×

เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทาย! แม้ กกร. คงเป้า GDP ทั้งปีโต 3-3.5% ห่วงยิ่งจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ายิ่งกระทบเศรษฐกิจ

02.08.2023
  • LOADING...
ผยง ศรีวณิช

กกร. คงเป้า GDP ปี 2566 เติบโต 3-3.5% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกซึมยาว ห่วงไทยติดกับดักภัยแล้ง อาจสร้างความเสียหายกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท และยิ่งจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ยิ่งกระทบเศรษฐกิจ ยืนยันพร้อมร่วมทำงานทุกพรรค มองทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยมีจุดแข็ง เชื่อมั่นประสบการณ์มากว่า 20 ปี 

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยช่วงที่เหลือของปียังต้องเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงความกังวลอัตราเงินเฟ้อ

 

ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพียง 3% สำหรับปีนี้ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มแผ่วลงสะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 6.3% ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 7.3% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เป็นผลมากนัก ดังนั้น ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายสูง

 

ผยงกล่าวอีกว่า แม้ กกร. คงเป้า GDP ปี 2566 เติบโต 3-3.5% แต่น่าห่วงว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีความท้าทายสูง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวเป็นไปตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวของบางจังหวัดท่องเที่ยวยังช้า

 

ขณะที่แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้น จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยต่อคนยังอยู่ต่ำกว่าปี 2562 เนื่องจากภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่จะถดถอยลงอีก ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลงไปอีกด้วย

 

“เนื่องจากความกังวลเรื่องความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมืองที่จะกระทบต่อการจัดทำงบประมาณภาครัฐ การชะลอตัวของการส่งออก ทำให้ที่ประชุม กกร. มีความเป็นห่วง จึงขอให้เร่งรัดจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็ว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก” ผยงกล่าว

 

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงรอบ 15 ปี

 

ผยงกล่าวถึงผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในประเด็นหนี้ครัวเรือนไทยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยว่า ภาระหนี้สินที่แบกรับโดยเฉลี่ยในขณะนี้อยู่ที่ครอบครัวละ 5.59 แสนบาท ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี และจำนวนถึง 54% มีหนี้สูงกว่ารายได้ และยังพบอีกว่า เป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 19.8% ของหนี้ทั้งหมด

 

ดังนั้นที่ประชุม กกร. จึงมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามอีกต่อไป รัฐบาลควรผลักดันแก้ไขอย่างจริงจัง รวมไปถึงนำข้อมูลหนี้สหกรณ์และการประมาณการหนี้นอกระบบที่เชื่อถือได้ รวบรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่มาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง ควรมีมาตรการที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องรายได้ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาโดยองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ

 

จี้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาค่าครองชีพ 

 

ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาคเอกชนก็มีความท้าทายทั้งด้านรายได้และเรื่องต้นทุน ดังนั้น ที่ประชุม กกร. จึงเสนอให้พิจารณาหาแนวทางการแก้ปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนในการดำรงชีพในภาคประชาชน ที่สะท้อนมาจากราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น ราคาพลังงานที่ยังผันผวน กกร. จึงเสนอให้ภาครัฐดูแลต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต เพราะอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก

 

ประกอบกับภาวะภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสมช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2566 ต่ำกว่าปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลางมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% โดยประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 53,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบอีกมากในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567

 

มั่นใจพรรคทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย

 

ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนติดตามและรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีทิศทางอย่างไร โดยคาดหวังว่าน่าจะจบ และเห็นรัฐบาลชุดใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หรือคาดหวังว่าจะได้เห็นเร็วสุดในวันศุกร์นี้ 4 สิงหาคม 2566

 

โดยหากมีรัฐบาลใหม่จะยิ่งทำให้แผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว แต่หากยิ่งยืดเยื้อแม้จะดูว่าท่องเที่ยวดี แต่จะเป็นการท่องเที่ยวแบบใช้จ่ายเงินน้อยลงเพราะไม่มั่นใจในเรื่องการเมือง 

 

“เวลานี้ภาคการส่งออกของไทยก็ติดลบมาถึง 9 เดือนแล้ว หากการจัดตั้งรัฐบาลช้าจะยิ่งทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในหลายๆ ด้านจะกระทบไปด้วย และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหน ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าพร้อมกันอยู่แล้ว” 

 

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาล มองว่าการถอยคนละครึ่งก้าวน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว แม้ว่าอาจเห็นการชุมนุม ต้องยอมรับว่าทุกปัญหาไม่สามารถตอบสนองทุกคนได้หมด สังคมมีความคิดเห็นแตกต่าง แต่ท้ายที่สุดทุกคนต้องมองไปข้างหน้าถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากที่สุด

 

“สำหรับมุมมองนโยบายพรรคเพื่อไทย ผมเชื่อมั่นในฝีมือพรรคเพื่อไทย ทั้งโจทย์เศรษฐกิจระดับโลก โจทย์ในประเทศ หนี้ครัวเรือน โครงสร้างหนี้สินที่ยิ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

 

นอกจากนี้ หากดูจากทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เพื่อไทยมีจุดแข็งเรื่องของประสบการณ์ทำงานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายกระจายรายได้ และการขับเคลื่อนที่ถือว่าก้าวหน้า ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจถือว่าเพื่อไทยมีจุดขายเรื่องการทำงานมากว่า 20 ปี เพราะฉะนั้นเอกชนมั่นใจในทีมเศรษฐกิจ เพียงแต่การขับเคลื่อนโครงสร้างของกระทรวงต่างๆ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องลงไปดู มีส่วนไหนอย่างไรบ้าง เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X