จากการแถลงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงในระดับ 2-3% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงกว่า 2% เช่นกัน โดยดัชนี SET ลดลงไปต่ำสุดที่ 1,628.50 จุด ลดลง 43.22 จุด ในช่วงเช้า ก่อนที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยกลับมาปิดที่ 1,637.93 จุด ต่ำสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า เรื่องของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในส่วนของรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากดูจากข้อมูลในอดีต การเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานลงเร็วและแรง แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสจะฟื้นตัวได้เร็วเช่นกัน
“จากสถิติที่สถาบันต่างชาติจัดทำไว้ ช่วง 80 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเกือบ 30 ครั้ง ค่าเฉลี่ยของหุ้นสหรัฐฯ จะร่วงลงประมาณ 8% ภายในเวลา 3 สัปดาห์ นับจากวันที่เกิดเหตุการณ์ไปจนถึงจุดต่ำสุด ก่อนที่จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์เช่นกันในการฟื้นกลับมาอยู่ในจุดเดิม”
สำหรับบางเหตุการณ์ก็อาจจะรุนแรงและใช้เวลานานกว่านี้ ส่วนบางเหตุการณ์ก็จะรุนแรงน้อยกว่าและใช้เวลาสั้นกว่า
ขณะที่เหตุการณ์ในครั้งนี้ ไพบูลย์มองว่า มีโอกาสที่รัสเซียจะเข้าสู่การเจรจามากขึ้น เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะยืดเยื้อและสูญเสียมากกว่าที่ประเมินกันไว้ ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากทั่วโลกที่น่าจะรุนแรงกว่าที่คาด
“ก่อนหน้านี้มองว่าหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสจะไปแตะ 1,800 จุด ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนมุมมอง แม้จะมีเรื่องของรัสเซีย-ยูเครน แต่ก็อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าในระยะกลางถึงยาวหุ้นไทยจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้”
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ดัชนีหุ้นกลับมา Outperform อีกครั้ง หลังจากที่ Underperform ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากวิกฤตโควิด แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือเรื่องของราคาพลังงานว่าจะสูงไปแบบไม่มีเพดานหรือไม่
“ส่วนตัวเชื่อว่า OPEC ยังมีกำลังการผลิตเหลือ ขณะที่ Shale oil ในสหรัฐฯ ก็เริ่มกลับมาผลิตได้ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ในระยะกลาง หุ้นไทยน่าจะกลับมาได้ แต่จะลงไปถึงตรงไหนอาจจะบอกยาก แต่ก็เชื่อว่ายังมี Upside อยู่ไปถึงปลายปี และ บจ.ไทยน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก ส่วนทองคำยังมองเป็นแค่การปรับขึ้นระยะสั้น เพราะดอกเบี้ยขาขึ้นจะกดดันในอนาคต ขณะที่ Fund Flow อาจจะไหลออกบ้างจากความกังวล แต่สุดท้ายจะไหลกลับมาอีกครั้ง”
ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนมีนาคม ซึ่งสำรวจเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่นักลงทุนยังไม่ได้กังวลมากนักต่อสถานการณ์รัสเซียและยูเครน ณ สิ้นเดือนก่อน แม้จะเริ่มมีการบุกเข้าไปแล้ว แต่สถานการณ์ตอนนี้ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
โดยนักลงทุนต่างชาติและบริษัทหลักทรัพย์เป็น 2 กลุ่มนักลงทุนที่ยังมีมุมมอง Bullish ส่วนรายย่อยและสถาบันในประเทศมองเป็นกลาง
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญคือ เงินทุนที่ไหลเข้าตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา หากไม่เกิดเหตุการณ์รัสเซียและยูเครน มีโอกาสที่เงินลงทุนจะไหลเข้าทำสถิติใหม่ได้ เพราะไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ถูกมองเป็น Safe Haven ในระหว่างที่ต่างประเทศขึ้นดอกเบี้ยและเผชิญเงินเฟ้อสูงกว่า
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนแต่ละกลุ่มชื่นชอบเหมือนกันคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ขณะที่กลุ่มหุ้นที่นักลงทุนไม่ชอบ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ อิเล็กทรอนิกส์ ประกัน และแฟชั่น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP