ข่าวดีใหม่ล่าสุดสำหรับวงการบันเทิงไทยคงหนีไม่พ้นการก้าวขึ้นอันดับหนึ่งบนชาร์ต Netflix Global Top 10 หมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศของซีรีส์กลิ่นอายละครไทยเรื่อง สืบสันดาน ในขณะที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งเกิดกระแสละครไทยกำลังจะตายเพราะหลายช่องทีวีลดจำนวนการผลิตลง ปรากฏการณ์สวนทางกันของสองประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าละครไทยใกล้สูญพันธุ์แล้วจริงหรือ? แต่ทำไมซีรีส์และละครไทยหลายๆ เรื่องกลับประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคแม้กระทั่งระดับโลก? หรือเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านเพื่อหาสูตรลับฉบับคอนเทนต์ไทยๆ กันแน่?
สืบสันดาน (Netflix)
คนดูละครและซีรีส์ไทยน้อยลงจริงหรือ?
ช่วงครึ่งปีแรกมีข่าวร้ายวงการละครไทยออกมาเป็นระลอก ทั้งข่าวช่อง 3 คืนคิวผู้จัด ชะลอการถ่ายทำละครในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ทั้งหมด แถมละครเรื่อง นางนาคพระโขนง ที่โปรโมตไปแล้วก็มีอันต้องเลื่อนออกอากาศ ทางฝั่งช่อง 8 ก็มีข่าวเลิกผลิตละครเพราะรายการประเภทอื่นในช่องมีเรตติ้งดีกว่า ขณะที่ช่อง 7 และช่อง one31 ก็ออกอากาศละครรีรันสลับกับละครใหม่
คงต้องยอมรับว่าในระยะหลังละครทีวีไทยเรตติ้งน้อยลง อย่างละครหลังข่าวในช่วงครึ่งปีแรกมีเพียงละคร สงครามสมรส ทำเรตติ้งสูงสุดที่ 7.7 ส่วน ลมเล่นไฟ ที่ครองอันดับหนึ่งละครหลังข่าวเรตติ้งดีที่สุดของช่อง 3 ก็อยู่ที่ 4.4 ฝั่งช่อง 7 ละครฟอร์มใหญ่อย่าง รอยรักรอยบาป เรตติ้งสูงสุดอยู่ที่เลข 3 ซึ่งธุรกิจโทรทัศน์รายได้หลักมาจากการโฆษณา ตัวเลขเท่านี้ก็คงไม่ดึงดูดใจสปอนเซอร์สักเท่าไร ยิ่งผนวกกับมีสื่อใหม่ๆ เข้ามาแชร์ตลาดด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ ที่สำคัญ ต้นทุนการผลิตละครสูงกว่ารายการทีวีประเภทอื่นๆ เมื่อลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ ก็ทำให้หลายช่องขอถอยมาดูสถานการณ์ดีกว่า
คนดูทีวีน้อยลงจริงไหม? น่าจะจริง แต่คนดูละครหรือคอนเทนต์ไทยน้อยลงไหม ก็คงไม่ใช่ เพราะหากรวมตัวเลขคนดูออนไลน์และสตรีมมิงต่างๆ จะพบว่าคนดูอาจจะลดลงจริง แต่ไม่ใช่ไม่ดูเลย อย่างยอด 10 อันดับคอนเทนต์ที่คนดูสูงสุดในไทยของทั้ง Netflix และ Viu ก็มีละครและซีรีส์ไทยอยู่ 5-7 เรื่อง ก็ถือว่าไม่น้อยเลย
สงครามสมรส (ช่อง one31)
รอยรักรอยบาป (ช่อง 7HD)
หรือเพราะคนยุคใหม่เสพคอนเทนต์แบบไม่สนใจสัญชาติ?
ความบันเทิงก็เหมือนสินค้า เราอยู่ในยุคที่มีสินค้าในตลาดมากมาย ในขณะที่มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ก็ย่อมเลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแบบไม่สนใจว่ามาจากประเทศไหนและดูผ่านสื่ออะไร หลายคนอาจคิดว่าซีรีส์เกาหลีคือความบันเทิงกระแสหลัก แต่เรื่องไหนบทไม่รอดเราก็ไม่ดู ในขณะเดียวกันก็มีคอนเทนต์จากประเทศใหม่มาสร้างปรากฏการณ์ในเมืองไทย เช่น Erkenci Kus ซีรีส์จากตุรกี, Gangubai Kathiawadi และ Maharaj หนังจากอินเดีย, Color of Evil: Red ซีรีส์จากโปแลนด์ และซีรีส์จีนมากมายมหาศาลที่กำลังตีตื้นซีรีส์เกาหลีขึ้นมาติดๆ นั่นหมายความว่าคอนเทนต์ไทยไม่ได้แข่งขันกันเองแต่แข่งขันกับนานาชาติ ดังนั้นเรื่องคุณภาพ ทั้งบท โปรดักชัน และพลังดารา ต้องมาก่อน ส่วนละครใกล้จะสูญพันธุ์คือละครสูตรสำเร็จที่ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ต่างหาก อย่างไรก็ตาม ละครโทรทัศน์ก็ต้องเจอกับปัญหาคลาสสิกจากข้อจำกัดต่างๆ ของทาง กสทช. ที่ว่าสื่อโทรทัศน์เข้าถึงคนทุกกลุ่มเนื้อหาก็ไม่ควรแรงเกินไป
สงครามสมรส (ช่อง one31)
ลมเล่นไฟ (ช่อง 3HD)
ละครและซีรีส์ไทยไม่มีอะไรใหม่จริงหรือ?
ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ หรือ ปราณประมูล มือเขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดังให้สัมภาษณ์ผ่านสกู๊ปข่าวของไทยพีบีเอสไว้น่าสนใจว่า “ทีวีไทยสู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ เพราะเราเป็นประเทศด้อยพัฒนา อันนี้พูดจริงๆ นะ อะไรที่วิจารณ์สังคมเยอะก็ทำไม่ได้ เราแตะการเมืองไม่ได้ แตะตำรวจไม่ได้ แตะทหารไม่ได้ ฯลฯ แล้วมันเหลืออะไรให้ทำ ก็ต้องเหลือเรื่องผัวเมียกับแย่งมรดก คนทำทีวีก็พยายามแข่งอยู่แต่ว่าทีวีมันมีกรอบเยอะมาก”
เป็นเรื่องจริงที่คนทำทีวีพยายามแข่งขันแบบสุดความสามารถ อย่างที่เราได้เห็นผลงานคุณภาพอย่างละครของไทยพีบีเอสเช่น จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี หรือ บุษบาลุยไฟ ที่เน้นความละเมียดละไม หรือการนำเสนอประเด็นใหม่ๆ อย่างซีรีส์จากช่อง GMM25 เช่น คาธ, Home School และ ด้วยรักและหักหลัง
บุษบาลุยไฟ (Thai PBS)
บางกอกคณิกา (ช่อง one31)
ด้วยรักและหักหลัง คือตัวอย่างของการผสมแบบละครไทยคือความอิจฉา ริษยา แย่งผู้ชาย มาใส่ความดาร์กและประเด็นสมัยใหม่เข้าไปจนได้อรรถรส ใหม่ เผ็ด แซ่บ แต่ไม่เชย และประสบความสำเร็จในวงกว้างมากกว่าผลงานเรื่องอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ซีรีส์วาย) ของช่อง นั่นอาจจะพอบอกได้ว่าแม้คนดูต้องการประเด็นใหม่ๆ แต่ก็ยังติดใจกับกลิ่นอายเก่าๆ ของละครไทยอยู่ดี
หรืออย่าง สงครามสมรส ที่ว่าด้วยประเด็นคลาสสิกคือเรื่องผัวเมีย แต่เพราะบทประพันธ์ทำการบ้านมาอย่างดี ผนวกกับการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ละครเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน อีกตัวอย่างคือผลงานของผู้จัด แอน ทองประสม กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเปลี่ยนชื่อเรื่องและปรับบทให้ทันสมัยทั้งที่เป็นบทประพันธ์เก่าอย่าง แค้น เปลี่ยนจาก พรหมจารีสีดำ หรือ เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ เปลี่ยนจาก สามีเงินผ่อน ก็ทำให้ Mood & Tone ของละครเปลี่ยนได้เหมือนกัน
สืบสันดาน (Netflix)
ส่วน สืบสันดาน ก็คือการประยุกต์เอาละครไทยด้วยประเด็นแย่งสมบัติแล้วมาใส่ความพรีเมียมเข้าไป ก็ยังคงรสชาติแบบไทยๆ จนไปโดนใจคนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถ้าจากรายชื่อประเทศที่ซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นอันดับ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งอเมริกาใต้และยุโรปตะวันออกที่ชอบความบันเทิงแนวนี้อยู่แล้ว เมื่อรวมกับประเด็นสากลเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งทำให้ไปได้ไกล ซึ่งหากเทียบกับ สาธุ ที่ภาษีดีกว่าเรื่องบท แต่มีบริบทความเป็นไทยมากกว่า ก็เชื่อมโยงกับคนดูในต่างประเทศได้น้อยกว่า
เรียนรู้และปรับตัว
หลายปีที่ผ่านมาหลายช่องทีวีพยายามปรับตัว อย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่อง one31 มีโปรเจกต์ oneD ORIGINAL ทำซีรีส์ดึงประเด็นสังคมมาใส่แล้วฉายในเวอร์ชันโทรทัศน์ และ Uncut ผ่านแอปพลิเคชัน ก็ช่วยลดข้อจำกัดหยุมหยิมลงไปได้ ส่วนช่อง 7 เริ่มขยับตัวขายละคร รอยรักรอยบาป ให้ Netflix ถึงมาช้าแต่ก็มานะ
พรชีวัน (ช่อง 3HD)
ด้านช่อง 3 ก็เริ่มมองหาแหล่งรายได้อื่นๆ โดยอาศัยจุดแข็งคือพลังดาราของช่องจัดงานอีเวนต์ต่างๆ อย่างเร็วๆ นี้ก็จะได้เห็น DHEVAPROM FAN CON AFTER PARTY จากความสำเร็จของละครชุดดวงใจเทวพรหม และทำ Merchandise มาขายแฟนๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขายคอนเทนต์ให้กับบริการสตรีมมิงทั้งแบบขายพร้อมออกอากาศ หรือทำคอนเทนต์ออริจินัลให้แพลตฟอร์มไปเลย เช่น ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ ที่สตรีมผ่าน Prime Video ก่อนออกอากาศในช่อง ซึ่งช่องเล็กๆ อย่าง GMM25 และ MONO29 เริ่มทำมาก่อนแล้ว หากประเมินจากความเคลื่อนไหวของหลายๆ ช่อง ในอนาคตอันใกล้ คอนเทนต์ละครไทยไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่อยู่ในทีวี แต่จะแลนดิ้งครั้งแรกผ่านสื่อไหนก็ได้ และเนื้อหาอาจทันสมัยและโดนใจกว่าปัจจุบัน กลายเป็นทางรอดไม่ให้สูญพันธุ์ไปได้
อ้างอิง: