วย 3 เหตุผลหลัก ได้แก่

 

  1. ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ภายใต้ภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น 
  2. กำลังแรงงานที่ทั้งลดลงและแก่ตัวลง 
  3. ขาดการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต

 

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลงทุกวิกฤต

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเริ่มถูกพูดถึงอีกครั้งในวงกว้าง หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของโรคโควิดยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ จนเริ่มมีคำถามว่า ‘หรือเศรษฐกิจไทยไม่ใช่กำลังโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้ลดต่ำลงไปแล้ว?’

 

หากมองย้อนกลับไปดูเศรษฐกิจไทยในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายจะมีข้อสังเกตแบบนี้ เพราะทุกครั้งที่ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหดตัวรุนแรง แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะลดต่ำลงทุกครั้ง

 

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงจากมากกว่า 7% ในช่วงก่อนหน้ามาเหลือเพียง 5% หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 3% และหลังวิกฤตโควิดในปี 2019 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยได้เพียง 2%

 

 

แรงงาน-ทุน-เทคโนโลยี

 

แล้วอะไรเป็นตัวกำหนดศักยภาพเศรษฐกิจไทยตามหลักการเศรษฐศาสตร์ ปัจจัยที่กำหนดว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศควรจะเติบโตได้เท่าไรแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักตามปัจจัยการผลิต ได้แก่ 

 

  1. จำนวนแรงงาน 
  2. การสะสมทุน
  3. เทคโนโลยี 

 

ที่จะช่วยให้แรงงานและทุนสามารถผลิตได้มากขึ้น หรือเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตนั่นเอง

 

KKP Research ประเมินว่า ‘ศักยภาพ’ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจลดลงมาอยู่ที่เพียงต่ำกว่า 2% หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง

 

โดยปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงฉุดสำคัญคือ ‘แรงงาน’ ที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโต (GDP Potential) ลดลงประมาณ 0.5 จุดต่อปีจนถึงปี 2030 และลดลง 0.8 จุดต่อปีในทศวรรษที่ 2040 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี โดยที่คงสมมติฐานให้การสะสมทุนและผลิตภาพเท่าเดิม

 

ซ้ำร้ายกว่านั้น หากการสะสมทุนหรือผลิตภาพหดตัวลงด้วย (ซึ่ง KKP Research มองว่าจะทยอยลดลงเช่นกัน) จะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยจะต่ำลงไปได้ถึง 1.3% ต่อปีในปลายทศวรรษหน้า

 

 

 

แรงงานหดหายฉุดเศรษฐกิจ

 

ปัจจัยด้านแรงงาน สำหรับประเทศไทยนอกจากจะเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) ซึ่งหมายถึงการที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% แล้ว กำลังแรงงานในวัยทำงาน (15-60 ปี) ก็ลดลงแล้วด้วย จากประมาณการของสหประชาชาติคาดว่าประชากรไทยจะถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 

 

โดยประชากรวัยทำงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2012 และจะหดตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.7% จนลดลงเหลือสัดส่วนเพียง 60% ของประชากรทั้งหมดในปี 2030 จาก 70% ในปี 2012 ขณะที่ประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยปีละ 1.8% ต่อปีจนถึง 2030 ทั้งหมดนี้สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุที่กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2012 เป็น 20% ในปี 2023

 

ประชากรวัยทำงานและวัยเด็กที่ลดลง ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สร้างความท้าทายกับเศรษฐกิจไทยอย่างน้อยใน 2 ด้านหลัก ประเด็นแรก คือ กำลังซื้อในประเทศจะลดลง และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังซื้อสินค้าคงทนอย่างรถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ คาดว่าจะหดตัวลง แต่บริการด้านสุขภาพและสินค้าจำเป็นจะเติบโตมากขึ้น

 

ประเด็นที่สอง คือ นอกจากกำลังแรงงานลดลงแล้ว ผลิตภาพแรงงานก็ลดลงด้วย โดยกำลังแรงงานผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2012 และจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานที่สะท้อนความสามารถในการทำงานของแรงงานไทยก็ชะงักงันหรือเติบโตได้เล็กน้อยมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน

 

 

 

การลงทุนหายไปตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง

 

เมื่อกำลังงานแรงงานกำลังหดตัว การสะสมทุนหรือเทคโนโลยีควรจะเพิ่มขึ้นมาชดเชยความสามารถในการผลิตที่จะหายไป แต่ระดับการลงทุนในเศรษฐกิจไทยกลับหายไปนับตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากที่มีการสะสมทุนเฉลี่ยปีละ 6.6% ต่อปี ลดลงเหลือ 2.1% ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา

 

KKP Research มองว่า ฐานผู้บริโภคที่หดตัวลง การค้าโลกที่ผ่านยุคทองไปแล้ว ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมที่ลดลง และการขาดการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน มีส่วนทำให้การสะสมทุนในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งลดลง ขณะที่แนวโน้มในอนาคต ความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์และห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุนโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จะสร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอีก

 

นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนโดยรวมที่สูงขึ้น คุณภาพของหนี้ที่ลดลง นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในระยะหลัง ทำให้โอกาสที่จะขยายการลงทุนในเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลงไปด้วย

 

 

 

ผลิตภาพอยู่ในช่วงขาลง

 

นอกจากการสะสมทุนเพื่อการผลิตแล้ว อีกทางหนึ่งที่สามารถชดเชยกำลังแรงงานได้คือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้แรงงาน 1 คน หรือทุน 1 หน่วย สามารถผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น หรือคือมี ‘ผลิตภาพ’ หรือ ‘Productivity’ มากขึ้น

 

แม้ว่าผลิตภาพของไทยส่วนหนึ่งจะได้รับผลกระทบจาก ‘วัฏจักรเศรษฐกิจ’ ในระยะสั้น แต่ภาพในระยะยาวจากข้อมูลของ Penn World Table พบว่า ผลิตภาพในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

KKP Research มองว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพของไทยลดลง คือ 

 

  1. การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือผลิตภาพต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม 
  2. คุณภาพของการศึกษาที่นำไปสู่ปัญหาคุณภาพแรงงาน 
  3. การขาดการลงทุน ทั้งจากธุรกิจภายในประเทศและจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 

 

รวมทั้งขาดนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

 

หากไม่มีการลงทุนที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคตและทุนมนุษย์แล้ว คงเป็นไปได้ยากที่ผลิตภาพจะเพิ่มขึ้นจนสามารถชดเชยจำนวนแรงงานหรือทุนที่ลดลงไป

 

 

ปฏิรูป 4 ด้าน ยกระดับ GDP

 

KKP Research เสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง ได้แก่

 

  1. เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง โดยหากไทยจะสามารถกลับมาเนื้อหอมและดึงดูดการลงทุนได้อีกครั้ง การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่จะมาพร้อมกับการลงทุนใหม่ๆ นอกจากนี้การทบทวนนโยบายนำเข้าแรงงานทักษะสูงจะต้องคิดใหม่ เพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานที่ประเทศไทยยังขาด และที่สำคัญคือนโยบายส่งเสริมการแข่งขันและต่อต้านการผูกขาด

 

  1. การเปิดเสรีภาคบริการ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สุด โดยเฉพาะการส่งเสริมและเพิ่มการแข่งขันในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคอื่นๆ ในการทำธุรกิจ

 

  1. เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ภาคการเกษตรนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำที่สุด แต่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมากในแง่ของสัดส่วนแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก

 

  1. ปฏิรูปภาคการคลัง ประเด็นนี้อาจไม่เกี่ยวกับการยกระดับศักยภาพโดยตรง แต่ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศโดยตรง การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ (สัดส่วนรายได้ต่อ GDP อยู่ที่เพียงไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ) และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X