×

ดร.อัทธ์ชี้ หากรบยืดเยื้อ 30 วัน ไทยเสี่ยงสูญรายได้ 21,000 ล้านบาท แนะรัฐบาลต้องชนะด้วยวิธีการทูต

25.07.2025
  • LOADING...
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช วิเคราะห์สงครามชายแดนไทย-กัมพูชา ปี 2568

วันนี้ (25 กรกฎาคม) ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจอาเซียน เผยมุมมองผ่านรายการ Morning Wealth ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาไว้ว่า หากการสู้รบยืดเยื้อต่อไปจนครบ 30 วัน อาจทำให้ไทยเสี่ยงสูญเสียรายได้การส่งออกราว 21,000 ล้านบาท 

 

โดยแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องหาหนทางในการชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการ จะมีการเยียวยาอย่างไร ออกซอฟต์โลนหรือไม่ ส่วนแรงงานกัมพูชาที่อยู่ในไทยกว่า 1 ล้านคน หากประชากรส่วนนี้หายไป รัฐบาลต้องคิดวิธีรับมือหาแรงงานจากประเทศอื่นๆ ทดแทน

 

อย่างไรก็ตาม ดร.อัทธ์ ชี้ว่า แรงงานกัมพูชาในไทยไม่ได้ยึดโยงหรือเกี่ยวข้องกับรัฐบาลกัมพูชา ประชากรกลุ่มนี้ไม่มีอคติกับคนไทย และคุ้นเคยกับการอาศัยอยู่ในไทยมากกว่า การย้ายถิ่นฐานกลับประเทศจึงมีไม่มาก 

 

ที่สำคัญกว่านั้นคือ กัมพูชายังไม่มีตำแหน่งงาน หรืออัตราการจ้างงานมารองรับมากพอ รวมถึงมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าไทยอยู่มาก

 

ดร.อัทธ์ เชื่อว่า จะมีการพักรบเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพียงแต่ปัญหาชายแดนอาจยังไม่จบง่ายๆ ซึ่งดร.อัทธ์หวังว่าไทยจะชนะศึกด้วยการทูตผ่านประชาคมโลก เพราะแม้ไทยจะมีความได้เปรียบด้านการทหาร แต่ด้านการทูต กัมพูชายังมีความเคลื่อนไหวเร็วกว่าไทยอยู่มาก

 

ไม่เพียงเท่านั้น ความเคลื่อนไหวทางการทูตไทยก็ยังทำได้ไม่ดีเท่ากัมพูชาอีกด้วย ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องเอาชนะด้านข้อมูลข่าวสาร และมอบข้อเท็จจริงให้องค์กรสากลเห็นว่า กัมพูชาละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตี ยิงถล่มสถานพยาบาล หรือเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีก่อนก็ตาม

 

รบรอบนี้รุนแรงกว่าปี 54

 

ดร.อัทธ์ มองว่าสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนไทย – กัมพูชาในปี 2568 มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อพิพาทเขาพระวิหารในปี 2554 มีพื้นที่การรบครอบคลุมเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น และแม้จะกินระยะเวลายาวนานถึง 4 เดือน แต่ก็มีผู้เสียชีวิตเพียง 9 คน 

 

ขณะที่ข้อพิพาทประเด็นพื้นที่ 3 ปราสาท และ 1 ช่องบกที่เกิดขึ้นในปี 2568 นี้ กลับมีพื้นที่การรบกินวงกว้างมากขึ้น โดยกระทบ 6 พื้นที่ใน 4 จังหวัด และยิ่งกว่านั้นคือ ในการสู้รบเพียงวันเดียวกลับมีรายงานผู้เสียชีวิตมากถึง 12 คน

 

ด้วยระยะเวลาที่ห่างจากครั้งก่อน พัฒนาการด้านการทหารของแต่ละประเทศจึงมีความก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งไทยมีเครื่องบิน F-16 กริพเพนแล้ว ส่วนกัมพูชาก็มีรถถังมากขึ้น แม้จะยังไม่มีเครื่องบินก็ตาม

 

นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ยกระดับขึ้น จากมูลค่า 100,000 ล้านบาทในปี 2554 ก็เพิ่มสู่ระดับ 240,000 ล้านบาทในปี 2567 

 

มองฉากทัศน์ ไปต่อได้ 3 ทาง

 

ทั้งนี้ ดร.อัทธ์มองความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้แบ่งออกได้ 3 แนวทาง คือ

 

  1. ไทยใช้ความได้เปรียบด้านการรบทางอากาศ จนชนะศึกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กัมพูชารบต่อไม่ไหว และยอมเจรจาในที่สุด

 

  1. ไทยใช้วิธีการทูตชี้แจงต่อองค์กรสากลโลก มีองค์การระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซง รวมถึงมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย

 

  1. ความใกล้ชิดระหว่างตระกูลผู้นำของทั้งสองประเทศ อาจมีผลต่อความจริงจังในการสะสางปัญหา

 

สุดท้ายแล้ว ดร.อัทธ์มองว่าความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้จะกินเวลาไม่นาน และจบเร็วกว่าความขัดแย้งคราวก่อนในปี 2554 ที่กินเวลา 4 เดือน

 

ภาพ: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising