‘ราคาพลังงานดันเงินเฟ้อเดือน มี.ค. พุ่ง 5.73% สูงสุดรอบ 13 ปี’
‘คนไทยตกงาน รายได้ลด ค่าใช้จ่ายพุ่ง’
‘ของแพง-หนี้ท่วม-คนไทยจนเพิ่ม’
นี่คือตัวอย่างของข่าวเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งมันก็สะท้อนสภาพเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนพอสมควร แต่ THE STANDARD จะเปิดข้อมูลเจาะลงไปให้เห็นภาพชัดขึ้นในแต่ละตัวว่า รายได้ของเรามันลดลงไปแค่ไหน และทำไมตัวเลขเงินเฟ้อมันทำให้ของแพงขึ้น รวมถึงหนี้ครัวเรือนของไทยที่ล่าสุดทะลุ 90% ของ GDP สูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
-
เงินเฟ้อเฉลี่ย 4.9% สูงสุดรอบ 24 ปี
ถ้าใครที่ไม่ได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราจะไม่ค่อยได้ยินคำว่า ‘เงินเฟ้อสูง’ เท่าไร เพราะว่าที่ผ่านมาเงินเฟ้อสูงไม่ค่อยได้เป็นปัญหาในบ้านเรา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องน่าดีใจอะไร เพราะจริงๆ ภาวะเงินเฟ้อสูงโดยทั่วไปมันเป็นเรื่องดี มันสะท้อนว่าเศรษฐกิจขยายตัว คนมีรายได้มากขึ้น และก็มีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้น ของก็แพงขึ้น ส่วนบ้านเรา ในอดีตปัญหาที่เจอคือเงินเฟ้อต่ำ เพราะเศรษฐกิจขยายตัวช้ามากกว่า แต่เงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้มันกลับด้าน เพราะของแพงจากปัญหาด้านการผลิต ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน รวมถึงโรคระบาด ASF ที่ทำให้หมูหายไปจากตลาดจำนวนมาก
ทีนี้ถ้าจะกลับมาตอบคำถามว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่พูดๆ กันมันส่งผ่านมาทำให้เราต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงขึ้นได้อย่างไร ข้อมูลจากศูนย์วิจัย SCB EIC เปิดเผยว่าปีที่แล้ว พ.ศ. 2564 เงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 1.6% แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้ดูคือ Core Contribution ในที่นี้แปลง่ายๆ ว่า ‘การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการมาสู่สินค้าทั่วไป’ ปีที่แล้วเงินเฟ้อแค่ 1.6% แต่การส่งผ่านต้นทุนหรือ Core ยังต่ำมากอยู่ที่ 0.2-0.3%
ส่วนปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 5.73% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี สิ่งที่น่ากังวลและยังไม่ค่อยพูดถึงกันก็คือตัว ‘Core’ หรือการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมาสู่สินค้าทั่วไป ซึ่งมันก็เพิ่มขึ้นมาด้วยจากปีที่แล้วประมาณ 0.3% ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.3% ในปีนี้
และถ้าไปดูไส้ในของสินค้าทั่วไป ก็จะพบว่าราคาที่ขึ้นมาเป็นพวกค่าขนส่ง และราคาอาหารสำเร็จรูป หรือร้านอาหารที่เราไปกินนอกบ้าน ซึ่งในอดีตราคาอาหารสำเร็จรูปบ้านเรา โดยปกติไม่ค่อยขึ้นราคา มันจะขึ้นราคาก็ต่อเมื่อก๊าซหุงต้ม LPG ขึ้นราคา แต่ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ราคาอาหารสำเร็จรูปเดือนกุมภาพันธ์ขึ้นไปทั้งที่ภาครัฐยังตรึงราคา LPG อยู่ ซึ่งมันก็สะท้อนว่าต้นทุนต่างๆ ทั้งราคาน้ำมัน อาหารสด เช่น ราคาหมู สูงขึ้นจนผู้ประกอบการแบกไม่ไหว และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนนี้มายังผู้บริโภค
ที่สำคัญค่า ‘Core’ หรือการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมาสู่สินค้าทั่วไป ที่เพิ่มจาก 0.3% ในปีที่แล้ว มาเป็น 1.3% ในช่วงต้นปีนี้ ถือว่าเป็นการขึ้นที่สูง เพราะว่าตัวดัชนีค่า ‘Core’ เวลาขึ้นไปแล้วจะไม่ค่อยลง สิ่งนี้มันเหมือนขึ้นแล้วขึ้นเลย เหมือนเป็นการปรับฐานใหม่ของการส่งผ่านต้นทุนมายังสินค้าทั่วไป
ถามว่าปัญหาเงินเฟ้อนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ดู 3 อย่างนี้ คือ 1. ราคาน้ำมัน 2. ราคาก๊าซหุงต้ม และ 3. ค่าไฟฟ้า
- ราคาน้ำมันตลาดโลก จำตัวเลขง่ายๆ คือ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งคือระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งหลังเดือนเมษายนนี้ รัฐบาลจะเข้าไปช่วยแค่ครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวขึ้น สมมตินำ้มันดีเซลขยับขึ้นเป็น 32 บาทต่อลิตร รัฐจะเข้าไปช่วย 1 บาท พวกเราจ่ายเอง 1 บาท เท่ากับว่าเราจะจ่ายค่าน้ำมันดีเซล 31 บาทต่อลิตร
- ส่วนก๊าซหุงต้ม LPG เดือนเมษายนปรับราคาแล้ว สำหรับก๊าซถัง 15 กิโลกรัม เป็น 333 บาทต่อถัง จาก 318 บาท ส่วนเดือนพฤษภาคม ปรับเพิ่มเป็น 348 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม และเดือนมิถุนายน ปรับเพิ่มเป็น 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
- ขณะที่ค่าไฟฟ้า กกพ. จะทำการขึ้นค่า FT ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมนี้ ในอัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย
โดยสรุปของที่จะแพงขึ้นแน่ๆ ก็คือ ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม LPG และค่าไฟฟ้า ทำให้ SCB EIC กับธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินแล้วได้ตัวเลขตรงกันว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 4.9% สูงที่สุดในรอบ 24 ปี
-
รายได้ที่แท้จริงของแรงงานไทยลดลง
เห็นตัวเลขของแพงไปแล้ว มาดูตัวเลขรายได้ของเรากันบ้าง ข้อมูลจาก SCB EIC ระบุว่า หลังการเกิดวิกฤตโควิด ทำให้เงินเฟ้อและค่าแรงเฉลี่ยไม่สัมพันธ์กันอีกต่อไป ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของลูกจ้างในระบบเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับรายได้ที่แท้จริง ก็คือ รายได้ ลบด้วย เงินเฟ้อ นั่นเอง
โดยข้อมูลปี พ.ศ. 2564 พบว่า เมื่อนำรายได้ของแรงงานในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลบด้วย เงินเฟ้อ = รายได้ที่แท้จริงของแรงงานใน กทม. – 10.3% ส่วนรายได้ที่แท้จริงนอก กทม. เพิ่มขึ้น 3.0% และเฉลี่ยทั้งประเทศ รายได้ที่แท้จริงของแรงงานบ้านเรา -0.7%
ลองคิดภาพตามว่าขนาดปีที่แล้วเงินเฟ้อยังไม่สูงขนาดนี้ แต่ด้วยวิกฤตโควิดทำให้ค่าแรงที่แท้จริงของแรงงานใน กทม. ลดลงกว่า 10.3% ขณะที่สถานการณ์แรงงานบ้านเราก็ยังเปราะบางมาก ในรอบ 2 ปีของวิกฤตโควิด ชั่วโมงการทำงานของแรงงานไทยลดลงไปเยอะ จำนวน OT ก็ลดลงไปกว่า 1.1 ล้านคน
ส่วนเมืองไทยเราไม่ต้องไปดูสถิติผู้ว่างงาน เพราะมันไม่สะท้อนภาพจริงเท่าไร ต้องดูไส้ในจะพบว่านอกจากชั่วโมงการทำงานน้อยลงแล้ว งานที่เกิดขึ้นยังมีการย้ายจาก Sector รายได้สูงไปสู่ Sector รายได้ต่ำ เช่น ภาคบริการท่องเที่ยวหรือภาคอุตสาหกรรม ไปสู่ภาคเกษตรหรือก่อสร้าง เพราะแรงงานต่างด้าวหายไป คนไทยบางส่วนก็เข้าไปทำตรงนั้นแทน
แม้ว่าปีนี้จะเห็นสัญญาณการเปิดเมืองแล้ว รายได้ของคนไทยอาจจะฟื้นกลับขึ้นมาได้แล้ว แต่เมื่อนำไปหักลบกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก ทำให้ยังไม่แน่ใจเลยว่ารายได้ที่แท้จริงของแรงงานไทยในปีนี้จะกลับมาอยู่ในแดนบวกหรือไม่
-
หนี้ครัวเรือนไทยสูงที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา
ดูข้อมูลของแพงกับรายได้ไปแล้ว มาดู ‘หนี้’ กันบ้าง หนี้สาธารณะไทยทะลุ 60% ของ GDP ไปแล้ว ส่วนหนี้ครัวเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยล่าสุด ที่ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% ต่อ GDP หรือกว่า 14.58 ล้านล้านบาท ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 90% ของ GDP และส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ไทยจึงถือเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด ซึ่งหากนับรวมหนี้นอกระบบด้วย ตัวเลขจะเกิน 90.1% แน่นอน
หากเราส่องไปยังไส้ในของหนี้ครัวเรือนไทย จะพบว่าเรามีสัดส่วนของหนี้ที่อยู่อาศัย 34.5%, หนี้รถยนต์-จักรยานยนต์ 12% และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ 10% ส่วนหนี้ไม่มีหลักประกันจำพวกบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลประมาณ 8% แม้ว่าตัวเลขที่ 8% จะดูไม่มาก แต่ในปีที่ผ่านมา หนี้กลุ่มนี้เติบโตขึ้นถึง 12.9% ถือว่าเพิ่มขึ้นเร็วและแรงกว่าหนี้ประเภทอื่น ซึ่งอาจเป็นผลจากวิกฤตโควิดที่ทำให้คนต้องการสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น เช่น พวกบัตรกดเงินสดต่างๆ
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อว่าหากเราปล่อยปัญหานี้ทิ้งไว้ ภายใน 10 ปีมันจะระเบิดแน่นอน ซึ่งแน่นอนว่าในกรณีที่ระเบิด จะมีผลกระทบที่ตามมาเป็นวงกว้าง สถาบันการเงินจะมีปัญหาเพราะคนชำระหนี้ไม่ได้ ธุรกิจต้องปิดกิจการ ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและน่าเป็นห่วงก็คือ SME
ความเห็นนี้สอดคล้องกับ เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ที่ระบุว่าด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงของไทยจะกระทบกับรายได้ของคนกลุ่มเปราะบาง และทำให้ความสามารถที่จะจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยน้อยลงอีก และจากการสำรวจของธนาคารโลก สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ครัวเรือนที่ยากจน ยากจนมากขึ้นอีก เพราะอย่าลืมว่ารายจ่ายกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ของคนจน คือรายจ่ายด้านพลังงานและค่าอาหาร ซึ่งก็ปรับราคาสูงขึ้นมาก
ข้อมูลทั้งหมดรวบรวมจากสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจชั้นนำอย่าง SCB EIC รวมถึงแบงก์ชาติและธนาคารโลก นี่คือเสียงที่ควรรับฟังอย่างยิ่ง โดยเราไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวโทษหรือโจมตีใคร เราเพียงอยากนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ประชาชน และหวังว่าจะไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไข เพราะเราเชื่อเสมอว่าการรู้ปัญหา คือจุดเริ่มต้นของการแก้ไข คงไม่มีใครอยากให้ประเทศไทยมีชะตากรรมเดียวกันกับ ศรีลังกา หรือ เลบานอน ตามที่เป็นข่าวให้ได้อ่านกันไปแล้ว