สำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาประกาศและปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2024 และ 2025 โดยจากการรวบรวมตัวเลขคาดการณ์ GDP ของ 10 หน่วยงาน THE STANDARD WEALTH พบว่า ศูนย์วิจัยต่างๆ คาดว่า GDP ในปี 2025 ไทยจะโตราว 2.4-3% หมายความว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะโตต่ำลงในปีหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเร่งตัวขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตก็ยังต่ำกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายไว้
เศรษฐกิจไทยปี 2024: ปีแห่งความผิดหวัง
โดยจากการรวบรวมตัวเลขคาดการณ์ GDP ของ 10 หน่วยงาน THE STANDARD WEALTH พบว่า หน่วยงานต่างๆ ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะขยายตัวได้ราว 2.4-2.7% เท่านั้น โดยจำนวนนี้ 6 จาก 10 หน่วยงานมองตรงกันว่า GDP ไทยในปี 2024 จะขยายตัว 2.7%
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ผู้จัดทำตัวเลข GDP อย่างเป็นทางการ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.6%
ตัวเลขดังกล่าวนับว่าค่อนข้างต่างจากประมาณการ GDP ปี 2024 ในช่วงต้นปีที่เคยคาดการณ์ไว้ราว 3.6-4% เนื่องมาจากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนสูง และการเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
รมว.คลัง หวังดัน GDP ไทยโตทะลุ 3.5%
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประมาณการ GDP ทั้งปีนี้และปีหน้ายังต่ำกว่าเป้าหมายของ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เผยในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ โดยระบุว่า ต้องการให้ GDP เติบโตที่ระดับ 3.5% ต่อปี
พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากขาดการลงทุนต่อเนื่องกว่า 20 ปี ส่งผลให้การขยายตัวของ GDP ไทยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่เพียง 1.9% ต่อปี ขณะที่ปี 2024 จะเติบโตได้ราว 2.7%
เปิดโอกาส-ความท้าทาย ‘เศรษฐกิจไทย’ ในปี 2025
สำหรับประมาณการในปี 2025 ศูนย์วิจัยต่างๆ คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะโตราว 2.4- 3% โดยสภาพัฒน์มองว่ามีปัจจัยบวกและลบ ดังนี้
ปัจจัยบวกหลัก
- การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ 2568
- การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
- การท่องเที่ยวจ่อฟื้นตัวต่อเนื่อง: ทั้งจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวไทย
- การส่งออกสินค้าจ่อขยายตัวต่อเนื่อง: ตามทิศทางการค้าโลกและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจัยลบหลัก
- เศรษฐกิจและการค้าโลกเสี่ยงโตต่ำกว่าคาด: ท่ามกลางความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดใหม่ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญ และแนวโน้มการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน
- ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง: ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลง ส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้นและมูลค่าสินเชื่อชะลอลง
จับตาหนี้ครัวเรือนยังกดการบริโภคไทยในปีหน้า
SCB EIC ประเมินว่า คุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มปรับตัวแย่ลง สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ที่แสดงถึงแนวโน้มดังกล่าว ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่ยังคงเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงคาดว่าจะคลี่คลายได้ช้า และอาจส่งผลกดดันต่อการบริโภคในระยะข้างหน้า
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมในปี 2025 จะขยายตัวได้ราว 0.6% เท่านั้นจากปี 2024 ที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% สะท้อนว่าสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไทยยังทรงตัวหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน
เตรียมรับมือนโยบายทรัมป์ 2.0 บททดสอบใหญ่เศรษฐกิจไทยปีหน้า
หลายสำนักวิจัยต่างคาดการณ์ว่านโยบายทรัมป์ 2.0 จ่อฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2025 กดดันการค้า การผลิต และการลงทุน โดย SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐาน (Baseline Scenario) ของนโยบายทรัมป์ 2.0 จะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ย 20% และประเทศอื่นๆ เฉลี่ย 10% ซึ่งอัตราภาษีแตกต่างกันในแต่ละสินค้า โดยเน้นในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและวัตถุดิบการผลิตจะถูกขึ้นภาษีมากที่สุด
โดยนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยใน 4 ด้านหลัก ดังนี้
- GDP เป็นผลกระทบในระยะสั้น เศรษฐกิจชะลอตัวจากการค้าภาพรวมโลกที่แย่ลง และผลกระทบจากที่ชะลอตัวจากกำแพงภาษีเศรษฐกิจจีน
- การส่งออกสุทธิ การส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ จะถูกกดดันจากภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการระบายสินค้าจีนในตลาดโลกเพิ่มขึ้นยังกดดันดุลการค้าไทย
- การผลิตฟื้นตัวช้าลง การผลิตในไทยหดตัวจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาด
- การลงทุน นักลงทุนลังเลที่จะตั้งฐานการผลิตในไทยจากนโยบายดึงการลงทุนกลับสหรัฐฯ
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา