ปู ไปรยา ในชุด Atelier Versace ที่งานเปิดตัวภาพยนตร์ Rocketman
Photo: Loic Venance / AFP / Getty Images
“แกคิดอย่างไรกับชุด___ของ___ที่คานส์” คือหนึ่งในคำถามที่เพื่อนสนิทถามผมเร็วๆ นี้เกี่ยวกับ Cannes International Film Festival หรือที่ส่วนตัวผมอยากเรียกว่า Cannes International Red Carpet Festival เพราะดูจากประเด็นข่าวที่สื่อทั่วทุกมุมโลกเล่นกันตลอดเวลา
สำหรับช่องว่างในคำถามก็เติมคำได้ดังต่อไปนี้ครับ
-
- Ralph & Russo ของ ชมพู่ อารยา
-
- Jean Paul Gaultier ของ ชมพู่ อารยา
-
- Zuhair Murad ของ ชมพู่ อารยา
-
- Versace ของ ชมพู่ อารยา
-
- Versace ของ ปู ไปรยา
-
- Zuhair Murad ของ ปู ไปรยา
-
- Michael Cinco ของ ศรีริต้า เจนเซ่น
-
- Ashi ของ มิน พีชญา
-
- Ali Karoui ของ มิน พีชญา
-
-
- Asava ของ ซาร่า เล็กจ์
- Asava ของ โยเกิร์ต ณัฐฐชาช์
-
(กราบขออภัยถ้าชื่อไหนตกหล่น หรือมีดาราไทยคนไหนได้มาเดินเพิ่มในวันท้ายๆ ของงาน)
สำหรับคำตอบว่าชุดไหนที่ผมคิดว่าดูดีสำหรับพรมแดงคานส์ หรือดีสำหรับพรมแดง Disneyland ผมขอไม่พูดถึง เพราะนั่นไม่ใช่บริบทของบทความนี้ แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าคือ ‘ทำไมการไปคานส์ของดาราไทยจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ผู้คนดูตื่นเต้น’ ตั้งแต่กลางดึกข้ามไปอีกวัน เราจะเห็นข่าวนี้เต็มหน้านิวส์ฟีดเฟซบุ๊กไปหมด มันสะท้อนอะไรต่อสังคมเรา ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคสื่อ การทำสื่อ และตัวดาราเองที่ต้องการพื้นที่ข่าวในยุค Digital Disruption
อย่างแรก เราควรเข้าใจรากฐานความเป็นมาของเทศกาลภาพยนตร์คานส์กันก่อน
Cannes International Film Festival จัดครั้งแรกเมื่อปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง 1 ปี โดยคานส์มุ่งหวังจะเป็นเวทีสำคัญ เพื่อเชื่อมต่อภาพยนตร์ทุกประเภทและทุกระดับ ตั้งแต่หนังฟอร์มยักษ์ต้อนรับซัมเมอร์กับดาราเอลิสต์ของฮอลลีวูด ไปจนถึงหนังอาร์ตเฮาส์สายรางวัลที่ต้องการให้โลกได้รู้จัก และมาหานายทุนเพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ไปฉายในที่ต่างๆ
โดยตลอด 73 ปีที่ผ่านมา คานส์ก็ได้วิวัฒนาการตัวเองจนเทียบเท่าเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ อาทิ Sundance Film Festival, SXSW, Berlin Film Festival, Venice Film Festival และ Toronto Film Festival แต่บทบาทของคานส์กลับไม่ได้ถูกมองในเชิงเป็นประตูเบิกทางสู่เวทีออสการ์หรือรางวัลอื่นๆ มากนัก แม้จะมีการแจกรางวัล Palme d’Or หรือปาล์มทองคำก็ตาม แต่ตลอด 12 วันของเทศกาล กลับกลายเป็นงานมหกรรมเชิงพาณิชย์ กับงบการจัดงานเกิน 20 ล้านยูโร และสื่อจำนวนหลายพันคนที่ไปร่วมทำข่าว ซึ่งมีเรื่องราวของ ‘แฟชั่น’ และ ‘ความงาม’ กลายเป็นตัวดำเนินงาน และเป็นสิ่งที่คนต้องพูดถึงตลอดเวลา โดย 3 ใน 6 สปอนเซอร์หลักของงาน ก็มาจากแบรนด์เหล่านี้ ทั้ง L’Oreal ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 ตั้งแต่เริ่มเป็นสปอนเซอร์ในปี 1997, กลุ่มลักชัวรี Kering ที่เป็นเจ้าของ Gucci และ Saint Laurent ที่เซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2015-2020 และแบรนด์เครื่องประดับสัญชาติสวิสอย่าง Chopard ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ปี 1998
มิน พีชญา ในชุด Ali Karoui ที่งานเปิดตัวภาพยนตร์ Pain and Glory
Photo: Stephane Cardinale-Corbis / Corbis / Getty Images
ในยุคสมัย Pre-Instagram, Pre-Twitter, Pre-Facebook งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ก็จะมีความเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะกลุ่มที่เน้นคนดังฝั่งตะวันตกมากกว่า โดยเราจะได้เห็นภาพวันต่อมาในหนังสือพิมพ์หรือรายการบันเทิงต่างประเทศเป็นหลัก แต่พอโซเชียลมีเดียได้เข้ามา Disrupt ชีวิตมนุษย์ทุกคน และเชื่อมต่อแบบ Digital Globalization จนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งอิทธิพลสูงสุด สิ่งนี้ก็ได้เปิดประตูและผลักดันให้คนในทวีปเอเชียหรือที่แต่ก่อนถูกมองว่า ‘โลกที่สาม’ ได้ก้าวไปอยู่ในภูมิทัศน์ของ ‘โลกที่หนึ่ง’ ได้
โดยระบบการจัดการของคานส์ ภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่มาเปิดตัวรอบปฐมทัศน์ ทางทีมงาน นักแสดง และผู้กำกับ จะได้รับเชิญให้ไปเดินพรมแดงอย่างแน่นอน รวมถึงบรรดาคณะกรรมการของแต่ละปีก็จะมีสิทธ์ิเดินพรมแดงเช่นกัน ซึ่งในปีนี้เราได้เห็น แอล แฟนนิง มาเดินและกวาดกระแสกับชุดต่างๆ ที่ผมคิดว่าเพอร์เฟกต์ไปหมด เพราะเธอคือหนึ่งในกรรมการร่วมกับ ยอร์กอส ลานธิมอส, โรบิน แคมปิลโล, อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู, ไมมูนา เอ็น ได, เคลลี เรชาร์ดต์, อลิซ รอห์วอเชอร์ และ ปาเวล ปอว์ลิโกว์สกี แต่เพราะคานส์เป็นงานที่มีสปอนเซอร์มากมาย และได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมของการสร้างสรรค์ Buzz และโมเมนต์ไวรัลต่างๆ เพื่อให้เป็นที่พูดถึงอยู่ตลอดเวลา หลายแบรนด์ก็จะได้โควตาตั๋วสำหรับช่วงพรมแดงของพรีเมียร์ภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ซึ่งแต่ละเจ้าก็ต้องคิดให้ดีว่า จะเชิญใครมาและจะทำการตลาดอย่างไร อย่างเช่น Chopard, L’Oreal หรือ Kering ที่แน่นอนมีโควตาตั๋วสูงสุด ก็ต้องวางแผนว่าจะให้แบรนด์แอมบาสเดอร์คนไหนจากประเทศอะไรเดินรอบไหน และอย่างไรถึงจะการันตีได้ว่าอิมแพ็กสุดๆ อย่างเช่น ถ้าให้ไปเดินพรีเมียร์ภาพยนตร์ Once Upon A Time ของ เควนติน ทาร์เรนติโน กระแสก็อาจจะจมหาย เพราะทุกคนไปโฟกัสที่ แบรด พิตต์, ลีโอนาโด ดิคาปริโอ และ มาร์ก็อต ร็อบบี้ แต่ถ้าให้แบรนด์แอมบาสเดอร์ไปเดินพรีเมียร์ของหนังนอกกระแสหรือหนังฝรั่งเศสบ้านเกิดของงาน ที่ไม่มีดาราระดับเอลิสต์มากมาย ก็อาจทำให้แบรนด์โดดเด่นขึ้นมาได้
ซึ่งแน่นอนว่า หลายสปอนเซอร์หลักของงานหรือแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสอย่างเครื่องสำอาง Dior Beauty หรือแชมเปญ Piper-Heidsieck ในเครือบริษัทแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ Rémy Cointreau จะมีโควตาบัตรเชิญ ซึ่งทางแบรนด์ก็ได้เลือกคนไทยให้ไปร่วมงาน เพื่อทำการตลาด และใช้เป็นวิธีโปรโมตสินค้าในไทยไปในตัว ซึ่งผมมองว่า ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่มองข้ามไม่ได้ เพราะสังคมเรายังดูตื่นเต้นกับการที่คนดังไปเดินพรมแดงงานระดับโลก และจะนำไปแชร์ในโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็วิน-วินสำหรับแบรนด์ที่ต้องการพื้นที่สื่อ
แต่พอมาดูในบริบทของ ‘แฟชั่น’ หลายคนก็อาจสงสัยว่า พองานในประเทศไทยเอง เหล่าดาราก็ไปถ่ายแบบลงเล่มนิตยสารเล่มหัวนอก ไปงานเปิดตัวร้าน หรือเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ของแบรนด์ลักชัวรีเป็นว่าเล่น ซึ่งก็ได้มีโอกาสใส่ชุดคีย์ลุคต่างๆ แต่ทำไมตอนไปงานพรมแดงที่คานส์ถึงใส่แบรนด์ที่ชื่ออาจไม่ได้คุ้นหูนัก และไม่ได้มาจากกลุ่มเครือ LVMH หรือ Kering ซึ่งก็ต้องเข้าใจความซับซ้อนว่า พอคานส์เป็นเวทีระดับโลก การจัดอันดับก็ไม่ได้วางดาราไทยอยู่ในลิสต์ระดับต้นๆ และในหลายครั้ง แบรนด์จะไม่ให้ใส่ชุดเลยด้วยซ้ำ เพราะคุณไม่ใช่ เคท แบลนเชตต์, ริฮานนา และ เบลลา ฮาดิด หรือเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ที่คนรู้จักทั่วโลก ยกเว้นแต่จะเป็นดาราจีนอย่าง หลีอวี่ชุน ที่ได้ใส่ชุดของแบรนด์ตั้งแต่ Givenchy, Gucci และ Balmain Couture เพราะประเทศจีนก็คือมหาอำนาจและตลาดใหญ่สุดของเสื้อผ้าลักชัวรีแล้วในตอนนี้ หรืออีกกรณีกับการที่ ออกแบบ ชุติมณฑน์ ไปเดินพรมแดงเมื่อปีก่อน และใส่ชุดแบรนด์ Chanel ที่เธอเป็น Friend of The House
ศรีริต้า เจนเซ่น ในชุดของ Michael Cinco ที่งานเปิดตัวภาพยนตร์ Rocketman
Photo: Edward W.J. Smith / Getty Images
และดาราไทยจะทำอย่างไร? อย่างแรกที่ผมสังเกตก็คือ หลายคนพยายามเลือกแบรนด์ห้องเสื้อกูตูร์ที่พอชื่อปรากฏในข่าว คนก็จะพอรู้จัก อย่างเช่น Zuhair Murad, Ellie Saab, Giambattista Valli, Jean Paul Gaultier, Julien McDonald หรือ Ralph & Russo แต่กว่าดาราไทยจะมีโอกาสใส่แบรนด์พวกนี้ก็ต้องพึ่งพาอาศัยคอนเน็กชัน และต้องไปงานระดับโลกหลายครั้ง เพื่อให้โปรไฟล์ดูผ่าน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การสร้างดราม่าฟูฟ่องแฟนตาซี ด้วยการใส่ชุดห้องเสื้อ Michael Cinco ของดีไซเนอร์ชาวฟิลิปปินส์ ที่ทำงานอยู่ในดูไบ (โด่งดังจากชุดที่ ไอศวรรยา ราย อดีต Miss World ปี 1994 เคยใส่ออกงาน)
พอมีบัตรเชิญแล้ว ชุดเพียบพร้อมแล้ว มีที่พักแล้ว ก็ต้องเช็กอินว่าอยู่ที่ ‘Hotel Martinez In The Unbound Collection By Hyatt’ พอถึงเวลาไปงานพรมแดง ซึ่งคุณจะเจอกับกองทัพช่างภาพที่จะตะโกนใส่ “Kendall This Way!” อยู่ตลอดเวลา โดยจะไม่มีผู้สื่อข่าวมาจ่อไมค์สัมภาษณ์ใดๆ และตัวดาราเองก็ห้ามถ่ายภาพกับโทรศัพท์มือถือหรือถ่ายเซลฟี ยิ่งไปกว่านั้นก็จะมี MC ประกาศรายชื่อของคนที่กำลังเดินพรมแดง พร้อมโปรไฟล์สั้นๆ ว่าเป็นใคร ซึ่งพอคุณไปยืนโพสก็จะมีเวลาไม่นานนัก และต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่า กล้องมีสิทธ์ิจะแพลนไปหาคนอื่นแทน นั่นอาจทำให้จำนวนรูปใน Getty Images ที่คุณรอโพสต์ในอินสตาแกรมพร้อมลายน้ำ (ที่ไม่มีงบซื้อ หรืออยากให้คนรู้ว่าได้ลง Getty Images?) ก็อาจไม่ได้มีมากนัก หรือได้มุมที่ดีที่สุด
เดินพรมแดงเสร็จปุ๊ป ก็ถึงเวลาทำข่าว ซึ่งการที่ดาราไทยจะได้ไปลงสื่อต่างประเทศก็ถือว่าแล้วแต่ดวงจริงๆ และต้องทำใจอีกครั้ง หากจะไปอยู่ในข่าว พร้อมเฮดไลน์ว่า ‘The Craziest Outfits at Cannes’ และถ้าสังเกตดีๆ บางแบรนด์ทางทีม Global Communications ก็อาจไม่ได้เอาภาพดาราบ้านเราไปโพสต์ในอินสตาแกรมของแบรนด์เสมอไป ซึ่งก็เป็นช่องทางสำคัญมาก แต่เพราะเหตุผลอะไร อันนั้นผมคงตอบไม่ได้
แต่แน่นอน พอมาอยู่ในข่าวไทย ดาราเหล่านี้ก็จะได้พื้นที่สื่อทันที ชนิดที่ว่าดาราเพิ่งเดินพรมแดง พอขึ้นบันไดตอนท้ายเสร็จ ก็มีรูปพร้อมเนื้อข่าวอัปเดตลงเว็บแบบเรียลไทม์ (ผมอยากรู้ว่า เขามีโอกาสได้อยู่ต่อ และเข้าไปดูภาพยนตร์ที่ฉายข้างในไหม?) และแค่ในไลน์ของผมในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีพีอาร์ส่งภาพข่าวพร้อมแคปชันว่า ‘สวยปัง สวยสังหาร ทะลุพรมแดง’ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นสีสันในการทำข่าวประเภทหนึ่ง ที่เป็นขุมทรัพย์ของยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดวิวในยุค Clickbait
ชมพู่ อารยา ในชุดของ Ralph & Russo ที่งานเปิดตัวภาพยนตร์ The Dead Don’t Die
Photo: Matt Winkelmeyer / Getty Images
ส่วนดาราไทยที่ผมคิดว่าวางแผนกลยุทธ์ได้เก่งที่สุดก็ยังคงหนีไม่พ้น ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่จะให้เรียกว่า Thai Queen of Cannes ก็น่าจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งมาในปีนี้ เธอและทีมงานก็วางหมากได้อย่างแยบยลมีชั้นเชิงตามเคย
-
- วันที่ 10 พฤษภาคม แถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ L’Oreal ไปเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ไทย
- เชิญสื่อมวลชนทำข่าวที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเตรียมตัวบินไปคานส์ในวันที่ 13 พฤษภาคม
- เดินพรมแดงเทศกาลคานส์ที่จัดบริเวณ Palais des Festivals et des Congrès วันที่ 14-17 พฤษภาคม รวมแล้วทั้งหมด 4 พรมแดง
- ไปร่วมงานต่างๆ ของเครื่องประดับ Chopard ที่ล่าสุด ชมพู่ได้กลายเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์อย่างเป็นทางการ
- ถ่ายคอนเทนต์ต่างๆ ในแต่ละวัน เพื่อฟีดตามแพลตฟอร์มต่างๆ ของนิตยสาร L’Officiel ที่ทำร่วมกับบริษัท KOL ที่ชมพู่เป็นหุ้นส่วน และมี Samsung รุ่น Galaxy S10 เป็นสปอนเซอร์ด้วย
- ถ่ายคอนเทนต์ต่างๆ สำหรับ L’Oreal Paris ที่มีการทำ Digital Activation เช่น ทำรายการไลฟ์บนเพจเฟซบุ๊กตัวเอง ที่ถ่ายทอดส่งตรงจากคานส์ และมีการถอดรหัสลุคต่างๆ ในแต่ละวัน เพื่อเป็นการโปรโมตสินค้าที่มีให้ซื้อ
โดยสิ่งเหล่านี้ได้สร้างยอดในเชิงหัวข้อข่าวและเอ็นเกจเมนต์มากมาย โดยเฉพาะในปีนี้ เธอได้พาลูกฝาแฝดขวัญใจมหาชนอย่างสายฟ้ากับพายุไปคานส์ด้วย ซึ่งการปรากฏตัวของเจ้าตัวน้อยทั้งสองตามออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอ็กเคานต์อินสตาแกรมของชมพู่เอง @chomismaterialgirl ที่มียอดผู้ติดตาม 8.5 ล้าน, ผู้จัดการหวานเจี๊ยบ ที่มีการฟีดคอนเทนต์มากมาย พร้อมรายการตัวเองในยูทูบ หรือเพื่อนสนิท พลอย ชวพร ที่มีการถ่ายรูปทั้งสองตลอดเวลา พร้อมใส่แฮชแท็ก #snapbyploychava ทั้งหมดก็เพิ่มมูลค่าและเรตติ้งให้แบรนด์ Araya at Cannes ได้อย่างมหาศาล ทำให้คนอยากติดตาม และรู้ว่า หากเธอไปปีหน้าอีก เราจะได้เห็นเวอร์ชันและบริบทอะไรของชมพู่ตามมาอีก
เรื่องหนึ่งที่ผมชื่นชมในมุมมองแฟชั่นคือ การสร้างกราฟและองค์ประกอบภาพรวมของลุคพรมแดงที่ชมพู่และทีมคิดมาดี อย่างเช่น ลุคเปิดตัววันแรกของ Ralph & Russo ก็ฉลาดที่จะเลือกอะไรที่สร้างอิมแพ็กและดราม่าได้ทันที พร้อมเป็นมีมแบบเน็ตไอดอลคุณภาพตามสโลแกนที่ชมพู่ชอบใช้ แม้จะดูใส่ยาก และบางคนอาจไม่เข้าใจเลย แต่พอมาวันที่สองก็ฉีกมาเป็นสาวเย้าย้วนฉบับ Versace ก่อนที่วันที่สามจะมาแบบเรียบหรูคลาสสิกในชุด Zuhair Murad ที่สาวๆ หลายคนต้องใฝ่ฝันอยากใส่สักครั้ง และปิดท้ายด้วย Jean Paul Gaultier สีแดง ที่มีความ Avant-Garde ซึ่งทั้งหมดผมอาจตีความไปเองและคิดไปไกล แต่ผมรู้สึกว่า ชมพู่กำลังใช้แฟชั่นที่คานส์ไม่เพียงแค่เรื่องของ ‘ความบันเทิง’ และ ‘ความสวยงาม’ เท่านั้น แต่กำลังเสนอว่า ผู้หญิงสมัยนี้ก็มีบทบาทมากมายที่มาได้ในหลากหลายลุค หลากหลายรูปแบบ ทั้งยังสนุกได้ด้วย ซึ่งผมเองก็หวังว่า ปีต่อๆ ไปเธอจะเติบโตและขยายขอบเขตของลุคพรมแดงไปเรื่อยๆ โดยส่วนตัวผมคิดว่าจะโคตรเท่ หากเธอลองใส่ชุดสูทสักครั้ง
ซาร่า เล็กจ์ และ โยเกิร์ต ณัฐฐชาช์ ในชุดของ Asava ที่งานเปิดตัวภาพยนตร์ A Hidden Life พร้อมดีไซเนอร์ พลพัฒน์ อัศวะประภา
แต่หากถามว่าวันนี้ผมตื่นเต้นไหมกับการได้เห็นดาราไทยไปเดินพรมแดงที่คานส์? ผมขอตอบตรงๆ ว่า ไม่ เพราะถึงตอนนี้แล้ว เราได้เห็นผู้หญิงไทยคนหนึ่งได้ไปโชว์ที่เทศกาลดนตรี Coachella ร่วมกับเพื่อนชาวเกาหลีอีกสามคน หรือจะเป็นสาวไทยลูกครึ่งนอร์เวย์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์อันดับหนึ่งของโลก จนกวาดยอดแฮชแท็กและเอ็นเกจเมนต์เทียบเท่าหรือมากกว่า เอ็มมา สโตน หรือ อลิเซีย วิกันเดอร์ นั่นแหละคือความสำเร็จระดับสากล นั่นแหละคือการที่เราสามารถใช้ประโยคที่ว่า ‘คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก’ ได้จริงๆ และถ้าจะให้ผมเลือกปีที่รู้สึกว้าวจริงๆ ก็ต้องเป็นตอน หญิง-รฐา โพธิ์งาม ไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์คานส์ปี 2013 ในฐานะนักแสดงภาพยนตร์ Only God Forgives ได้เดินทั้งพรมแดงและถ่ายภาพช่วง Photocall ซึ่งเป็นสิทธิ์ของดาราที่ภาพยนตร์มาพรีเมียร์เท่านั้นที่จะได้ถ่ายภาพโดยกองทัพช่างภาพ และมีพื้นหลังเป็นทะเล French Riviera โดยในประวัติศาสตร์ก็มีเพียง หญิง รฐา และกิ๊บซี่ วนิดา ตอนเธอไปโปรโมตหนังเรื่อง นางไม้ ของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง
ผมเชื่อว่า ต่อไปงานเทศกาลภาพยนตร์คานส์ก็ยังต้องได้รับความนิยมอย่างแน่นอน และเราจะได้เห็นดาราไทยทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ต่างพาเหรดไปเดินอวดโฉมตัวเอง แต่สิ่งที่จะทำให้ผมตื่นเต้นมากกว่านี้คือ การที่เราได้รับเชิญไปงานเพราะผลงานการแสดง ผลงานการกำกับ หรือเป็นส่วนหนึ่งของผลงานอะไรก็ตามแต่ที่ได้ไปเปิดตัวที่คานส์ เพราะไม่ว่าอย่างไร งานนี้ก็คือเทศกาลภาพยนตร์ในสายตาผม
Cover Photo: Gareth Cattermole / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติรีสกุล
อ้างอิง: