วันนี้ (15 สิงหาคม) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มีหนังสือแจ้งนัดประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งวันนี้จะเป็นการพิจารณาวันสุดท้ายตามกรอบรัฐธรรมนูญคือ 180 วัน โดยที่ผ่านมามีการถกเถียงกันในประเด็นสูตรการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ระหว่างหาร 500 และหาร 100 ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุมร่วมได้ลงมติให้ใช้สูตรหาร 500 ตามที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เป็นผู้เสนอ ต่อมาได้มีความต้องการจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ต้องการให้กลับมาใช้สูตร 100 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์สภาล่มในการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยถูกมองว่าเป็นการเกมยื้อเวลาให้พ้น 180 วัน เพื่อที่สูตรหาร 500 ที่โหวตก่อนหน้านี้จะได้ตกไป แล้วกลับไปใช้ร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามาในวาระแรก เพื่อกลับไปใช้สูตรหาร 100
ล่าสุดหลังการเปิดประชุมและให้แสดงตนเพื่อเป็นองค์ประชุม ปรากฏว่ามีผู้มาลงชื่อทั้งหมด 353 คน ไม่ครบองค์ประชุม ชวนจึงสั่งปิดการประชุม
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ilaw ระบุว่า ขณะที่หัวใจสำคัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. คือกำหนดระยะเวลา ‘180 วัน’ ซึ่งมีผลต่อเนื้อหาของร่างกฎหมาย และอาจนำไปสู่การพลิกกลับไปใช้สูตรหาร 100 ได้
ขณะที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 132 (1) กำหนดให้รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 ระบุรายละเอียดว่า 180 วันให้นับแต่วันที่ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ถ้าหากรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ไม่เสร็จภายใน 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป. ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง ซึ่งก็คือร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่เสนอโดย ครม.
ก่อนหน้านี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองแนวโน้มการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า หากองค์ประชุมไม่ครบ ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวมองว่าองค์ประชุมจะมีเพียง 320 คนเท่านั้น และเชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกคว่ำกลางสภา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากมีหลายพรรคไม่เห็นด้วย หรือหากกฎหมายผ่าน คิดว่าจะถูกตีตกในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ และจะไม่มีกฎหมายสำหรับเลือกตั้งที่ใช้สำหรับรับการเลือกตั้ง ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงหากมีเหตุการณ์ยุบสภาในช่วงนี้จะไม่สามารถเลือกตั้งได้ และนายกรัฐมนตรีจะสามารถรักษาการยาวได้ จึงคาดการณ์ได้ว่าหากปล่อยให้เป็นไปตามนี้จะทำให้รัฐบาลอยู่ยาว ผูกขาดอำนาจ และจะเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ 8 ปีที่ผ่านมาประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อวิกฤตการเมือง