×

เสวนาไทยไม่ทน สุรพงษ์-จาตุรนต์-สมชัย แท็กทีมชี้ความล้มเหลวรัฐบาลประยุทธ์บริหารสถานณ์โควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
09.05.2021
  • LOADING...
เสวนาไทยไม่ทน

วันนี้ (9 พฤษภาคม) ที่ห้องประชุมไทยไม่ทน สถานีพีซทีวี ได้มีการจัดเวทีอภิปรายออนไลน์ ไทยไม่ทน โดยคณะสามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย ขณะที่ในช่วงอภิปรายพิเศษไฮไลต์ประจำวัน มีการเสวนาเรื่อง ‘ความล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ กับการบริหารบ้านเมืองผิดพลาดในสถานการณ์โควิดระบาด’ ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินรายการโดย โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง

 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า โควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ เป็นครั้งแรกที่มีโรคระบาดที่ระบาดทั่วทั้งโลกอย่างรุนแรง แต่ไวรัสนี้ไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่ จากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องของไข้หวัดนก หรือซาร์ส ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีนที่พบเชื้อนี้ เมื่อเป็นโรคใหม่ ก็มีความเห็นจากหมอ แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ คาดว่ารุนแรงมากและคาดว่าไม่รุนแรง แต่ส่วนตัวตนเองคิดว่าจะรุนแรง ประเทศไทยเราเคยมีประสบการณ์การรับมือกับโรคระบาดแล้วหลายครั้ง แต่ก็ผ่านระยะเวลามาค่อนข้างนาน บุคลากรที่มีประสบการณ์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำงานแล้ว ทั้งนี้ตนคิดว่าประสบการณ์การรับมือกับโรคระบาดสามารถถ่ายทอดกันได้ ในอดีตเราเคยบริหารจัดการได้ดีโดยไม่ต้องใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในช่วงการระบาดของไข้หวัดนกและไข้หวัด 2009 

 

นพ.สุรพงศ์ กล่าวต่อว่า ตนได้เคยให้ความเห็นแต่ต้นแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในประเด็นด้านสาธารณสุข เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเท่านั้นในการจัดการปัญหาโรคระบาด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เหมาะสมกับการใช้ในด้านความมั่นคงการเมืองเท่านั้น และการใช้ความมั่นคงมาจัดการปัญหาด้านสาธารณสุข ไม่ใช่เรื่องที่สมควร ในช่วงของการระบาดระลอกแรก มีผู้ออกมาคำนวณว่าหากไม่ทำการล็อกดาวน์อาจทำให้เกิดการระบาดถึง 3 แสนคน ซึ่งตนไม่เห็นด้วย และเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น เนื่องจากมิได้เป็นไปตามหลักการทางด้านระบาดวิทยา ประเทศไทยเรามีกลไกด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งมาหลายปี ในระลอกแรกหลังจากเริ่มเข้าที่ก็สามารถควบคุมได้ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาได้ผล ซึ่งเมื่อได้ผลก็สมควรที่จะคลายล็อกดาวน์ได้แล้ว แต่ ณ เวลานั้นกระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจ เป็น ศบค. ที่ควบคุมอยู่ ซึ่งแม้จะเสนอไปแล้วก็ไม่ได้รับการตอบรับ ยังคงล็อกดาวน์ ด้วยผู้รับผิดชอบ ศบค. เป็นข้าราชการ มีเงินเดือน ไม่ได้รับผลกระทบ จึงไม่รีบตัดสินใจ จนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงให้กับประเทศ ประชาชนทั่วไป แม้จะมีการเยียวยาก็ตาม 

 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นก็ได้มีการระบาดระลอกสอง จากรูรั่วของระบบราชการ ทำให้มีผู้ติดเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางผ่านชายแดนเข้าประเทศมาได้ โดยไม่มีการตรวจสอบ แต่ก็สามารถควบคุมได้ จนกระทั่งเกิดระลอกสาม ซึ่งมาจากชายแดนเช่นกัน แต่ครั้งนี้ศูนย์กลางการระบาดคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดบอดของกระทรวงสาธารณสุขไทย เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมิได้ควบคุมระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ แต่ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปัญหามาโดยตลอด มีทั้งโรงพยาบาลและบุคลากรไม่เพียงพอเหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ ระบบบริหารจัดการสาธารณสุขก็ไม่ดี ทำให้ไม่รู้ว่าเราควรจะควบคุมโรคระบาดได้อย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าอัตราการตายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ มากกว่าสองถึงสามเท่า รวมถึงในกรุงเทพฯ ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย จากการบริหารจัดการด้านข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพ สายด่วนก็ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ 

 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า จุดอ่อนของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ในการระบาดระลอกหนึ่ง ด้วยการแพทย์ สาธารณสุขที่เก่งของไทย ปัญหาที่เห็นมีแต่เรื่องเศรษฐกิจ จนกระทั่งมาถึงระลอกสาม จะเห็นได้ว่า ศบค. ไม่สามารถจัดการได้เลย ศบค. ที่ตั้งมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่เป็นจริง บทบาทไม่มี จนกระทั่งต้องมีการตั้ง ศบค. กรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลอีกครั้ง ทั้งที่ ศบค. แรกก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้เลย เมื่อระลอกสามเป็นการระบาดในพื้นที่ที่สาธารณสุขอ่อนแอที่สุด สิ่งที่เคยเชื่อว่าได้ผลกลับไม่ได้ผล ระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอของกรุงเทพฯ ไม่สามารถช่วยการบริหารที่ล้มเหลวของ ศบค. ได้อีกต่อไป 

 

ด้าน จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า การบริหารจัดการของรัฐบาลทำให้เกิดช่องโหว่ มีการคอร์รัปชัน ก่อให้เกิดการระบาดระลอกสองและสาม ซึ่งในระลอกสามนี้มีผู้ที่ติดเชื้อมากกว่าในระลอกหนึ่งและสองมากกว่าหลายเท่า มีผู้ป่วยเพิ่มวันละประมาณ 2 พัน แต่ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ผู้เสียชีวิต 20 คนบวกลบในแต่ละวัน รวมถึงตัวเลขสำคัญอีกส่วนคือ ผู้ป่วยหนักและผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ วันนี้ 1,400 กว่าคน ถ้าเทียบย้อนหลังสองสัปดาห์ก่อน เพิ่มมากถึงสองเท่า คำถามคือ มีห้องรักษา เตียง เครื่องช่วยหายใจเพียงพอหรือไม่ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้มีการเปิดเผย รวมถึงยอดการติดเชื้อ ไม่มีแนวโน้มลดลง มีแต่เพิ่มสูงขึ้น จากการพบคลัสเตอร์ต่างๆ เพิ่มขึ้น การตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อย ทำให้ตัวเลขไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งนี้การระบาดระลอกสามถ้านับจากวันที่ 1 เมษายน 2564 ก็ยังไม่มีโครงการเยียวยาใดๆ ยิ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยิ่งยังไม่มีโครงการใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปตอนนี้สิ่งที่ห่วงมากที่สุดคือ หากติดเชื้อขึ้นมาจะมีที่รักษาหรือไม่ รวมถึงห่วงว่าจะไม่มีกิน เมื่อหยุดงาน ไม่มีงานทำ หรือถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อ รักษาตัว ก็ไม่มีรายได้ ซึ่งก็ยังไม่มีการเยียวยาจุดนี้เช่นกัน รวมถึง คนในครอบครัวผู้ติดเชื้อ ซึ่งก็ต้องกักตัวด้วย จะเอาอะไรกิน ปัญหาด้านเศรษฐกิจพวกนี้ยังไม่ดังมากไปกว่าเรื่องความห่วง เรื่องหากติดเชื้อจะมีที่รักษาหรือไม่

 

จาตุรนต์กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่หนึ่งของการรับมือโควิด-19 คือ การไม่ให้ความสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่เชื้อ กับการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งควรจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่รัฐบาลไม่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่ให้ความสำคัญ ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกก็เน้นเพียงการทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเปิด จำเป็นต้องมีการเดินทางไปมา มีโอกาสที่เชื้อจะเข้ามาจากต่างประเทศได้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือเรื่องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็ว เมื่อไม่มีสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดกับการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเกินกว่าที่จำเป็น การเยียวยา การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำน้อย ทำช้า ซึ่งประเทศต่างๆ เขามีความเข้าใจเรื่องนี้ การล็อกดาวน์ชั่วนิจนิรันดร์ทำไม่ได้ ระหว่างที่ควบคุมได้ โดยไม่ต้องล็อกดาวน์ สิ่งที่ประเทศต่างๆ เขาทำคือขยายขีดความสามารถด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งประเทศเราละเลยเรื่องนี้ไปมาก ในวันที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 2 พันรายทุกวัน แต่เรายังยินดีกับการเพิ่มโรงพยาบาลสนาม 1,400 เตียง แค่วันเดียว อีกทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสืบค้นหาผู้ติดเชื้อ กักตัวผู้ติดเชื้อ เราทำน้อยมาก ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ตรงตามสถานการณ์จริง

 

จาตุรนต์กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการโควิด-19 ของไทยล้มเหลวจากการบริหารทั้งหมด ไม่ได้ใช้สติปัญญา แม้แต่รัฐมนตรีร่วมคณะก็รวบอำนาจเขาไปหมด คนช่วยวิจารณ์ แนะนำก็ไม่ฟัง ไม่ทำตาม บริหารรวบอำนาจเน้นแต่ความมั่นคง ไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจ ไม่เข้าใจเรื่องวัคซีน ไม่เข้าใจเรื่องยา ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลนี้ รวมถึงงบประมาณปี 2565 ได้วางแผนไว้แบบถดถอย จากการจัดเก็บรายได้ไม่ตรงตามเป้า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่สมดุลกับ GDP อีกทั้ง GDP ประเทศที่ลดลง ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยว่าจะมีแผนในการฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 ทั้งนี้ก็ยังมีปัญหาจากกฎหมายที่ออกแบบมาไว้ใช้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้กฎหมายเหล่านั้นกลับมาสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลเอง 

 

ขณะที่ สมชัย ได้กล่าวชี้ถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน สร้างความเสียหายให้กับประเทศ โดยได้เปรียบเทียบการบริหารจัดการวัคซีนของต่างประเทศกับประเทศไทย ที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยทำได้แย่มาก รวมถึงได้คำนวณเป้าหมายการฉีดวัคซีนของรัฐบาลกับการทำจริง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมาย อีกทั้งตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรีว่า จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าให้ฉีดวัคซีนเดือนละ 15 ล้านโดส เท่ากับ 5 แสนโดสต่อวันนั้น วัคซีนมีหรือไม่ แล้วมีปัญญาฉีดหรือเปล่า พร้อมทั้งสรุปว่า ภายใต้การบริหารจัดการของระบบราชการไทย ทุกอย่างล้วนไม่ทันเวลา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X