×

เศรษฐกิจไทยปี 65 ‘จุดเริ่มต้น’ ของการกลับสู่ภาวะปกติ แต่ความเสี่ยงยังสูง และความเหลื่อมล้ำยังถ่าง

25.11.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทยปี 65

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เศรษฐกิจไทยปี 2565 นับเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของการกลับสู่ภาวะปกติ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ชี้ว่า GDP จะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน
  • ความเสี่ยงใหญ่สุดของเศรษฐกิจไทยปี 2565 คือการควบคุมโควิดไม่ให้กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง และต้องติดตามเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
  • เศรษฐกิจโลกขยายตัวดี กดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น บีบให้ดอกเบี้ยโลกปรับขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว แต่คนในประเทศต้องจ่ายค่าสินค้าที่สูงขึ้น และดอกเบี้ยที่แพงขึ้นตามเศรษฐกิจโลก 
  • การฟื้นตัวในปี 2565 ยังไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำอาจถ่างขึ้น สะท้อนผ่าน GDP ปีนี้โตไม่ถึง 1% แต่กำไร บจ.โตดับเบิ้ล ขณะที่ธุรกิจใหญ่ไล่ซื้อกิจการ แต่ธุรกิจเล็กปิดตัวระนาว
  • หนี้ครัวเรือนนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งการขยายตัวของ GDP ระยะข้างหน้า แนะภาครัฐเร่งหามาตรการแก้ไข 
  • นโยบายการเงินและการคลังยังสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ แม้ GDP เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลักดันการเติบโตระยะยาว

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ดูดีขึ้น ทำให้หลายประเทศตัดสินใจคลายล็อกดาวน์ เริ่มเปิดประเทศกันมากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ภาพเหล่านี้สะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่มืดสนิทสุดไปแล้ว เพียงแต่ยังมีคำถามว่า เราจะเริ่มเห็นแสงสว่างได้เมื่อไร และสว่างแค่ไหน

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth เพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า ท้องฟ้าจะเปิดแค่ไหน อะไรคือความเสี่ยงใหญ่ที่ต้องจับตา และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยังเป็นในรูป K-Shaped อยู่หรือไม่ พร้อมรับฟังคำแนะนำที่รัฐบาลควรต้องเร่งทำเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเต็มที่

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 น่าจะเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่เผชิญวิกฤตโควิดมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งทำให้ GDP ในปีดังกล่าวหดตัวลึก 6.1% และต่อมาในปี 2564 เดิมคาดหวังกันว่าจะฟื้นตัวได้ราว 3% แต่เอาเข้าจริงน่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 1% ส่วนในปี 2565 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรประเมินการเติบโตไว้ที่ 3.9% 

 

“ปีหน้าควรต้องดีกว่าปีนี้ เพราะถ้าดูเศรษฐกิจโลกปี 2563 หดตัวไป 3.5% แต่ปีนี้โตได้เกือบ 5% สูงกว่าที่หดตัวในปีที่ผ่านมาไปแล้ว ส่วนของไทยการฟื้นตัวยังไม่ถึง 1 ใน 5 เลย คำถามคือ ทำไมหลุมเราลึกกว่าเขา ก็เพราะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่คิดเป็นสัดส่วน 12% ของ GDP พอเราเจอโควิดรายได้ส่วนนี้ก็เลยหายไปด้วย”

 

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า ตัวแปรหลักที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะถ้าคาดการณ์ตัวเลขนี้ผิดภาพเศรษฐกิจก็จะผิดเพี้ยนไปด้วย โดยสิ่งที่ต้องจับตาคือ จีนจะเปิดให้คนในประเทศเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้หรือยัง เพราะเขาคือนักท่องเที่ยวหลักถึง 1 ใน 3 ของไทย

 

ส่วนการบริโภคเชื่อว่าจะกลับมาได้ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกภายในประเทศ ขณะที่การส่งออก ยังคงเป็นอีกเครื่องจักรสำคัญ แต่มีความเสี่ยงอยู่ที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเราจะเป็นอย่างไร 

 

พิพัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของความเสี่ยงที่ต้องจับตาดู มีความเสี่ยงที่ใหญ่สุด คือ การระบาดของโรคโควิด ว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่หรือไม่ รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องแค่ไหน สำคัญสุดคือเศรษฐกิจจีน หากชะลอลงอาจส่งผลกระทบกับไทยได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะวันนี้เงินเฟ้อในสหรัฐสูงกว่า 6% เป็นตัวเลขที่ไม่เคยเห็นมากว่า 30 ปี ขณะที่ในยุโรปและอังกฤษก็เผชิญเงินเฟ้อสูงเช่นกัน ทำให้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งอาจซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคได้

 

“เศรษฐกิจเขาฟื้น ราคาสินค้าเขาก็เลยเพิ่มขึ้น แต่ของเรายังไม่ทันฟื้นเลย กลับต้องมาจ่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น จ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นตามเขาด้วย เท่ากับว่าเรากำลังชิมรสของสถานการณ์ที่เศรษฐกิจฟื้น ทั้งที่เรายังไม่ได้ฟื้น เหมือนกับว่า นอกจากเราจะไปปาร์ตี้สายแล้ว ยังต้องไปช่วยเขาล้างจานอีก”

 

ส่วนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย พิพัฒน์เชื่อว่ายังมีลักษณะของความเหลื่อมล้ำอยู่ และมีแนวโน้มที่จะถ่างออกจากกันมากขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลข GDP ปีนี้ที่โตไม่ถึง 1% แต่กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กลับโตดับเบิล 

 

นอกจากนี้ถ้าลองสำรวจพอร์ตลงทุนของคนที่มีรายได้สูงแล้ว เชื่อว่า ณ วันนี้น่าจะกลับมาสูงกว่าในช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ พึ่งพารายได้แบบรายวัน หนี้สินกลับเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิมหรือลดลง 

 

“วันนี้เราเห็นบริษัทใหญ่ๆ ไล่ซื้อบริษัทเล็กๆ เพราะช็อกจากโควิดทำให้เกิดการหยุดชะงักของกระแสเงินสด ใครมีสายป่านยาวกว่าก็รอดสบาย จะเห็นว่าตอนนี้ห้างสรรพสินค้าเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ร้านโชห่วยเล็กๆ ปิดตัวกันระนาว สะท้อนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่มันกำลังถ่างมากขึ้น”

 

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้เร็วสุด และลดบาดแผลทางเศรษฐกิจลง โดยพิพัฒน์ระบุว่ามี 3 เรื่องหลักที่ต้องทำ คือ 1. เรายังต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดก่อน 2. ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเพื่อลดจำนวนการว่างงานลง และ 3. ต้องสร้างตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ ผ่านการลงทุน เพราะเวลานี้บุญเก่าของเรากำลังจะหมดลงแล้ว

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ทีมเศรษฐกิจและกลยุทธ์ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เรามองเศรษฐกิจไทยปี 2565 ไว้ค่อนข้างดี โดยประเมินการเติบโตไว้เกือบๆ 5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำด้วย โดยตัวเลขประมาณการดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยประมาณ 3 ล้านคน 

 

ส่วนความเสี่ยงใหญ่ที่ต้องจับตาคือ ไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ากลับมาระบาดครั้งใหญ่อีก คงกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 

 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลจะออกมาในรูปแบบใด เพราะผลพวงของวิกฤตในครั้งนี้ทำผู้คนตกงานจำนวนมาก ธุรกิจที่ล้มละลายต้องปิดตัวไป จะทำให้ฟื้นกลับมาได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก

 

บุรินทร์กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ใหญ่และเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยคือ หนี้ครัวเรือน ซึ่งเวลานี้สูงกว่า 90% ของ GDP ตัวนี้จะเป็นการฉุดรั้งภาคการบริโภคในระยะข้างหน้า และหนี้ครัวเรือนของไทยน่ากังวลกว่าประเทศอื่นๆ ที่เขามีหนี้ในระดับเดียวกับเรา ตรงที่หนี้ส่วนใหญ่ของเราเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง

 

“ประเทศที่เขาเจริญแล้วบางแห่งอาจมีหนี้ครัวเรือนสูงพอๆ กับเรา แต่หนี้เขาส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านที่ดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ เป็นหนี้ในลักษณะที่มีเวลธ์ ส่วนของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร”

 

นอกจากนี้อีกปัญหาใหญ่ของไทยคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งข่าวที่ออกมาล่าสุดไทยเป็นประเทศที่มีมหาเศรษฐีมากสุดติด 1 ใน 10 ของประเทศทั่วโลก สะท้อนว่าการกระจายรายได้จากคนกลุ่มบนมายังคนกลุ่มล่างทำได้ไม่ดีพอ ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยเน้นเก็บภาษีจากรายได้เป็นหลัก ไม่มีภาษีที่เก็บจากความมั่งคั่ง 

 

“เราควรศึกษามาตรการที่ทำให้ความมั่งคั่งจากคนกลุ่มบนกระจายลงมายังกลุ่มล่างๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เราทำให้คนที่มั่งคั่งอยู่แล้ว มั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น”

 

บุรินทร์กล่าวด้วยว่า เรื่องกฎระเบียบการลงทุนต่างๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า เพราะด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่นิ่ง มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติทำได้ยาก ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้เขาไม่ติดใจว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไร ขอเพียงแต่กฎระเบียบต่างๆ มีความชัดเจนเพื่อที่เขาจะได้วางแผนการลงทุนได้

 

ดังนั้นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลควรเร่งทำทันทีในเวลานี้ บุรินทร์กล่าวว่า รัฐบาลควรต้องแก้กฎระเบียบให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ลดความไม่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ลง ขณะเดียวกันควรต้องปฏิรูปภาคการศึกษาใหม่ แม้ว่าการกระทำในวันนี้กว่าจะเห็นผลในอีก 15-20 ปีข้างหน้า แต่เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำในตอนนี้เลย

 

ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 น่าจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน โดยประเมินว่าการระบาดของโควิดน่าจะควบคุมได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่นโยบายการเงินจะค่อยๆ ตึงตัวมากขึ้น 

 

โดยภาพเศรษฐกิจไทยปี 2565 ที่ บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินไว้จะอยู่ในสูตร ‘2-4-4-8’ กล่าวคือ การส่งออกปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวราว 2% ซึ่งในเชิงมูลค่าโดยรวมนับว่ายังดีอยู่ แต่การขยายตัวอาจไม่ได้สูงมาก เพราะฐานการส่งออกไทยในปีนี้เริ่มสูงขึ้น มีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนในระดับสูงถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์

 

ส่วน 4 ตัวแรกคือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเชื่อว่าปี 2565 จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น เพราะถ้าดูภาคการผลิตในเวลานี้ แม้จะเผชิญปัญหาซัพพลายเชน แต่ตัวเลขการผลิตไม่ได้ลดลง การบริโภคก็น่าจะยังดีอยู่

 

สำหรับ 4 ตัวที่สอง คือ GDP ซึ่งประมาณการที่ บล.ไทยพาณิชย์ ทำไว้อยู่ที่ 3.6% แต่มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4% เพราะภาครัฐได้เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปเป็น 70% หากส่วนที่เพิ่มนี้ถูกนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจก็เชื่อว่า GDP ปี 2565 จะขยายตัวได้ถึง 4%

 

ส่วนเลข 8 คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเราประเมินว่าครึ่งปีแรกอาจยังเข้ามาไม่มาก คาดการณ์ไว้ประมาณ 2 ล้านคน แต่ครึ่งปีหลังเมื่อหลายประเทศเปิดกว้างมากขึ้น เรามองว่านักท่องเที่ยวน่าจะมีราว 6 ล้านคน ทำให้ทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ประมาณ 8 ล้านคน

 

ปิยศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนความเสี่ยงที่ต้องติดตาม นอกจากการกลับมาระบาดของโควิดแล้ว ยังต้องติดตามดูเศรษฐกิจจีนว่าจะชะลอตัวลงแค่ไหน เพราะจีนเวลานี้เผชิญทั้งวิกฤตพลังงาน การคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์ และยังมีนโยบายควบคุมโควิดให้เป็นศูนย์ราย ประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูความผันผวนของตลาดเงินด้วย เพราะในปีหน้าหากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดปริมาณ QE จนหมด ก็เตรียมจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้เรามองว่าดอกเบี้ยจะยังขึ้นได้ไม่มาก แต่ก็เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประเทศที่ไม่เข้มแข็งอาจเกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้ อีกประเด็นคือ เรื่องการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังต้องติดตามดูว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่

 

สำหรับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ปิยศักดิ์กล่าวว่า จะยังคงเป็นภาพของ K-Shaped อยู่ โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ก่อนคือ กลุ่มก่อสร้าง โทรคมนาคม และการเงิน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ขยายตัวแล้ว 5-9% แต่กลุ่มที่ยังน่ากังวลเพราะไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไรคือ กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง ที่เวลานี้หดตัวไปแล้วราว 44-45% แน่นอนว่าผู้ประกอบการในกลุ่มเหล่านี้ยังโดนผลกระทบที่ค่อนข้างหนัก

 

ปิยศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย มองว่านโยบายการเงินยังน่าจะผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ แม้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัว เพราะถ้าดูช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้อยลง ผู้ประกอบการส่งออกมีรายได้ในรูปเงินบาทลดลง การหมุนของเงินก็อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายน่าจะช่วยได้

 

นอกจากนี้ นโยบายการคลังการสนับสนุนเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าได้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากขึ้น และยังช่วยลดภาระหนี้สาธารณะต่อ GDP ลงได้ด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X