เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ให้เราเห็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันไปพึ่งพาการใช้งานแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สืบเนื่องจากข้อจำกัดด้านการใช้ชีวิตตามมาตรการล็อกดาวน์ และการทำงานจากที่บ้าน Work from Home
เมื่อเร็วๆ นี้ Google, Temasek และ Bain & Company ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ประจำปี 2563 (e-Conomy SEA 2020) เพื่อฉายภาพให้เห็นว่า โควิด-19 มีส่วนกระตุ้นและเขย่าพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกอินเทอร์เน็ต (เฉพาะอาเซียน) และแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางใด
โดยทั้ง Google, Temasek และ Bain & Company พบว่า ปี 2020 นี้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ‘หน้าใหม่’ ในเวียดนาม, ไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากถึง 40 ล้านราย ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานโดยรวมขยับขึ้นมาเป็น 400 ล้านราย นั่นหมายความว่า ณ ตอนนี้ เกือบ 70% ของประชากรในฝั่งอาเซียนปลั๊กอินตัวเองเชื่อมต่ออยู่บนโลกออนไลน์
จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่
เมื่อจำแนกตามประเทศจะพบว่า ‘ไทย’ มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนราว 30% จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดในปัจจุบัน (จำนวนเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคอยู่ที่ 36%) ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้งานที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 57% และต่างจังหวัด 43% ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตก่อนหน้านี้พอสมควร (เดิมอยู่ในกรุงเทพฯ 61% และต่างจังหวัด 39%)
สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงล็อกดาวน์กักตัวอยู่บ้านจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยมีปริมาณการใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์เฉลี่ยสูงกว่าช่วงปกติก่อนล็อกดาวน์ที่ 4.6 ชั่วโมงต่อวัน (ก่อนล็อกดาวน์ 3.7 ชั่วโมง) ถึงอย่างนั้นก็ดี หลังจากที่ผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้ว ตัวเลขดังกล่าวมีการปรับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยลดลงมาอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะที่ผู้ใช้งานในสัดส่วนมากถึง 95% ระบุว่า แม้จะผ่านโควิด-19 ไปแล้ว แต่พวกเขายังคงเลือกที่จะใช้งานแพลตฟอร์มในกลุ่มบริการดิจิทัลต่อไปอย่างน้อย 1 บริการ (ครอบคลุมสื่อออนไลน์, การเดินทางออนไลน์ (จองที่พัก), การเดินทาง และสั่งอาหารผ่านแอปฯ และอีคอมเมิร์ซ)
ระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังล็อกดาวน์
โดยตลอดทั้งปี 2563 นี้ มีการประเมินกันว่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนน่าจะสูงกว่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.18 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2019 ที่ราว 5% และคาดว่าอีก 5 ปีต่อจากนี้น่าจะเติบโตเฉลี่ย 24% ส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมพุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 3.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9.36 ล้านล้านบาทได้ไม่ยาก
ซึ่งในมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 3.18 ล้านล้านบาทนี้ ไทยถือเป็นประเทศลำดับสองของอาเซียนที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดที่ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 545,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 7% เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซียที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
เมื่อจำแนกตามบริการดิจิทัลตามแต่ละเซกเตอร์ จะพบว่า ในประเทศ ‘อีคอมเมิร์ซ’ เป็นธุรกิจดิจิทัลที่มีการขยายตัวเติบโตมากที่สุดที่ 81% ขึ้นมาอยู่ที่ 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 272,000 ล้านบาท เทียบเท่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลตลอดทั้งปีนี้
โดยข้อมูลที่น่าสนใจจาก Google Trends ยังสะท้อนให้เห็นอีกด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผู้ขายสินค้าในกลุ่มซัพพลายเออร์มีการเสิร์ชคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับวิธีการขายของออนไลน์เติบโตเพิ่มขึ้นมากถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
รองลงมาคือสื่อออนไลน์ที่เติบโตราว 20% ขึ้นมาอยู่ที่ 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 121,000 บาท
ส่วนภาคการท่องเที่ยวออนไลน์ได้ผลกระทบรุนแรงและชัดเจนที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีอัตราการหดตัวจากปี 2562 ที่ -47% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขาดหายไป ส่งผลให้มูลค่าของเซกเตอร์นี้ในปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 ล้านดอลลาร์เท่ากับสื่อออนไลน์
ฝั่งบริการเรียกรถออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม และฟู้ดเดลิเวอรี หดตัวจากปีก่อนหน้า 12% มาอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท จากผลกระทบที่คนเดินทางน้อยลง นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยได้
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการที่อุตสาหกรรมอีคอมเมิรซ์มีอัตราการเติบโตจากปี 2562 ที่สูงถึงกว่า 81% และการที่ฟู้ดเดลิเวอรีได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงโควิด-19 ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่ชดเชยการขาดหายไปของรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ จนดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยปีนี้ยังคงเติบโตจากปีก่อนได้พอสมควร
โดยไทยถือเป็นประเทศที่ได้เปรียบเป็นอย่างมาก จากการรณรงค์ท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งข้อมูลการเสิร์ชหาสถานที่พักในประเทศผ่าน Google Trends สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนล็อกดาวน์ เป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์ประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ ที่ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวอยู่ที่ 12 เท่า
ในระหว่างการให้ข้อมูลครั้งนี้ แจ็คกี้ หวาง Country Manager แห่ง Google ประเทศไทย ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า บริการการเงินบนโลกดิจิทัล เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา การเรียนรู้ (EdTech) มัดรวมเป็นกลุ่มเทคฯ ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
เริ่มต้นที่ บริการทางการเงินดิจิทัล (การชำระเงิน การโอนเงิน การให้กู้ยืม ประกันภัย และการลงทุน) แม้ว่าปีนี้ในภาพรวมทั้งอาเซียนจะโตจากปีที่แล้วเพียง 3% ขึ้นมาอยู่ที่ 620 ล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2025 ที่จะถึงนี้ มีการคาดการณ์ว่า เงินกระดาษจะแปรผันตัวเองเป็นเงินบนโลกดิจิทัลมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์ขยับขึ้นมาเป็น 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ไม่ยาก
ส่วน HealtTech (การใช้งาน Telemedicine การแพทย์ทางไกล) ก็มีอัตราการเติบโตในเชิงตัวเลขผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มในช่วงล็อกดาวน์มากขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนล็อกดาวน์
ด้านเครื่องมือการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล EdTech ก็มีปริมาณการติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเป็น 20 ล้านแอปฯ ในช่วงโควิด-19
แจ็คกี้บอกว่า จากผลการวิจัยในปีนี้ เราอาจจะสรุปได้ว่า ธุรกิจอินเทอร์เน็ตได้เติบโตมาสู่จุดที่แข็งแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะฉะนั้น ก้าวต่อไปนับจากนี้ การพัฒนา ‘ข้อจำกัดสำคัญ’ ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจะถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจํากัดด้านการพัฒนา ‘บุคลากรที่มีความสามารถ (Talent)’ ให้พร้อมตั้งรับทันความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะจะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงในระยะยาว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์