×

ไขคำตอบ ทำไมเสน่ห์และความสามารถในการแข่งขันไทยค่อยๆ เลือนหาย ‘กับดักเศรษฐกิจไทย (บางเรื่อง)’ กำลังกลายเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง

09.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ประธาน สอท. ชวนตั้งคำถาม เหตุใดความสามารถการแข่งขันของไทยจึงหมดเสน่ห์ พร้อมเปิดมุมมอง ‘หลักนิติธรรมกับขีดความสามารถการแข่งขัน’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
  • วิเคราะห์ขีดความสามารถแข่งขันท่ามกลาง 12 ความท้าทายเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโลกและไทย 
  • ถอดความสำเร็จ ‘การปฏิรูปกฎหมาย’ ของประเทศเกาหลีใต้ ช่วยดัน GDP  ประเทศทันทีถึง 4.4% ส่งผลให้เกาหลีใต้ขยับขึ้นมากลายเป็นประเทศผู้นำอุตสาหกรรมโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี
  • ข้อค้นพบจากการศึกษาการปฏิรูปกฎหมาย Regulatory Guillotine ของไทย พบว่า หากรัฐบาลปลดล็อกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นเพียง 1,000 กระบวนงาน จะสร้างประโยชน์ภาคธุรกิจถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี เอื้อภาคเอกชนประหยัดต้นทุน 1.3 แสนล้านบาทต่อปี 0.8% ของ GDP
  • ผลการจัดอันดับโดย International Institute for Management Development (IMD) พบว่า ขีดความสามารถไทยร่วงลงมาอยู่อันดับ 30 จากเป้าหมายท็อป 20

“ทำไมเสน่ห์และความสามารถในการแข่งขันของเราหายไป แล้วหลักนิติธรรมกับขีดความสามารถในการแข่งขันเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา THE STANDARD WEALTH มีโอกาสร่วมรับฟังงานเวทีสาธารณะ ‘Rule of Law Forum: Investing in the Rule of Law for a Better Future’ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง 3 องค์กร คือ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ The World Justice Project (WJP) และ THE STANDARD โดยมี นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD เป็นผู้ดำเนินรายการ 

 

THE STANDARD WEALTH จึงขอหยิบยกมุมมองที่น่าสนใจของตัวแทนภาคธุรกิจ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้เสวนาในหัวข้อ ‘หลักนิติธรรมกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ: ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม’  

 

เกรียงไกรเริ่มด้วยการชวนตั้งคำถามว่า “หลักนิติธรรมกับขีดความสามารถในการแข่งขันของโลกและไทย มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันได้อย่างไร?”

 

แต่ก่อนอื่นต้องย้อนมาดูความท้าทายมากมายของภาคอุตสาหกรรมกันก่อน ณ วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้อย่างยิ่งว่าปัญหาของโลกที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าเรื่องใดล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจไทย  

 

ห่วงอัตราเด็กเกิดใหม่นับตั้งแต่ปี 2565 น้อยกว่าอัตราผู้เสียชีวิตไปแล้ว

 

เกรียงไกรมองว่าประเด็นที่น่าห่วงในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคมที่แยกจากกันไม่ได้เลย และกำลังเป็นปัญหาใหญ่นั่นคือ ประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ซึ่งอัตราเด็กเกิดใหม่นับตั้งแต่ปี 2565 น้อยกว่าอัตราผู้เสียชีวิตไปแล้ว

 

หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมนี้อย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเรื่องของผลิตภาพ (Productivity) และประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลง ในขณะเดียวกันเราต่างมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 

 

รวมไปถึงไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง เราติดกับดักนี้มาเป็นเวลานาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (GDP) จึงไม่สูงมากเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะเห็นว่าไทยมักจะอยู่อันดับท้ายๆ 

 

ดังนั้น หากเรายังขับเคลื่อนด้วยนโยบายหรือเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ต่อไปก็คงจะไม่ได้ 

 

“เมื่อก่อนเราเคยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่วันนี้เสน่ห์ของเราหายไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจตัวใหม่ และอุตสาหกรรมตัวใหม่ๆ ให้ได้”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

สารพัด ‘หนี้’ กับดักใหญ่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย 

 

ยังไม่พอ เรามาดูกับดักปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ยังแก้ไม่ได้เสียทีนั่นคือ ปัญหา ‘หนี้’ หนี้ภาคครัวเรือน หนี้สาธารณะพุ่งสูงแตะที่ระดับ 90.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจ (GDP) ไปแล้ว

 

แต่ที่แย่กว่านั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เราเห็นตัวเลข ‘หนี้นอกระบบ’ จากการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าหนี้นอกระบบของไทยพุ่งถึง 19% จุดนี้ถือเป็นภาระที่หนักมาก เพราะหนี้เหล่านี้เก็บดอกเบี้ยแพง โหด และเก็บรายวัน 

 

นี่คือปัญหา ‘ฉุดรั้ง’ เศรษฐกิจไทยที่ติดกับดักมานานมากอีกข้อ

 

ยังไม่นับรวมหนี้ภาคธุรกิจที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย หรือ NPL (Non-performing Loan)  และหนี้ภาคเกษตรที่จะต้องอาศัยมาตรการพักหนี้จากรัฐบาล

 

ยิ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไม่แข็ง ยิ่งนำมาสู่การคอร์รัปชัน

 

ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศซึ่งปีนี้ถือว่าดีขึ้น แต่ยังคงต้องจับตาดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

แต่อย่างที่ทราบ หนึ่งในปมปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฝังรากลึกคือปัญหาคอร์รัปชัน

 

“เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสิ่งที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทยเด่นชัดที่สุดคือ กฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม” 

 

 

อุตสาหกรรมต้องเผชิญกับผลิตภาพแรงงานต่ำ ค่าโลจิสติกส์ไทยที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และค่าเงินบาทที่ผันผวน ทั้งหมดนี้เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีปัญหา

 

“เช่นตอนค่าเงินทั่วโลกแข็ง ไทยก็บาทแข็งมากกว่าคนอื่น เวลาอ่อนก็อ่อนมากกว่าคนอื่น ภาวะที่สวิงอย่างนี้จึงไม่ใช่บรรยากาศที่ดีของนักลงทุนและผู้ประกอบการเท่าไรนัก” 

 

หันมองซ้ายมองขวา ดูขีดความสามารถของเพื่อนบ้าน ‘ไทยสูสีมาเลเซีย’

 

เมื่อมาดูการจัดอันดับโดย International Institute for Management Development (IMD) ปี 2023 หากเทียบกับเพื่อนบ้านสิงคโปร์ครองอันดับ 1 มาตลอด ส่วนมาเลเซียอยู่อันดับ 2 สูสีกับไทย ซึ่งไทยอยู่อันดับ 30 ส่วนอินโดนีเซียอยู่อันดับ 34 ขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับไทยมากขึ้น โดยอินโดนีเซียเป็นม้ามืดที่สามารถก้าวกระโดดถึง 10 อันดับจากปี 2022

 

“ไทยเราเคยอยู่ในอันดับดีมากสุดคืออันดับ 25 ในช่วงปี 2562 ขณะที่เป้าหมายของเราคือการเป็นท็อป 20 เราควรจะขยับขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในภูมิภาคนี้ นี่คือเป้าหมายที่เราจะไป”

 

ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงต้องขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจัง 

 

กฎหมายที่ล้าหลังยิ่งเพิ่มต้นทุนแฝง แถมเสียโอกาสทางธุรกิจ

 

เพราะอะไร?

 

หากทุกคนลองนึกภาพตาม… 

 

ประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าหลังมานาน แต่กฎหมายที่ออกมามีแต่การทบต้น ไม่มีการปรับปรุง (Revise) ซึ่งเรามีทั้งกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด รวมทั้งหมดแสนกว่าฉบับ จะขอหรือทำอะไรต้องผ่านหน่วยงานกี่ขั้นตอน ล้วนแลกด้วยต้นทุนแฝง ค่าเสียเวลา ค่าใช้จ่าย ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ 

 

ถอดความสำเร็จการปฏิรูปกฎหมายเกาหลีใต้ถึงไทย

 

ผมจึงขอยกตัวอย่างความสำเร็จในการปฏิรูปกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้ มีปัญหาคล้ายกับไทย สามารถลดขั้นตอนได้ล้านกระบวนการ ส่งผลให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นทันที 4.4% และทำให้เกาหลีใต้ปลดล็อกพันธนาการ ขยับขึ้นมากลายเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

 

 

จึงเป็นที่มาของแนวทางในการขับเคลื่อนของภาคเอกชน โดย กกร. ได้มอบหมายสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มารับผิดชอบบริหารโครงการ และให้ สก๊อต เจคอบ (Scott Jacobs) ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำ Regulatory Guillotine ให้กับรัฐบาลต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้, เวียดนาม, โครเอเชีย, เม็กซิโก และการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (Foreign Exchange Regulation Reform) ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ

 

แค่ปลดล็อกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นก็ช่วยดัน GDP ไทย

 

โดยจากผลการศึกษาพบว่า หากรัฐบาลไทยแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นเพียง 1,000 กระบวนงาน ก็สามารถสร้างต้นทุนประชาชนและภาคธุรกิจถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี ไม่ใช่แค่นั้น ภาคเอกชนยังสามารถประหยัดต้นทุนได้ราว 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP

 

ซึ่งหากลดขั้นตอนได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากเท่านั้น และเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมใหม่ที่เราต้องขับเคลื่อนในเรื่องความยั่งยืน เช่น พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เห็นชัดเลยว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีต้นทุนที่ถูกมาก แต่กฎหมายที่โบราณกลับเป็นอุปสรรค ทั้งที่วันนี้การติดตั้งไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สามารถลดต้นทุนให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจได้อีกมหาศาล

 

ไทยต้องยกการ์ดสูงรับความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน

 

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจควบคุมได้ และติดตามประเด็นภาษีคาร์บอน หรือที่เรียกว่า CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) นั่นคือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป (EU) ในสินค้า 5 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, ซีเมนต์, กระแสไฟฟ้า, ปุ๋ย และอะลูมิเนียม ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล

 

 

ตลอดจนกฎหมายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ยังล้าหลังอยู่มาก “เนื่องจากท้ายที่สุดเราต้องการผลักดันกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศในอนาคต โดยเฉพาะ Start-up กลายเป็นภาวะสมองไหลออกไปสู่เพื่อนบ้าน นักลงทุนรุ่นใหม่จำเป็นต้องออกไปจดทะเบียนบริษัท ระดมทุนในประเทศเพื่อนบ้าน” 

 

สิ่งเหล่านี้จะยิ่งบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ภาพสะท้อนดังข้างต้นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรม และหากเรามีหลักนิติธรรมที่ดีและทันสมัย ย่อมมีความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างหลีกไม่ได้ โดยหลักนิติธรรมที่ดีควรอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ความโปร่งใส และความเป็นธรรม 

 

จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมรัฐบาลกำหนดให้การฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นวาระแห่งชาติ และควรให้ความสำคัญ ทั้งหมดนี้คือคำตอบ…

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising