ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 7/2562 โดยมีใจความสำคัญว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน แม้การเจรจาทางการค้าจะเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นบ้างในระยะสั้น โดยเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักชะลอลงตามการส่งออก
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด การส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็ว โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
เห็นควรให้ติดตามและประเมินผลของมาตรการ LTV ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และติดตามความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยงสูงในระบบการเงิน นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนเป็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้างสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขและดำเนินการในหลายมิติ
คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี ขณะที่กรรมการ 2 คนเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเผชิญกับความเสี่ยงสูงทั้งปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม
2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
3. ความเสี่ยงในระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วนด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป แต่ยังต้องระวังในหลายๆ จุด
ในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุดยิ่งขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน
ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ ขณะที่กรรมการ 2 คนเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้วอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก
คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์