วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะเยี่ยมชม บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ผู้ผลิตโดรนสัญชาติไทย ที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมชงรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่มีศักยภาพทัดเทียมต่างชาติ เพื่อให้พร้อมรับมือกับสงครามยุคใหม่ โดยมีการเน้นย้ำความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์-ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศก่อน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-ความมั่นคงของชาติ เพราะเชื่อว่าภูมิรัฐศาสตร์โลกขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีของไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเผยว่าพร้อมสนับสนุน โดยหวังให้รัฐ-เอกชนร่วมมือกันมากขึ้น
รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอากาศยานไร้คนขับ (UAV หรือ โดรน) และศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ (CSOC) ของ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และให้บริการเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ชั้นนำของประเทศ โดยมี รศ. ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ ประธานบริษัท พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทให้การต้อนรับ
โดย น.อ. กันต์พัฒน์ มังคละศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด เป็นผู้บรรยายสรุปถึงประเด็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่อยากเสนอต่อรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยหลายรายมีศักยภาพ และมีความพร้อมที่ทัดเทียมกับผู้ผลิตยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีของต่างประเทศ โดยทาง อาร์ วี คอนเน็กซ์ มีศักยภาพในการออกแบบ ผลิต UAV และการปรับปรุงอากาศยานรบให้แก่กองทัพอากาศ (ทอ.) ตลอดจนระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone System), ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link: TDL), ระบบเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย (Intelligent Operation Center: IOC) และงานให้บริการข้อมูล ระบบวิเคราะห์ การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนเหตุการณ์ (Analysis, Monitoring and Alerting System) นอกจากนี้ บริษัทยังมีความร่วมมือกับศูนย์การทหารปืนใหญ่ กองทัพบก ในโครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการ ควบคุมและสั่งการ ศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธวิธี กรมทหารปืนใหญ่ อีกด้วย
“ปัจจุบันสถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลง เกิด Hybrid Warfare (สงครามผสมผสาน) หรือ Electronic Warfare (สงครามอิเล็กทรอนิกส์) ที่ทำให้ต้องพัฒนา UAV และระบบป้องกันใหม่ๆ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย-ข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ จึงขอเสนอรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมในกำกับของภูมิธรรม รองนายกฯ ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามสมัยใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ” น.อ. กันต์พัฒน์ ระบุ
น.อ. กันต์พัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทขยายการตลาดไปยังต่างประเทศ โดยมีพันธมิตรความร่วมมือในเรื่อง UAV แล้วในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี แคนาดา โปรตุเกส เป็นต้น ซึ่งในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ขณะนี้ ถือเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ไปยังประเทศที่ต้องการทางเลือกนอกเหนือจากชาติมหาอำนาจ โดยอาจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยุทโธปกรณ์ได้
ภายหลังเสร็จสิ้นการเยี่ยมชม ภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน และระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อภัยคุกคามของข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ของบริษัท ซึ่งรู้สึกภูมิใจที่รู้ว่าบริษัทไทยมีความสามารถด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ ซึ่งวันนี้เห็นแล้วว่าบริษัทไทยที่มีขีดความสามารถมีอยู่จริง เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่กระทรวงกลาโหมในการผลักดันให้เหล่าทัพใช้ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย อีกทั้งยังรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นภาคเอกชนของไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) พิเศษที่ 11 และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงกลาโหมที่ส่งเสริมให้เกิดการเอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของภาคเอกชน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศประมาณ 20,000 คน เป็นส่วนสำคัญที่ยังคงต้องส่งเสริมให้เกิดแรงงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้น เป็นการพัฒนาประเทศและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
โดยภูมิธรรมทิ้งท้ายว่า “หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเยี่ยมชมโรงงานผลิตในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป”