×

เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส EIC หั่น GDP ปี 2563 เหลือ 1.8%

18.02.2020
  • LOADING...

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2562 เติบโต 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YOY) ถือเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 21 ไตรมาส และฉุดให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 GDP อยู่ที่ 2.4% เท่านั้น

 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางมากขึ้น และมีหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าสู่ภาวะ Technical Recession แล้ว เช่น ภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาครัฐ ทั้งในส่วนของการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคสินค้ายานยนต์ ขณะที่ด้านการผลิต สาขาที่เข้าสู่ Technical Recession แล้วคือการก่อสร้างและการเกษตร โดยมีสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ได้แก่

 

  • มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงหดตัวต่อเนื่อง โดยหดตัวที่ 5.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในทุกหมวดสินค้าสำคัญ เช่น สินค้าเกษตรอย่าง ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เช่น น้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ขณะเดียวกันการส่งออกที่ลดลงทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงหดตัวที่ 8.6%YOY
  • ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐหดตัว สำหรับการบริโภคภาครัฐหดตัว 0.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส สาเหตุมาจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง 6.9%YOY ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวที่ 5.1%YOY เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามด้วยการก่อสร้างหดตัว 6.1%YOY และเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัว 1.9%YOY 
  • ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ 4.1%YOY จากสินค้าคงทนเป็นสำคัญ โดยการบริโภคสินค้าคงทนพลิกหดตัว -4.1%YOY จากการหดตัวของยอดขายรถยนต์ ซึ่งการบริโภคสินค้าคงทนไตรมาสก่อนหน้าที่ยังเติบโต 1.6%YOY อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสนับสนุนให้การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และบริการ ให้ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 2.7%YOY, 2.6%YOY, และ 8.5%YOY ตามลำดับ
  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ 2.6%YOY เร่งขึ้น จากการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม อาคารเพื่อการบริการและการขนส่ง และอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดยานยนต์มีการชะลอตัวตามปริมาณการจดทะเทียนรถใหม่ในประเทศ ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ลดลง โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการ LTV

 

ในด้านการผลิต การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการหดตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.3%YOY ขณะที่การก่อสร้างหดตัว 1.9%YOY และภาคเกษตรพลิกหดตัว 1.6%YOY ขณะที่กลุ่มได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น ชิมช้อปใช้ ฯลฯ ได้แก่ โรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.8%YOY และสาขาการขายส่ง ขายปลีก ขยายตัวที่ 5.2%YOY

EIC ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 จะชะลอลงเพราะได้รับผลกระทบ COVID-19 และความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ทั้งนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 EIC คาดว่าโรคระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และภาวะการค้าโลกที่จะชะลอลงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว รวมถึงปัญหาการผลิตและขนส่งสินค้าจากจีนที่หยุดชะงัก ขณะเดียวกัน COVID-19 อาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย เนื่องจากมีความตื่นกลัวโรคระบาด

การประเมินของ EIC ในกรณีฐาน คาดว่าสถานการณ์ COVID-19 จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งผลกระทบจะมีมากสุดในช่วงไตรมาสแรก จากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการผลิตและการขนส่งสินค้าของจีน

นอกจากนี้จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ (ล่าสุดร่าง พ.ร.บ. งบประมาณเพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563) ส่งผลต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรก จึงทำให้คาดว่า GDP ไทยไตรมาสแรกจะชะลอลงมากสุด ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะถัดไป

ทั้งนี้ปี 2563 EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีเหลือ 1.8% จากเดิมคาดที่ 2.1% และมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 2563 ซึ่งจะต้องติดตามลักษณะและขนาดของมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้คาดว่าปี 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ EIC มองว่ายังมีโอกาสสูงขึ้นมาอยู่ที่ 40% ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง

EIC ปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 มาอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมที่ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลก

สำหรับในระยะสั้น (2 ไตรมาสแรกของปี 2563) EIC มองว่าเงินบาทจะยังเคลื่อนไหวผันผวนและยังคงอยู่ในระดับอ่อนค่าในกรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่อไป ซึ่งเป็นผลจาก 

  1. ผลกระทบของ COVID-19 ที่จะรุนแรงที่สุดในช่วงสองไตรมาสแรก 
  2. ปัจจัยเชิงฤดูกาลที่พบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับลดลงมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising