×

วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2563 จากงานสัมมนาออนไลน์ by KRUNGSRI EXCLUSIVE [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
01.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • KRUNGSRI EXCLUSIVE บริการพิเศษสำหรับลูกค้าคนสำคัญของธนาคารกรุงศรี เพียงแค่มีเงินฝากหรือสินทรัพย์ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยมอบการดูแลเรื่องการเงินที่เหนือระดับแก่ลูกค้าคนสำคัญอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยห่างแม้ในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม
  • วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ใหม่ ตัวเลข GDP ปี 2563 ติดลบ 10.3% (เดิมคาดการณ์ไว้ -5.0%) จาก Aftershock โควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง แม้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัว แต่จะฟื้นตัวอย่างช้า เนื่องจากดีมานด์และกำลังการซื้อผู้บริโภคยังคงติดลบ โดยจะคงลักษณะ UShape ต่อเนื่อง 2 ปี
  • ระวังจาก UShape จะกลายเป็น LShaped มองการเงินคลังรัฐบาลมี ‘กระสุนเยอะ’ จาก พ.ร.ก. เงินกู้ แต่ต้องยิงให้ตรงจุด ทั้งมาตรการเยียวยาที่ช่วยดีมานด์ (ผู้บริโภค) ให้เพิ่มขึ้น และยุทธศาสตร์สนับสนุนซัพพลาย (ผู้ประกอบการ) อย่างยั่งยืน
  • แนะ SMEs เร่งทรานส์ฟอร์มตัวเองเพื่อรับมือกับ Disruption ให้เร็วที่สุด ชวนคนไทยเที่ยวประเทศไทย เร่งสร้างดีมานด์ในประเทศ

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ KRUNGSRI EXCLUSIVE มอบการดูแลเรื่องการเงินที่เหนือระดับแก่ลูกค้าคนสำคัญอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยห่างแม้ในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม

 

ล่าสุดจับมือกับกระทรวงการคลัง จัดสัมมนาออนไลน์ ‘ทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2563 by KRUNGSRI EXCLUSIVE’ งานนี้เอ็กซ์คลูซีฟสมชื่อ เป็นสัมมนาเอกสิทธิ์เฉพาะลูกค้า KRUNGSRI EXCLUSIVE เท่านั้น ที่ได้รับเชิญร่วมเข้าชมสัมมนาออนไลน์แบบสดๆ 

 

โดยมี ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เข้าร่วมดำเนินรายการ

 

 

เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็น ‘บาดแผล’ ไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา GDP -1.8% (YoY) ซึ่งเป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น ตัวเลขติดลบมากสุดในปีนี้จะชัดในไตรมาส 2 (สภาพัฒน์ฯ จะประกาศวันที่ 17 สิงหาคม) 

 

ธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจอาหารฟื้นไว – การขนส่งอากาศ ท่องเที่ยว โรงแรมเดี้ยงยาว

ในช่วงสองไตรมาสแรก ภาคธุรกิจ 26 ประเภทจากทั้งหมด 60 ประเภท หรือคิดเป็น 46% ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจ 24 ประเภท หรือคิดเป็น 43.1% ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบปานกลาง และมีภาคธุรกิจเพียง 10 ประเภท หรือ คิดเป็น 10.9% ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากสุด คืออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ติดลบถึง 42.2% (YTD) ขณะที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลจากภัยแล้งที่ยาวนานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

 

 

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าธุรกิจหลายภาคส่วนจะค่อยๆ ฟื้นหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และสถานการณ์โควิด-19 ที่น่าจะดีขึ้น ประกอบกับ พ.ร.ก. เงินกู้ ที่เข้ามาสนับสนุน

โดยมองว่าธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจด้านการผลิตอาหารมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในปี 2564 ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง พลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ

 

 

ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ อาทิ การขนส่งทางอากาศ การท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร จะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนนี้มีส่วนแบ่งใน GDP ถึง 11.5% และจะเป็นนัยสำคัญกับ GDP ทั้งปี 

 

 

ทั้งนี้ ดร.พิสิทธิ์ ให้ความมั่นใจกับนักลงทุน ยืนยัน Fundamentals ของกระทรวงการคลังยังดีอยู่ ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับสูง เป็นทริปเปิลบีบวก ยังไม่โดนดาวเกรดเรตติ้ง ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 44% ของ GDP ซึ่งยังมีศักยภาพที่จะใช้นโยบายการคลัง โดยภาครัฐจะพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 60% หรือถ้าคิดเป็นเม็ดเงินไม่เกิน 16% ของ GDP ประมาณ 3 ล้านล้านบาท

 

ระวังจาก U-Shape จะกลายเป็น L-Shaped

ด้าน ดร.สมประวิณ เปิดบทสนทนาด้วยการฉายภาพ ‘คลื่นบนผิวน้ำ’ สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เสมือนคนจมน้ำ ที่มองขึ้นมาบนผิวน้ำ ถูกคลื่นบดบังจนมองไม่เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างชัดเจน

 

โดยมีความเป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในลักษณะ U-Shape ฟื้นตัวและเติบโตที่ 2.9% ในปี 2564 ปัจจัยบวกมาจากสถานการณ์โลกมีแนวโน้มว่าวัคซีนจะสามารถใช้ได้จริงไม่เกินปลายปีหน้า ในส่วนประเทศไทยที่เห็นชัดคือความสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก ทั้ง พ.ร.ก. เงินกู้ ที่พร้อมอัดฉีดผ่านการคลังเข้ามาอุ้มดีมานด์รากหญ้า และภาคการเงินสนับสนุนซัพพลายให้หายใจคล่องตัว

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความชัดเจนของมาตรการต่างๆ ในเรื่องประสิทธิภาพการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่าจะสามารถทำให้เกิดการจ้างงานเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ช่วยหนุนภาคครัวเรือนให้มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ลดความเสี่ยงแก่ภาคการเงิน และมีมาตรการที่เหมาะกับรูปแบบการฟื้นตัวในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมากเพียงใด

 

 

 

“แม้ว่ารัฐบาลจะมี พ.ร.ก. เงินกู้ ช่วยพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เสมือนลูกกระสุนที่มีเต็มแม็กซ์ แต่กระสุนเหล่านี้ต้องถูกยิงด้วยปืนที่มีศักยภาพและต้องแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่มีเครื่องมือที่ดีพอ ยกตัวอย่างเรื่องจำนวนคนตกงาน เราไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน เราทราบว่าคนไทยตกงาน 1% ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่ เราต้องมีบิ๊กดาต้าของคนไทยที่ถูกต้อง แคมเปญและมาตรการเพื่อวางแผนการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างถูกต้อง”

 

“รัฐบาลจะมี พ.ร.ก. เงินกู้ ช่วยพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เสมือนลูกกระสุนที่มีเต็มแม็กซ์ แต่กระสุนเหล่านี้ต้องถูกยิงด้วยปืนที่มีศักยภาพและต้องแม่นยำ”

 

ซึ่งหากแผนสนับสนุนไม่แม่นพอ ก็ย่อมไม่สามารถกระตุ้นให้การเกิดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเปลี่ยนไปเป็นการฟื้นตัวแบบ L-Shaped จากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นในรอบสอง และรุนแรงยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้

 

ชวนคนไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’

ปีที่แล้วรายได้จากนักท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยว 38.9 ล้านคน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ร้อยละ 11.5

 

พอมาปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือศูนย์ ตั้งแต่ช่วงประกาศปิดประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้ตัวเลข GDP ที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวลง 10.3%

 

นี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จับมือกับกระทรวงการท่องเที่ยว ดึงงบกระตุ้นการท่องเที่ยว 22,400 ล้านบาท จาก พ.ร.ก. หนึ่งล้านล้านบาท ออกแคมเปญ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เพื่อกระตุ้นดีมานด์ให้คนออกไปท่องเที่ยว เพื่อให้เม็ดเงินกระจายไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และส่งผลให้ GDP มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2-0.3%

 

 

แน่นอนว่าเม็ดเงินที่ว่าย่อมไม่อาจเทียบเท่าเม็ดเงินที่สูญเสียไป (จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป) แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องทำ และเราคนไทยเองต้องช่วยกัน

 

“เราเองก็ต้องทำในส่วนที่ทำได้ อยากให้คนไทยออกมาเที่ยวประเทศไทย แล้วก็ต้องติดตามดูต่อว่ารัฐบาลจะปรับหลักเกณฑ์อะไร เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวต่างชาติเข้ามาในไทยได้ ซึ่งนี่จะเป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาได้เห็นผลที่สุด”

 

เร่งปรับตัว Disruption

มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจจากผู้ชมว่า โควิด-19 ทำให้ฐานการผลิตระดับโลกอาจจะย้ายการลงทุนจากจีนมาที่อาเซียน อย่างบริษัทญี่ปุ่นที่เล็งประเทศเวียดนาม ลาวเป็นตัวเลือกแรก เกิดอะไรขึ้นทำไมประเทศไทยจึงไม่อยู่ในลิสต์อันดับแรก ทำอย่างไรที่ไทยจะเป็นสาวทรงเสน่ห์เหมือนเดิม

 

ดร.สมประวิณ ให้มุมมองว่า เหตุผลข้อแรก ญี่ปุ่นมาลงทุนที่บ้านเราเยอะแล้ว การเพิ่มฐานการผลิตที่เวียดนามหรือลาว เป็นการกระจายความเสี่ยงของเขา เราไม่จำเป็นต้องแย่งเงินจากเขา การต่อสู้เพื่อแย่งฐานการผลิตจะยากมาก เพราะค่าแรงเราถูกสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ แต่ควรที่จะหาโซลูชันร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับบริษัทข้ามชาติ

 

“ถ้าคุณจะขายญี่ปุ่น คุณต้องบอกว่าเราขายทั้ง CLMV แบบนี้คือเราไม่ตัดกำลังกันเอง ถ้าเวียดนาม ลาวมีกำลังซื้อ เขาก็จะซื้อของเราด้วย เราอาจจะไม่ได้อยู่ในมุมกำลังการผลิต แต่เราอาจจะอยู่ในมุมการดีไซน์ ต้องโตไปด้วยกันกับเพื่อนบ้าน ใช้จุดแข็งของความเป็นอาเซียนให้เกิดประโยชน์”

 

นี่คือการปรับ Mind Set ไม่ใช่ว่าจะแข่งขันอย่างไรกับคู่แข่ง แต่จะโตอย่างไรไปพร้อมกับคู่แข่ง

 

 

 

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการได้เห็นแล้วว่า การปรับตัวต่อ Disruption สำคัญอย่างไร ดิจิทัลไม่ได้แค่ช่วยเพิ่มมูลค่าในสินค้าเท่านั้น แต่หมายถึงการขยายช่องทางการขาย เสมือนต่อเส้นเลือดใหญ่อันมีผลต่อความอยู่รอดขององค์กร บริษัทนั้นๆ อีกด้วย

 

“อย่างการจัดสัมมนาในวันนี้เราใช้วิธีถ่ายทอดสดทางออนไลน์ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่าย ลูกค้า นักลงทุนของกรุงศรีทุกคนก็ได้ประโยชน์ ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ มีการตั้งคำถาม ตอบคำถามได้อย่างสดๆ เป็นตัวอย่างการปรับตัวที่เราต้องทำเพื่อมอบประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าของเรา” ผู้บริหารย้ำท้าย

 

จะพึ่ง Domestic ต้องปรับ Supply Size 

จากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเยอะ พอเจอวิกฤตเกิดขึ้น ทำให้เราปรับตัวยาก ดังนั้นถ้าเราจะเปลี่ยนทิศทางเน้น Domestic หรือการบริโภคในประเทศ ไม่ต้องพึ่งการส่งออกหรือการท่องเที่ยวอย่างที่ผ่านมา คำถามคือสำหรับไทยเราในความเป็นจริงทำได้มากน้อยแค่ไหน

 

ดร.พิสิทธิ์ มองว่าถ้าจะเน้นการพึ่งพาการบริโภคในประเทศ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย หนึ่งคือจำนวนประชากรบ้านเรามีเท่าไร ยกตัวอย่างจีน หรืออเมริกาที่นำร่อง Domestic มาก่อนหน้านี้สองปีแล้ว เขาทำได้อย่างแรกเพราะประชากรมากพอที่จะผลิตและบริโภคกันเอง ส่วนบ้านเราประชากร 68 ล้าน ถือว่ากลางๆ ค่อนไปทางเล็ก 

 

“สิ่งสำคัญคือรายได้ประชากรเราต้องมากพอด้วย คนไทยเรารายได้ต่อหัวโตขึ้นปีละ 3.5% ในขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์โตไปถึง 5-6% สิ่งที่ต้องทำเพื่อผลระยะยาว ต้องไปดู Supply Size จะทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาไทยมีคุณภาพแรงงานมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้สูง ตราบใดที่เราไม่สามารถผ่านกับดักรายได้ตรงนี้ได้ การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่เกิดขึ้น” 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกรุงศรีมองว่าการเปลี่ยนมาเน้นการบริโภคในประเทศอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด 

 

“อย่าลืมว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีประชากรมาก อย่างไรก็ต้องเน้นเอาเงินจากต่างประเทศเข้ามา เพียงแต่เราต้องปรับกระบวนการผลิตใหม่ ไม่ใช่ว่าต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ผลิต แต่ต้องทำให้คนไทยเป็นผู้ผลิตเอง แล้วส่งออกต่างประเทศ

 

โอกาสดีของนักลงทุน

จากนโยบายที่ภาครัฐและแบงก์จะสนับสนุนการลงทุน ทั้งมาตรการยืดหยุ่นการผ่อนชำระ รวมทั้งมาตรการปรับดอกเบี้ยลดลง เพื่อให้ผู้ประกอบการฟื้นตัวเร็วขึ้น

 

ดร.สมประวิณ มองว่าเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอีกครั้ง

 

“หลายคนมองการลงทุนในความเสี่ยงช่วงนี้จะเป็นระเบิดเวลาหรือไม่ ผมคิดว่าเราเลือกได้ 2 ทาง ทางแรกถ้าเราเห็นโอกาสและเรามั่นใจว่าเราสามารถทำได้ ทำถูก เราก็ต้องกู้ ธุรกิจเวลาจะเติบโตก็ต้องกู้ทั้งนั้น ทางที่สองคือรอเก็บเงินออมมันไม่เผชิญความเสี่ยง มันก็คงโตแบบช้าๆ แต่ถ้ากู้แล้วทำถูก สุดท้ายรายได้ของท่านจะ Cover สิ่งที่ท่านกู้เอง”

 

 

“ผมอยากให้มองบริบทของการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ยกตัวอย่าง หน้ากากที่เรานำเข้าจากจีนมาขาย เพราะมันถูกกว่าทำเอง แต่ต่อจากนี้เรามองที่ราคาถูกไม่ได้แล้ว เพราะมันมีปัจจัยเสี่ยง ที่เราต้องมองคือจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตหน้ากากของเราเองอย่างไร แน่นอนต้นทุนคุณแพงกว่ารับจีนมาขาย แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดปัญหานำเข้าไม่ได้ มันจะรีเทิร์นกลับมาเป็นของเรา ซึ่งวันนี้โอกาสการลงทุนมาถึงแล้ว ไม่ใช่แค่หน้ากาก แต่รวมถึงสินค้านำเข้าตัวอื่นๆ ด้วย

 

“วันนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เราได้ตกผลึกและได้คิดว่าเราจะปรับตัวอย่างไร ท่านค่อยๆ คิด เพราะโควิด-19 กว่าจะหายก็คงอีกสักพักหนึ่ง อะไรเป็นสิ่งที่ท่านอยากจะทำและไม่ได้ทำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลองนึกดูดีๆ และปรับตัว ท่านก็จะเติบโตแข็งแรงได้ในวันที่โควิด-19 มันหายไป สุดท้ายฝากไว้สั้นๆ เราไปเที่ยวกัน มาช่วยเศรษฐกิจไทย” ดร.สมประวิณ สรุปท้าย

 

นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของการมอบผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับลูกค้าเอกสิทธิ์ ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ www.krungsri.com/krungsriexclusive

 

#KrungsriExclusive

#สุขที่สุดแห่งศิลปะการใช้ชีวิต

#กรุงศรีอยู่นี่นะ

#ความห่วงไม่เคยห่าง

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising