×

เชื่อหรือไม่ ‘ตลาดรถยนต์ไทย’ ปี 2563 (อาจ) มียอดขายรวมแค่ 5 แสนคัน สึนามิจากวิกฤตโควิด-19 ที่ก่อตัวอย่างเงียบงัน

โดย THE STANDARD TEAM
11.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในส่วนของ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดนแรงกระแทกโดยตรงอย่างหนักหน่วงในลำดับต้นๆ ของวิกฤตคราวนี้ 
  • ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ละค่ายมีการประเมินตลาดรถยนต์ไทยรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9.3-9.5 แสนคัน คาดว่าจะลดลงจากปีที่แล้วราว 5-7% ทว่าเมื่อเกิดการระบาด ‘รถยนต์’ จึงกลายเป็นสินค้าลำดับแรกของผู้บริโภคที่จะชะลอการซื้อด้วย เนื่องจากมีราคาสูงและยังไม่จำเป็นใช้งานเร่งด่วนขณะนี้ ยอดขายรวมจึงมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ถึง
  • หลายค่ายต่างอัดโปรโมชันอย่างรุนแรงเพื่อดึงกำลังซื้อ เพราะไม่แน่ว่าปี 2563 ยอดขายรวมของตลาดรถยนต์ไทยอาจจะจบที่ 5 แสนคันก็ได้ ใครจะไปรู้

“ถ้าตอนต้นปีมีใครบางคนบอกคุณว่าตลาดรถยนต์ไทยจะมียอดขายรวมที่ 5 แสนคันในปีนี้ ทุกคนคงบอกว่าเขาเสียสติ แต่ ณ นาทีนี้ตัวเลขดังกล่าวคือสิ่งที่ทุกคนในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังกลัวว่ามันจะเกิดขึ้น” 

 

จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดจนส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วทั้งโลก ทั้งวิถีชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดนแรงกระแทกโดยตรงอย่างหนักหน่วงในลำดับต้นๆ ของวิกฤตคราวนี้ 

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น… 

 

ภาพ: โตโยต้า

 

ผลิตรถยนต์ตามการประเมิน ไม่ใช่ตามคำสั่งซื้อ

ลำดับแรกมาทำความเข้าใจถึงลักษณะและโครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์กันก่อน โดยพื้นฐานการผลิตรถยนต์นั้นจะเป็นการทำนายอนาคตว่าจะผลิตรถรุ่นใด จำนวนเท่าไร มิใช่การผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (ยกเว้นรถหรูหรา เฉพาะกลุ่มที่มีราคาแพง) 

 

แต่จะเป็นการผลิตล่วงหน้ามารอให้ลูกค้าซื้อได้ทันที ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงหากวางแผนผิดพลาด ซึ่งจะเห็นได้บ่อยจากคำว่า ‘รถค้างสต๊อก’ เนื่องจากผลิตมาแล้วไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ เมื่อรถยนต์ออกจากโรงงานจะทำการซื้อขายผ่านระบบตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ ลูกค้าไม่สามารถซื้อตรงผ่านบริษัทผู้ผลิตได้ ถือเป็นลักษณะพื้นฐานของอุตสาหกรรมนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทผู้ผลิตในการสต๊อกสินค้า โดยภาระสต๊อกจะอยู่กับดีลเลอร์ส่วนหนึ่งและอยู่กับผู้ผลิตอีกส่วนหนึ่ง

 

สำหรับแผนการผลิตนั้น โดยปกติจะมีการวางแผนล่วงหน้าทั้งปี และรถยนต์แต่ละรุ่นจะมีการวางแผนการผลิตล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 ปี โดยในปี 2563 ช่วงต้นปีที่ผ่านมาแต่ละค่ายมีการประเมินตลาดรถยนต์ไทยรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9.3-9.5 แสนคัน คาดว่าจะลดลงจากปีที่แล้วราว 5-7% (ปี 2562 มียอดขาย 1,007,552 คัน) แต่ละค่ายจะมีแผนงานต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น 

 

“โตโยต้าตั้งเป้ายอดขายในประเทศปี 2563 ไว้ที่ 3.1 แสนคัน ลดลง 6.7% ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 33% และจะมียอดส่งออก 2.63 แสนคัน ลดลง 1% โดยจะมีการผลิตทั้งหมด 5.56 แสนคัน” คำกล่าวของ มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่บอกต่อสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวยอดขายประจำปีของโตโยต้า 

 

ภาพ: โตโยต้า

 

หมายความว่าปีนี้โตโยต้าวางแผนผลิตรถทั้งปีที่ระดับ 5.56 แสนคัน และไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมรวมตัวเลขเป้ายอดขายและส่งออกแล้วไม่เท่ากับยอดผลิต เพราะการผลิตจะวางแผนล่วงหน้าให้สอดคล้องกับสต๊อกที่มีอยู่ไม่ให้เหลือมากจนเกินไปนั่นเอง 

 

โควิด-19 มา ตลาดช็อก

เมื่อเกิดภาวะวิกฤตโรคระบาดอย่างที่เราทราบกัน แม้รถยนต์จะถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีความสำคัญและจำเป็นในการใช้งาน แต่เมื่อมีคำสั่งปิดเมือง ให้ทุกคนอยู่กับบ้าน ลดการเดินทางหรือติดต่อกัน ฉะนั้นรถยนต์จึงกลายเป็นสินค้าแรกที่รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากถูกจำกัดการใช้งาน

 

ประการต่อมา เมื่อหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตถูกจำกัดและร้องขอตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง กระแสเงินสดในมือจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสำรองเอาไว้ใช้ 

 

ดังนั้น ‘รถยนต์’ จึงกลายเป็นสินค้าลำดับแรกของผู้บริโภคที่จะชะลอการซื้อด้วย เนื่องจากมีราคาสูง และยังไม่จำเป็นใช้งานเร่งด่วนขณะนี้

 

ยอดขายหด หยุดผลิต

สำหรับผลกระทบแบบชัดเจนแสดงอยู่ในยอดขายของเดือนมีนาคม 2563 ช่วงเริ่มต้นของวิกฤตในประเทศไทยที่มียอดขาย 60,105 คัน ลดลง 41.7% (เทียบกับเดือนมีนาคม 2562 มียอดขาย 103,164 คัน) หรือหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง 

 

ขณะที่ยอดขายไตรมาสแรก มกราคม-มีนาคม 2563 มียอดขายทั้งสิ้น 200,064 คัน ลดลง 24.1% (เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 มียอดขาย 263,549 คัน) 

 

เมื่อสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนไปอย่างเหนือความคาดหมาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันทีคือสต๊อกรถที่ผลิตมาแล้วตามแผนที่วางเอาไว้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทันที ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคืออย่าเพิ่มปริมาณสินค้าใหม่ จึงเป็นที่มาของการหยุดผลิตอย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับวิกฤตการณ์ 

 

ประกอบกับการที่มีรายงานข่าวก่อนหน้าว่าพนักงานฝ่ายผลิตในโรงงานประกอบรถยนต์บางแห่งติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ค่ายรถยนต์ชั้นนำต่างประกาศหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราวโดยไม่ลังเลตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยหยุดผลิตจนถึงวันที่ 30 เมษายน 

 

 

ล่าสุดแต่ละค่ายที่หยุดการผลิตนั้นได้มีการขยายเวลาต่อไป โดยนิสสันขยายการหยุดผลิตถึง 31 พฤษภาคม, โตโยต้าหยุดต่อถึง 23 พฤษภาคม และมิตซูบิชิหยุดต่อถึง 17 พฤษภาคม มีเพียงฮอนด้าที่กลับมาผลิตอีกครั้งในเดือนนี้ และอีซูซุที่กลับมาเริ่มผลิต แต่ลดจำนวนการผลิตลงเหลือพนักงานเพียงกะเดียว จากปกติสองกะคือกลางวันและกลางคืน

   

อนึ่ง การหยุดผลิตของโรงงานประกอบรถยนต์ยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทขนส่ง และคู่ค้าต่างๆ ที่ต้องหยุดกิจการตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นผลกระทบกว้างมาก

 

อัดแคมเปญ กู้ยอดขาย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยอดขายดังกล่าวนั้นคือช่วงแรกของการเกิดวิกฤตที่ยอดจองบันทึกไว้ก่อนมีวิกฤต ดังนั้นยอดจองและส่งมอบช่วงวิกฤตจริงจะต้องดูที่ตัวเลขของเดือนเมษายน 2563 ที่ยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการออกมา

 

แต่ข้อมูลที่ได้รับมาขณะเขียนบทความนี้แบบไม่เป็นทางการ ยอดขายรถยนต์เดือนเมษายนจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 คัน เมื่อมองเทียบกับเดือนเมษายน 2562 ที่มียอดขาย 86,076 คัน 

 

นั่นแปลได้ว่ายอดขายหายไปมากถึงกว่า 60%

 

เมื่อยอดขายหดหนัก รถจอดนิ่งในสต๊อกจำนวนมาก จึงต้องใช้ยาแรงชุดสอง ‘อัดแคมเปญลดราคา’ ทำให้เราได้เห็นแคมเปญลดราคากระหน่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนจากหลายค่าย 

 

โดยเฉพาะค่ายนิสสันที่ออกแคมเปญพิเศษลดราคารุ่นเอ็กซ์เทรลสูงสุดมากกว่า 6 แสนบาท (ราว 40% จากราคาเต็ม) ที่แม้จะจำกัดเงื่อนไขมอบให้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องโควิด-19 แต่สามารถขายหมดสต๊อกในเวลาไม่ถึง 3 วัน

 

ภาพ: นิสสัน

 

อย่างน้อยการเคลียร์สต๊อกสำเร็จดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้ออยู่ ใจชื้นขึ้นมาบ้าง

 

ขณะที่แบรนด์อื่นๆ เราได้เห็นการลดราคาหลักแสนกันแทบทุกแบรนด์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป แต่อาจจะไม่หนักหน่วงเท่ากับนิสสัน  

 

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อมองไปยังข้างหน้า อารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ดูแนวโน้มแล้วกว่าจะสดใสได้คงต้องรอจบเรื่องไวรัสก่อน ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อใด อย่างไร ดังนั้นในระหว่างที่วิกฤตยังดำเนินอยู่ เราอาจจะได้เห็นการอัดแคมเปญที่หนักหน่วงขึ้นอีก หากยอดขายยังไม่ฟื้นตัวกลับมา

 

แย่ที่สุด 5 แสนคัน 

สมมติว่าภาพรวมยอดขายที่แย่ที่สุดคือเดือนเมษายน หากเดือนอื่นๆ ขายได้เท่ากันที่ระดับ 30,000 คัน ไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้และยืนระยะไปจนถึงสิ้นปี ตัวเลขสรุปรวมทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 5 แสนคันได้ แต่แน่นอนว่าทุกค่ายไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น ทุกคนอยากเห็นตัวเลขมากกว่านี้ เพราะนี่คือยอดขายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการวางแผนผลิตสูงถึงครึ่งต่อครึ่ง  

 

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองไปที่การผลิตรถยนต์และความอยู่รอดของโรงงานประกอบรถยนต์ในห้วงเวลานี้ถือว่าน่ากังวลมิใช่น้อย เนื่องจากปัจจุบัน 50% ของการผลิตรถในประเทศไทยนั้นผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกประสบกับวิกฤตการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกัน ทำให้ยอดส่งออกหายไปเหมือนกัน

 

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงกลายเป็นผลลบสองเด้ง แนวโน้มหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งที่ขณะนั้นการส่งออกรถยนต์ยังคงดำเนินไปได้ ช่วยประคองการผลิตให้คงอยู่ ดุจดั่งเส้นเลือดบายพาสหัวใจของอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคนั้น

 

 

ถึงบรรทัดนี้ สิ่งที่น่ากังวลที่จะตามมาหลังยอดขายหดตัวอย่างรุนแรงคือการลดกำลังการผลิต ซึ่งนั่นหมายถึงการลดคนงาน ลดจำนวนสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตทั้งหมด รวมถึงดีลเลอร์ที่จะต้องรัดเข็มขัดเพราะรายได้จากการขายหายไป 

 

มองจากตรงนี้เหมือนเรากำลังเห็น ‘สึนามิ’ ก่อตัวและเตรียมถล่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่นอนรออยู่ในห้องไอซียูริมทะเล…

 

แน่นอนว่าหากสึนามิมาถึง ทุกคนทำได้เพียงหนีเอาตัวเองให้รอด ฉะนั้นทางรอดเดียวของอุตสาหกรรมยานยนต์จึงมีชื่อว่า ‘วัคซีนโควิด-19’

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยจากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X