THE STANDARD ได้รับเอกสารที่ทูตไทยประจำสหประชาชาติ (UN) ส่งถึงทูตกว่าร้อยประเทศใน UN ชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยเป็นเอกสารความยาว 2 หน้า ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ THE STANDARD ได้ถอดข้อความแบบคำต่อคำ ดังนี้
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติขอแสดงความชื่นชมต่อคณะผู้แทนถาวรและคณะผู้สังเกตการณ์ถาวรประจำสหประชาชาติ และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้แจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์อันร้ายแรงที่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย อันเป็นผลจากการรุกรานทางทหารของกัมพูชา ดังต่อไปนี้
- เมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม 2568 ขณะกำลังลาดตระเวนตามปกติตามเส้นทางที่กำหนดไว้ภายในอาณาเขตประเทศไทย เจ้าหน้าที่กองทัพไทยได้เหยียบทุ่นระเบิด PMN-2 เป็นเหตุให้ทหาร 2 นายได้รับบาดเจ็บสาหัสและส่งผลให้พิการถาวร ขณะทหารที่เหลือได้รับบาดเจ็บรุนแรง ทุ่นระเบิด PMN-2 ทั้งหมดที่พบอยู่ในสภาพใหม่และยังมีเครื่องหมายระบุให้เห็นชัดเจน หลักฐานบ่งชี้ว่าทุ่นระเบิดเหล่านี้เพิ่งถูกวางใหม่ ในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention -APMBC) ประเทศไทยได้ยื่นรายงานประจำปีเกี่ยวกับความโปร่งใสในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวตามมาตรา 7 อย่างถูกต้อง รายงานดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2546 และต่อมาได้ทำลายทุ่นระเบิดทั้งหมดที่เก็บไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมและการวิจัยในปี พ.ศ. 2562 ในทางตรงกันข้าม รายงานล่าสุดของกัมพูชาระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 กัมพูชายังคงครอบครองทุ่นระเบิด PMN-2 อยู่
- วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 08.20 น. ทหารกัมพูชาได้เปิดฉากยิงใส่ฐานทัพทหารไทยที่ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย ส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
หลังจากนั้นไม่นาน กองกำลังกัมพูชาได้เปิดฉากโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายต่อดินแดนไทยใน 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี การกระทำที่ก้าวร้าว ไม่เลือกเป้าหมาย และขัดต่อกฎหมายต่อพลเรือนไทยเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงและนำไปสู่การสูญเสียชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างน่าเศร้า รวมถึงผู้หญิงและเด็ก โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน รวมถึงโรงพยาบาลและโรงเรียน ก็ได้รับความเสียหายอย่างมากเช่นกัน ณ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บ 24 คน ในจำนวนนี้ 8 คนอยู่ในอาการสาหัส ประชาชนกว่า 102,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน
- การโจมตีด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการยั่วยุ ซึ่งริเริ่มโดยกองทัพกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดแจ้งต่อมาตรา 2(4) ของกฎบัตรสหประชาชาติ หลักการแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างรัฐ ประเทศไทยได้แสดงความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุดต่อการโจมตีด้วยอาวุธที่มีการวางแผนล่วงหน้าจากฝ่ายกัมพูชา และจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรการป้องกันตนเองที่ประเทศไทยดำเนินการนั้นมีขอบเขตจำกัดอย่างเข้มงวด สัดส่วนเหมาะสมกับภัยคุกคาม และมุ่งเป้าไปที่การกำจัดอันตรายที่ใกล้จะเกิดขึ้นจากกองทัพกัมพูชาเท่านั้น
- ประเทศไทยขอประณามอย่างรุนแรงต่อการโจมตีพลเรือน เป้าหมายทางพลเรือน และสถานที่สาธารณะอย่างไม่เลือกเป้าหมายของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 อย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 18 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 (ว่าด้วยการคุ้มครองโรงพยาบาลในสถานการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บและผู้ป่วย) และมาตรา 19 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 (การคุ้มครองหน่วยแพทย์และสถานพยาบาล) การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและความยากลำบากแก่พลเรือนผู้บริสุทธิ์
- ประเทศไทยยังคงยึดมั่นในการยุติข้อพิพาทโดยสันติ และปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อการใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ เราขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้กัมพูชายุติการใช้ความรุนแรงในทันที และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างสุจริตใจ ประเทศไทยยังยืนยันถึงความพร้อมในการมีส่วนร่วมผ่านกลไกทวิภาคีที่จัดตั้งขึ้น รวมถึงคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2568 เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ยังคงค้างคา