เศรษฐกิจไทย เคยโตในอัตรา 7.7% ต่อปีเป็นเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ ใกล้เคียงกับเวียดนามเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ล่าสุด World Bank ได้ประเมินว่า อัตราการเติบโตตามศักยภาพ (Potential GDP Growth) ระหว่างปี 2023-2030 ของไทย เฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.7% เท่านั้น ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า พร้อมแนะแนวทางสำหรับเศรษฐกิจไทยต้องทำอย่างไรถึงจะกลับไปสู่เส้นทางการเติบโตเดิมได้
วันที่ 25 มีนาคม ธนาคารโลก (World Bank) ได้เปิดตัวรายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ฉบับปี 2024 (Systemic Country Diagnostic Update: SCD Update) สำหรับประเทศไทย ภายในธีม ‘ยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ: ก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองของคนทุกกลุ่ม’ (Shifting Gears: Toward Sustainable Growth and Inclusive Prosperity)
โดยในรายงานระบุว่า เศรษฐกิจไทยเคยโตในอัตรา 7.7% ต่อปีเป็นเวลาเกือบ 4 ทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 1997 ขณะที่รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 4.2% ต่อปีโดยเฉลี่ยในปี 2000-2013
ขณะที่การส่งออกขยายตัวในอัตรา 15% ต่อปีตั้งแต่ปี 1986-1996 และในช่วงเวลาเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนครองสัดส่วนมากกว่า 30% ของ GDP โดยการเติบโตที่สูงดังนี้ช่วยลดความยากจนจากระดับ 67% ในปี 1986 ลงมาเหลือ 10.5% ได้ในปี 2014
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอดีตคล้ายคลึงกับเวียดนามในปัจจุบัน หรือกล่าวได้ว่าเวียดนามกำลังเข้าอยู่หรือเข้าสู่ Development Stage ที่ไทยเคยผ่านมาก่อน
โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (หรือตั้งแต่ปี 2013-2023) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ที่ราว 6% แม้จะเจอกับการระบาดของโรคโควิดในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม
Potential GDP Growth ไทยจ่อชะลอตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังๆ กลับชะลอตัวลง และไทยยังสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ครั้งหนึ่งเคยมีเหนือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย
โดยตามข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ชะลอตัวลงอย่างมากเหลือ 3.3% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2005-2015) และด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยคาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 20 ปี ถึงจะเลื่อนสถานะสู่ประเทศรายได้สูง (High-income Status) ได้
นอกจากนี้ ในรายงานของ World Bank ประเมินอีกว่า อัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทย (Potential GDP Growth) ระหว่างปี 2023-2030 เฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.7% เท่านั้น ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า
ทำอย่างไรให้ GDP ไทยกลับมาโตแรงเหมือนเดิม
รายงานของ World Bank ยังระบุมาตรการสำคัญสำหรับประเทศไทยในการกลับมาสู่เส้นทางการเติบโตเดิม ได้แก่
- สร้างงานที่มากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรีและการยกเลิกกฎระเบียบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ประชากรกลุ่ม 40% ล่าง โดยปรับปรุงการศึกษาและทักษะด้านแรงงาน ส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร และสร้างระบบการป้องกันที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น
- ทำให้การเติบโตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานสะอาด
- การเสริมสร้างขีดความสามารถทางสถาบันของภาครัฐ เพื่อมุ่งเน้นการปฏิรูป
Fabrizio Zarcone ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าการเติบโตของประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอยมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการปฏิรูปตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ (SCD Update) จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตแบบรอบด้านได้อย่างยั่งยืน การปฏิรูปดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อการผลักดันประเทศไทยให้ขยับสถานะขึ้นเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ด้วยคุณลักษณะของเศรษฐกิจที่มีความเท่าเทียมทางสังคมมากขึ้น ยั่งยืนยิ่งขึ้น และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
รายงานฉบับนี้ยังมุ่งเน้นที่การปรับปรุง 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การเสริมสร้างความมั่นคงด้านทุนมนุษย์
- การสร้างสรรค์เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน
- การปลดล็อกการเติบโตในเมืองรอง
- การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันการเงินและการคลังของรัฐ
“การพัฒนาทั้ง 5 ประเด็นที่สำคัญจะต้องบูรณาการร่วมกับการพัฒนาทุนมนุษย์และการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรม การเพิ่มผลิตภาพและการพัฒนาผู้ประกอบการ การดึงดูดการลงทุน การพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่อง จะเป็นการปลดล็อกศักยภาพในการเติบโตและการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน” Ekaterine Vashakmadze นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและหัวหน้าคณะผู้เขียนรายงานกล่าว
อ้างอิง: