เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อคืนที่ผ่านมา (19 สิงหาคม) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมโดยระบุว่า คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงสูงและอาจทรุดตัวลงอีก ขณะที่มาตรการ Yield Curve Control ยังคงอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เพียงใด
นอกจากนี้ในรายงานการประชุมเฟดยังระบุถึงการใช้มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจด้านการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยในช่วงที่ผ่านมาสภาคองเกรสและรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการออกมาตรการดังกล่าวได้
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (20 สิงหาคม) ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวในแดนลบลดลง 1.44% DoD โดยเฉลี่ย นำโดย
– ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ลดลง 3.66% DoD
– ตลาดหุ้นฮ่องกง (HSI) ลดลง 1.54% DoD
– ตลาดหุ้นจีน (CSI300) ลดลง 1.30% DoD
– ตลาดหุ้นสิงคโปร์ (STI) ลดลง 1.29% DoD
– ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (NKY) ลดลง 1.0% DoD
– ตลาดหุ้นไทย (SET) ลดลง 0.91% DoD
– ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (JCI) ลดลง 0.42% DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดในครั้งนี้ได้สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สร้างความกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอ เนื่องจากตลาดยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ รวมถึงยังมีแรงกดดันจากความกังวลด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หลังจากวานนี้ (19 สิงหาคม) มีรายงานพบผู้ติดเชื้อชาวไทยในประเทศที่กักตัวครบ 14 วัน
ในระยะถัดไปต้องจับตาการบรรลุข้อตกลงมาตรการเยียวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นบวกที่ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาวยังคงต้องติดตามความคืบหน้าการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19 และช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งช่วยคลายความกดดันต่อภาพรวมการลงทุนในระยะยาว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์