×

เศรษฐกิจไทย พร้อมหรือไม่ หากใช้ยาแรงแก้ปัญหาเงินเฟ้อ?

25.07.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ

“By the time I became chairman and there was more of a feeling of urgency, there was a willingness to accept more forceful measures to try to deal with the inflation”

 

Paul Adolph Volcker Jr.

Chair of the Federal Reserve (1979-1987)

 

ในเดือนมีนาคม 1980 Paul Volcker ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ เผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงิน เมื่อราคาพลังงานผลักอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ในระดับสูงถึง 14.8% ในขณะที่อัตราการว่างงานสูงถึง 7.4% Volcker ตัดสินใจควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วย ‘ยาแรง’ โดยปรับลดปริมาณเงินลงจนกระทั่ง Prime Lending Rate ปรับขึ้นไปสูงถึง 21% ยาแรงช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลงได้สำเร็จ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่รุนแรง นั่นคือ วิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นเวลานาน 2 ปี อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงตามวิกฤต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


กลับมาที่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2022 แตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ 7.7% และน่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งตามราคาพลังงานและอาหาร ภาวะ ‘ของแพง’ เช่นนี้ไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ หลังผ่านการระบาดของโรคโควิด โดยเฉพาะการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ยังตกอยู่ในภาวะ ‘ค่าแรงถูก’ นั่นคือ ยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนปี 2020

 

เศรษฐกิจไทยในภาวะ ‘ของแพง ค่าแรงถูก’ เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ดำเนินนโยบายการเงินของไทย เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้น ผลข้างเคียงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะรุนแรงเพียงใด? เศรษฐกิจไทยควรรับ ‘ยาแรง’ เหมือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 1980-1982 หรือไม่?

 

บทความฉบับนี้ ผมจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ และกรอบวิธีคิดในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าจะเป็นไปในรูปแบบใด และจะส่งผลอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจไทย

 

ปัจจัยแวดล้อมภายนอกก่อความผันผวนทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่แตกต่างกัน

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริโภค การผลิต และการลงทุน และมีนัยต่อความกินดีอยู่ดีของคนในระบบเศรษฐกิจ เราสามารถแบ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 มิติ คือ เสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพราคา ระบบเศรษฐกิจใดที่มีเสถียรภาพครบทั้ง 2 มิติ สะท้อนว่าคนในระบบเศรษฐกิจมีกระแสรายได้และรายจ่ายที่เสถียรและสมดุล ซึ่งเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความกินดีอยู่ดี

 

ในระยะสั้น ระบบเศรษฐกิจมี ‘ปัจจัยแวดล้อมภายนอก’ หลายประการที่ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวผันผวน เศรษฐศาสตร์เรียกปัจจัยแวดล้อมนี้ว่า ‘Shock’ และจำแนก Shock ออกเป็น

 

  1. Demand Shock คือ ปัจจัยแวดล้อมจากฝั่งความต้องการซื้อสินค้าและบริการ เช่นวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้คนมีรายได้น้อยลง จึงซื้อสินค้าและบริการน้อยลง

 

  1. Supply Shock คือ ปัจจัยแวดล้อมจากฝั่งความต้องการขาย ที่มักได้รับอิทธิพลจากข้อจำกัดในการผลิตสินค้าและบริการ รวมทั้งต้นทุนในการผลิต ตัวอย่างใกล้ตัวเช่น ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตาม หรือเช่น อุทกภัยส่งผลให้มีสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดน้อยลง เป็นต้น

 

Demand Shock และ Supply Shock ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อใน ‘รูปแบบ’ ที่แตกต่างกัน โดย Positive Demand Shock เช่น คนมีรายได้เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาและปริมาณสินค้าที่ซื้อขายปรับสูงขึ้นพร้อมกัน ในทางตรงกันข้าม Adverse Supply Shock เช่น ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าปรับสูงขึ้นตาม ผู้คนจึงมีกำลังซื้อน้อยลง

 

เศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ

 

นอกจาก Shock ทั้งสองประเภท อัตราเงินเฟ้อยังอาจผันผวนเพิ่มขึ้นจาก ‘การคาดการณ์เงินเฟ้อ’ ของคนในระบบเศรษฐกิจ เช่น หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ประกอบการอาจคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวไปต่อ จึงปรับราคาสินค้าขึ้นตาม ขณะที่ลูกจ้างอาจต่อรองขอค่าจ้างที่สูงขึ้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยิ่งปรับสูงขึ้น

 

3 สาเหตุ 1 เครื่องมือแก้ไข – ความท้าทายของนโยบายการเงินไทยในภาวะ ‘ของแพง ค่าแรงถูก’

นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ สำหรับไทยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ นโยบายการเงินในระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่รวมถึงไทยจะให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพราคาเป็นหลัก

 

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อภาระทางการเงินและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลต่อไปยังความต้องการบริโภคและการลงทุน เช่น หากมี Positive Demand Shock ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วเกินไปจนอัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้น ธนาคารกลางจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและในตลาดการเงินปรับสูงขึ้นตาม และดูดซับสภาพคล่องจากครัวเรือนและธุรกิจ ในที่สุดการใช้จ่ายและการลงทุนจึงชะลอลง กลับสู่ดุลยภาพที่เหมาะสม 

 

นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยยังมีผลทางอ้อมอีกอย่างน้อย 2 ช่องทาง คือ

 

  1. ช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน โดยอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่ปรับสูงขึ้น จะจูงใจให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดการเงินไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า

 

  1. ช่องทางการคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยการที่ผู้ดำเนินนโยบายฯ ยึดมั่นบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อ จะช่วยยึดโยงการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้ผันผวนไปตาม Shock

 

จากกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินจะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีอิทธิพลต่อ Demand Shock และการคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นหลัก สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อตอบสนองต่อ Supply Shock จะมีผลเพียงเล็กน้อย เช่น หากต้นทุนราคาน้ำมันที่นำเข้ามาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่คิดเป็นเงินบาทถูกลง และจะช่วยยึดโยงการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้ปรับสูงขึ้น อาจกล่าวได้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียง ‘1 เครื่องมือ’ ที่ตอบสนองต่อสาเหตุที่สร้างความผันผวนต่อเสถียรภาพทางราคาได้เพียง ‘2 จาก 3 สาเหตุ’ เท่านั้น

 

ข้อจำกัดดังกล่าวสร้างความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินในภาวะที่ Supply Shock ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า ‘Stagflation’ หรือแปลเป็นภาษาง่ายๆ ว่า ‘ภาวะของแพง ค่าแรงถูก’ หนึ่งในตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 1980-1982 ที่กล่าวถึงไว้ข้างต้น

 

ในขณะที่การใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองต่อ Supply Shock จะมี ‘ผลข้างเคียง’ โดยหากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเพราะราคาพลังงาน การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจะชะลอความต้องการใช้จ่ายลงทุน ส่งผลซ้ำเติมให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งหมายความว่า เรากำลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และกำลังสร้างปัญหาใหม่ให้กับฝั่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาวะของแพง ค่าแรงถูก

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็กำลังเผชิญความท้าทายจากภาวะของแพง ค่าแรงถูกเช่นกัน โดยแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่การฟื้นตัวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น สังเกตได้จากรายได้ครัวเรือนที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ ในขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินที่มีสะสมอยู่เดิม ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอาจชะลอการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า

 

ปัญหาของแพง ค่าแรงถูก จะทวีความรุนแรงในกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ซึ่งมีจำนวนมากถึง 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 31.8% ของครัวเรือนไทย ครัวเรือนกลุ่มนี้มีรายได้น้อย มีรายจ่ายจำเป็นในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งยังมีภาระการจ่ายหนี้ (Debt Service Ratio) สูงถึงราว 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน

 

การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในภาวะปัจจุบัน

​แม้สถานการณ์ปัจจุบัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็น ‘ทิศทาง’ ที่เหมาะสม สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ช่วยยึดโยงการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้ผันผวนไปตามราคาพลังงาน แต่ประสบการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 1980-1982 บอกเราว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากในภาวะของแพง ค่าแรงถูก มี ‘ผลข้างเคียงที่รุนแรง’ ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และสภาพคล่องที่ลดลงจะกดดันฐานะการเงินและกำลังซื้อของครัวเรือนไทยที่เปราะบางจากปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ดังนั้น เศรษฐกิจไทยอาจไม่พร้อมรับยาแรงเหมือนกับกรณีสหรัฐฯ

 

แล้วการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรจะมี ‘ขนาดและความเร็ว’ ในระดับใด จึงจะเหมาะสม?

​SCB EIC ศึกษาเปรียบเทียบผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดและความเร็วที่แตกต่างกันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และฐานะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์และข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ การศึกษาเปรียบเทียบ ‘การทยอยปรับขึ้น’ (0.25% ทุกไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 เป็นต้นไป) กับ ‘การเร่งปรับขึ้น’ (0.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 แล้วปรับขึ้นทีละ 0.25% นับจากไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป)

 

​ผลการศึกษาพบว่า ‘การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย’ จะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน

ในแง่ของผลบวก ผลการศึกษาพบว่าการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงแรกไม่ได้ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลงได้มากกว่าการทยอยปรับอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อเทียบกับการคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี การเร่งปรับขึ้นจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลงประมาณ 0.1% ณ สิ้นปี 2022 และลดลงประมาณ 0.33% ณ สิ้นปี 2023 ขณะที่การทยอยปรับจะช่วยให้อัตราเฟ้อลดลง 0.05% ณ สิ้นปี 2022 และ 0.19% ณ สิ้นปี 2023 นอกจากนี้ ผลต่อการยึดโยงคาดการณ์เงินเฟ้อ การศึกษาพบว่าทั้งการทยอยและเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล้วนมีผลต่อการลดคาดการณ์เงินเฟ้อที่ใกล้เคียงกัน โดย ณ สิ้นปี 2023 กรณีทยอยปรับสามารถลดการคาดการณ์เงินเฟ้อลงได้ 0.07% ขณะที่กรณีเร่งปรับลดได้ 0.09% จากกรณีฐาน ดังนั้น ผลบวกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงไม่แตกต่างกันมาก

 

เศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ตาม การเร่งปรับกลับมีผลลบข้างเคียงรุนแรงกว่ามาก โดยในภาพรวม เศรษฐกิจไทยจะสูญเสีย GDP สะสมไปมากกว่าการทยอยปรับอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากเริ่มนับจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 เศรษฐกิจไทยในกรณีเร่งปรับจะสูญเสีย GDP สะสมมากกว่ากรณีทยอยปรับ 0.34% ณ สิ้นปี 2022 และมากกว่าถึง 1.64% ณ สิ้นปี 2023

 

เศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ แม้การเร่งปรับเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลง แต่การศึกษากลับพบว่าการเร่งปรับกลับฉุดให้รายได้ลดลงแรงกว่า และเพิ่มภาระการชำระหนี้ขึ้นมาแทน โดยการเร่งปรับจะส่งผลให้รายได้และรายจ่ายของครัวเรือนลดลง 0.91% และ 0.21% ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกรณีทยอยปรับที่ส่งผลให้รายได้ลดลงเพียง 0.57% เปรียบเทียบกับรายจ่ายที่ลดลง 0.13%

 

ผลกระทบจากการเร่งปรับจะยิ่งรุนแรงขึ้นในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีหนี้สูง หรือมีสมาชิกครัวเรือนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลข้างเคียงอย่างมากจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นั่นคือภาคธุรกิจที่มีภาระดอกเบี้ยสูงเป็นทุนเดิม เช่น ธุรกิจที่พักแรม และธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ

 

สำหรับนัยต่อตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจช่วยลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับประเทศเศรษฐกิจหลัก และช่วยลดกระแสเงินทุนไหลออกที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ไทยมีหนี้ต่างประเทศที่คิดเป็นเงินสกุลต่างประเทศเพียงประมาณ 11.8% ของ Nominal GDP ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีความเสี่ยงต่อเงินทุนไหลออกที่รุนแรงอยู่จำกัด ในขณะเดียวกัน ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 44.4% ของ GDP ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีภูมิคุ้มกันต่อกระแสเงินทุนไหลออกพอสมควร

 

ในทางตรงกันข้าม หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดหรือชะลอลงอีกครั้ง พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ด้อยลงอาจส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกได้เช่นกัน และจะส่งผลลบมากกว่ากระแสเงินทุนไหลออกที่มาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เพราะนั่นจะเป็นการไหลออกจาก ‘สุขภาพทางเศรษฐกิจจริงที่ทรุดโทรมลง’

 

เพิ่มประสิทธิผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยการแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินมีเครื่องมือจำกัด ประสิทธิผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสามารถส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านนโยบายการเงินไทยยังมีข้อจำกัดในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจจริง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและความเสี่ยงที่สูงขึ้น ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารจะส่งผลให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น

 

ดังนั้น การเพิ่มการส่งผ่านทางสภาพคล่องที่ตรงจุดจึงสามารถทำได้โดยการลดความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารในตลาดสินเชื่อ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังการสร้างระบบการเงินที่สมบูรณ์ขึ้น โดยการเพิ่มผู้ให้บริการทางการเงินที่ยอมรับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่หลากหลาย เพื่อรองรับผู้ใช้บริการครบทุกระดับความเสี่ยง และการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจะช่วยให้ระบบการเงินสามารถจัดสรรสภาพคล่องไปสนับสนุนภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้มากขึ้น โดยไม่สร้างความเสี่ยงส่วนเกินเพิ่มขึ้น

 

ระบบเศรษฐกิจไทยต้องการกล่องเครื่องมือเชิงนโยบายการเงินที่สมบูรณ์ขึ้น

ข้อจำกัด ‘3 สาเหตุ 1 เครื่องมือแก้ไข’ ยังสะท้อนอีกด้วยว่าระบบเศรษฐกิจไทยต้องการชุดเครื่องมือเชิงนโยบายการเงินที่ครบสมบูรณ์ขึ้น เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและก่อตัวขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังพัฒนากรอบแนวคิด Integrated Policy Framework (IPF) ในการออกแบบและผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ และพิจารณาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของเครื่องมือแต่ละชิ้นอย่างรอบคอบ

 

ในกรณีของไทย บทความเรื่อง ‘นโยบายการเงินแบบบูรณาการ: รังสรรค์พลังจากการผสานเครื่องมือ’ ชี้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทยสามารถผสมเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายกับเครื่องมือเชิงนโยบาย เช่น มาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนสภาพคล่อง นโยบายเสถียรภาพระบบการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้จริง

 

ในทางปฏิบัติ ผู้ดำเนินนโยบายการเงินไทยได้เริ่มนำกรอบแนวคิด IPF มาใช้ในการประสานเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายกับมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง เพื่อรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากผลของการระบาดของโรคโควิด นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญสู่การสร้างกล่องเครื่องมือเชิงนโยบายที่ครบสมบูรณ์ขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ การผสมผสานเครื่องมือที่มีอยู่เดิม จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ ‘การออกแบบเครื่องมือใหม่’ ให้สอดรับกับ ‘บริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป’ นอกจากนี้ การสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียงของชุดเครื่องมือได้อีกด้วย

 

นอกจากชุดเครื่องมือหลักแล้ว การสื่อสารก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่สามารถยึดโยงการคาดการณ์ของสาธารณชนถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายในอนาคต ช่องทางการสื่อสารหลัก คือ เอกสารแถลงข่าวผลการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ตลอดจนการเผยแพร่ผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจ

 

ปัจจุบันผู้ดำเนินนโยบายการเงินไทยให้ความสำคัญกับการสื่อสารอย่างโปร่งใสและเข้าถึงง่าย แต่การสื่อสารนโยบายการเงินของไทยยังมีศักยภาพที่จะยึดโยงการคาดการณ์เศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

 

  1. การสื่อสารถึงข้อสมมติสำคัญที่มีผลต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ ตลอดจนมุมมองของคณะกรรมการต่อข้อสมมติในการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้สาธารณชนทราบว่าปัจจัยใดมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายและมีอิทธิพลอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถคาดการณ์ทิศทางการดำเนินนโยบายจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงได้ดีขึ้น

 

  1. การสื่อสารผ่านกรรมการแต่ละคนอย่างมีกลยุทธ์ โดยแต่ละท่านอาจมีโอกาสแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันต่อสาธารณชน จนเกิดพิสัยของมุมมองต่อการดำเนินนโยบาย ผู้ดำเนินนโยบายสามารถปรับกลยุทธ์โดยวางลำดับและปรับข้อความที่กรรมการแต่ละท่านสื่อสาร เพื่อปรับพิสัยของมุมมอง ซึ่งจะช่วยปรับการคาดการณ์ของสาธารณชนได้ราบรื่นขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

เปลี่ยนตามภูมิทัศน์ ปรับตามบริบท

“Central banks are facing especially testing times. It is precisely in periods like this that probing questions about analytical paradigms need to be asked and convictions re-examined. Central bank reviews of the monetary policy frameworks testify to the importance of this task”

 

Claudio Borio

Head of the Monetary and Economic Department, Bank for International Settlements

 

​ปัจจุบันการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละระบบเศรษฐกิจต่างเผชิญความท้าทายไม่ต่างกัน นอกจากข้อจำกัดจากภาวะ ‘ของแพง ค่าแรงถูก’ แล้ว ยังมีความท้าทายจากภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว คาดการณ์ได้ยาก และมีความไม่แน่นอนสูง ผู้ดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกรวมถึงไทยต่างก็เร่งทบทวนและปรับปรุงกรอบการดำเนินนโยบาย และมองหาเครื่องมือใหม่มาเติมกล่องเครื่องมือให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจรุนแรงและซับซ้อนขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกและไทยจะพบว่า กุญแจสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่มีประสิทธิผลสูงสุด คือ การออกแบบกรอบการดำเนินนโยบายให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ ปัจจุบันผู้ดำเนินนโยบายการเงินไทยได้สื่อสารถึงความพยายามที่จะปรับอัตราดอกเบี้นนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ชั่งน้ำหนักระหว่างเสถียรภาพของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพราคาให้เหมาะสมกับสุขภาพทางเศรษฐกิจของคนไทย และในระยะข้างหน้า เราคงจะได้เห็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินไทยสะสมชุดเครื่องมือใหม่ และผสมผสานเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับความท้าทายในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X