The Washington Post เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นที่เขียนโดยกองบรรณาธิการของสำนักข่าว โดยชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยอันเปราะบางของไทยกำลังเผชิญกับความถดถอยครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้งจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งการยุบพรรคก้าวไกล และถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคำตัดสินที่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้
บทความระบุว่า เหตุการณ์ทางการเมืองล่าสุดของไทยแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดในความพยายามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ส่งเสริมประชาธิปไตยให้เป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศ แต่กลับมีการถดถอยของประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นมิตรของสหรัฐฯ และยังเป็นป้อมปราการสำคัญต่ออิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น
The Washington Post ชี้ว่าคำตัดสินทั้ง 2 กรณีแสดงให้เห็นว่ากลุ่มอำนาจเก่าของประเทศไทย และฝ่ายต่อต้านการปฏิรูปและประชาธิปไตย หันมาใช้แนวทาง ‘นิติสงคราม’ (Lawfare) เพื่อบ่อนทำลายเจตจำนงของประชาชน
ขณะที่นิติสงครามยังกลายเป็นอาวุธที่รัฐบาลเผด็จการนิยมใช้ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายและปกปิดการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามในรูปแบบเก่าๆ
เนื้อหาบทความยังระบุว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยมีผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยมากกว่า 14 ล้านคนสูญเสียสิทธิ หลังจากที่ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลชนะในการเลือกตั้งปีที่แล้วได้อย่างน่าทึ่ง
กรณีถอดถอนเศรษฐานั้น นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริงคือฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการส่งคำเตือนไปถึงผู้สนับสนุนเศรษฐา ซึ่ง The Washington Post ระบุว่า คือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เชื่อกันว่ายังคงควบคุมอำนาจของพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง
บทความยังชี้ว่า แม้จะเกิดกรณียุบพรรคก้าวไกล หรือถอดถอนเศรษฐา แต่ไทยก็ยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ
The Washington Post ระบุว่า ประเทศไทยนั้นเป็นภาวะ ‘กลืนไม่เข้า คายไม่ออก’ สำหรับสหรัฐฯ โดยไทยยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกองทัพสหรัฐฯ และยังมีการฝึกซ้อมรบร่วมกันทุกปี ขณะที่ยังมีรายงานว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาเรื่องการขายเครื่องบินรบ F-16 Block 70 ให้กับกองทัพอากาศไทย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยุบพรรคก้าวไกล ฝ่ายสหรัฐฯ มีการแสดงท่าที โดยกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่ง ในขณะที่วุฒิสมาชิกเบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า สภาคองเกรสจะประเมินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและสหรัฐฯ อย่างไร
อ้างอิง: