×

กลยุทธ์ธนาคารพาณิชย์ไทยในวันที่ไม่เหมือนเดิม ปี 2564 นี้ต้องไปแบบไหน?

04.01.2021
  • LOADING...
กลยุทธ์ธนาคารพาณิชย์ไทย

HIGHLIGHTS

  • 3 แบงก์เร่งคุมหนี้เสีย เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งยืดระยะการผ่อนพร้อมเอื้อกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรมที่ยังได้รับผลกระทบ โฟกัสลูกหนี้มีคุณภาพ กรุงไทยหวังสินเชื่อปีหน้าโต 3% CIMBT เดินหน้าเจาะกลุ่มเวลธ์-สินเชื่อดิจิทัล กสิกรไทยชู Open Banking จับมือพันธมิตรดิจิทัลเพิ่มฐานลูกค้า
  • นายแบงก์ใหญ่รับธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ต้องปรับรูปแบบ-ควบรวมสาขาต่อไป และรีสกิลพนักงานให้ตรงความต้องการลูกค้าต่อเนื่อง

ธุรกิจธนาคารเร่งปรับตัวในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการเพิ่มเงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาทด้านดิจิทัลเพื่อสู้กับ Digital Disruption และ Non-Bank ทั่วโลก

 

แต่ยังไม่ทันพ้นคลื่นลูกแรก ปี 2563 นี้ก็เจอคลื่นโควิด-19 ซัดเข้ามาเป็นลูกที่สอง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทุกกลุ่มทั้งรายย่อย SMEs รายใหญ่ ซึ่งทุกกลุ่มล้วนเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) งดจ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อกลางปี 2563

แล้วปี 2564 ความเสี่ยงและกลยุทธ์สำคัญในปีนี้จะเป็นอย่างไร?

 

นายแบงก์พ้องเสียงธุรกิจธนาคารยังต้องใช้คน-เน้นควบรวมสาขา

 

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เล่าว่า บริการของธนาคารยังต้องใช้คนต่อไป เพราะพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงของลูกค้ายังมีตลอดเวลา และ AI ยังทำไม่ได้ทั้งหมด เช่น คนที่เปลี่ยนชื่อบ่อยๆ หรือการบริการในลูกค้าแต่ละรายที่นิสัยแตกต่างกัน เพื่อที่จะเข้าถึงและตอบรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคน 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันพนักงานมีอยู่ราว 19,000 คน แบงก์ต้องทำเรื่องรีสกิลพนักงานเหมือนที่ทำใน 2 ปีที่ผ่านมา เช่น การปรับพนักงานสาขาในออกสู่พื้นที่ลงสู่ตลาดให้บริการ ช่วยสอนใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ฯลฯ ส่วนนโยบายของสาขายังคงโจทย์เดิมคือ สาขาที่อยู่ใกล้กันเกินไปต้องควบรวม ลดลง จากปัจจุบันมีอยู่ราว 850 สาขา

 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เล่าว่า ฐานลูกค้าของกรุงไทยเป็นกลุ่มฐานราก ดังนั้นธนาคารยังต้องมีสาขาในพื้นที่ที่มีความต้องการแม้ว่าจะไม่ได้สร้างรายได้ในเชิงตัวเลข ขณะเดียวกันต้องมีคน หรือพนักงานที่มีความเข้าใจลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งที่สำคัญคือกรุงไทยจะไม่ปลดพนักงาน 

 

กลยุทธ์ธนาคารพาณิชย์ไทย

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) 

 

กสิกรไทย ประคองหนี้เสียในวิกฤต ธุรกิจไม่รอดแบงก์ไม่รอด

 

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เล่าว่า ภายใต้การแพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารต้องเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละราย โดยปัจจุบันมองว่าคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ในเดือนมีนาคม 2563 แม้ว่าการท่องเที่ยวจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ตอนนี้สินเชื่อธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ 12.1% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่

 

สถานการณ์ปัจจุบันภาคธุรกิจต้องตัดสินว่า จะรับการหดตัวต่อไปเพื่อรอนักท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาหรือจะทำอย่างอื่น ในส่วนของธนาคารเรื่องการบริหารจัดการหนี้ต้องยอมรับว่า วิกฤตนี้ต่างจากครั้งก่อนที่หนี้เป็นก้อนใหญ่ รายใหญ่ตัดขายได้ง่าย แต่ครั้งนี้เป็นหนี้รายย่อย SMEs บ้าน การตัดขายจะตั้งราคายาก ดังนั้นธนาคารจะเก็บไว้แล้วค่อยๆ บริหารจัดการไป ซึ่งการตัดขายหนี้ก็เท่ากับรายได้จะหายไปด้วย แต่จะควบคุม NPL ให้ไม่เกิน 4% 

 

ทั้งนี้ ในช่วงโควิด-19 จะมีเงินบางส่วนที่นำไปใช้ในโครงการช่วยเหลือลูกค้า จะส่งผลให้กำไรและรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงด้วย

 

ในส่วนปี 2564 ธนาคารยังต้องปรับตัวตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องคน สาขา และการดูแลหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเพิ่มความสามารถในการแยกแยะคนที่มากู้มากขึ้น ส่วนเรื่องการตั้งสำรองหนี้เสียมองว่าช่วงที่ผ่านมามีการตั้งสำรองในช่วง 3 ปีข้างหน้าแล้ว รวมถึงกลยุทธ์การเป็น Open Banking โมเดลที่จะเชื่อมพันธมิตร ใช้ข้อมูลจากแต่ละโมเดลมาสร้างรายได้

 

กลยุทธ์ธนาคารพาณิชย์ไทย

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB)

ปีหน้าฟ้าใหม่เมื่อกรุงไทยย้ำจุดยืนยังเป็น ‘ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ’ 

 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า แม้ว่ากรุงไทยจะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และในภาคปฏิบัติทุกอย่างยังเหมือนเดิม ธนาคารกรุงไทยยังเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐซึ่งมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และกระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่ 55% การตัดสินใจต่างๆ ยังมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และยังใช้เงินจากการหมุนเวียนธุรกิจกรุงไทยตามปกติ

 

ทั้งนี้ ปี 2564 ที่เศรษฐกิจปีหน้าจะยังไม่โต ดังนั้นเป้าหมายคือการประคองธุรกิจหลักให้โตต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพ ทั้งการดูแลหนี้เสียให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ดูแลลูกหน้ี การครอสเซลล์ รวมถึงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะสร้างรายได้ เช่น อินฟินิทัสที่จะรุกในธุรกิจดิจิทัล

 

ขณะที่มิติสินเชื่อปี 2564 ตั้งเป้าหมายว่าจะเติบโต 3% โดยจะลดต้นทุนระบบธนาคารพาณิชย์ที่ปัจจุบันสูงกว่า 40% ให้เหลือ 35% และในอนาคตจะลดลงเหลือ 32% เพื่อแข่งกับฟินเทค 

 

นอกจากนี้ต้องลงทุนด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องทั้งระบบออโตเมต เพื่อยกระดับการแข่งขันและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ซึ่งจะใช้เวลาน้อยลงและลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน อย่างไรก็ตามปี 2563 ตั้งงบด้านนี้ไว้ 14,000 ล้านบาท แต่ยังใช้ไปเพียง 7,000-8,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะติดช่วงโควิด-19

 

กลยุทธ์ธนาคารพาณิชย์ไทย

สุธีร์ โล้วโสภณกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)

 

CIMBT มองปี 2564 โอกาสของแบงก์ไม่ใหญ่ ชูกลยุทธ์บุกเวลธ์-สินเชื่อดิจิทัล

 

สุธีร์ โล้วโสภณกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ปี 2564 ยังมีความท้าทายมากขึ้น ทั้งจากคู่แข่งจะหันเข้ามาทำธุรกิจเวลธ์กันมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันด้านดิจิทัล แอปพลิเคชันแบงก์

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจปี 2564 ยังต้องพึ่งเครื่องยนต์หลักอย่างการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะต่ำกว่า 8 ล้านคน และเศรษฐกิจยังไม่สดใส

 

ในส่วนของธนาคาร การที่มีดิจิทัลเข้ามาจะช่วยแบงก์ที่ไม่ใหญ่มากให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ทำให้เป้าหมายหลักของปีหน้าจะมุ่งเน้นการขยายฐานเงินฝากและธุรกิจเวลธ์ และช่องทางดิจิทัลที่ขยายตัวขึ้น ขณะที่ลูกค้าสถาบันก็ยังมุ่งเน้นกลุ่มสนใจลงทุนในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเรามีจุดแข็งและมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจสินเชื่อในปีหน้ายังถือว่ายาก เพราะคุณภาพลูกหนี้ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คาดว่าสินเชื่อของธนาคารในปีหน้าจะเติบโต 3.5-4% ภายใต้การควบคุมหนี้เสียให้ไม่เกิน 5% ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมจะยังเติบโตมากกว่ารายได้ดอกเบี้ย 

 

ทั้งนี้ ปี 2564 ทางธนาคารจะขยายสินเชื่อดิจิทัล และกลุ่มลูกค้าแอ็กทีฟในช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีลูกค้าราว 400,000 ราย มียอดแอ็กทีฟราว 30-40% และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 70-80% 

 

สุดท้ายแล้วธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจรูปแบบเป็นตัวกลางมาตลอด แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการระดมเงินสู่การปล่อยสินเชื่อ ไปจนถึงการขยายบริการจับคู่ธุรกิจ หลังจากนี้ธนาคารยังต้องปรับตัวอีกมากท่ามกลางความท้าทายที่แปลกใหม่ขึ้นทุกที

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising