×

เมื่อรัฐบาลเศรษฐาเจอสึนามิหลังปรับ ครม. รัฐมนตรีทิ้งเก้าอี้ลาออก

โดย THE STANDARD TEAM
09.05.2024
  • LOADING...
ครม. รัฐมนตรี ลาออก

ฉับพลันที่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยื่นหนังสือลาออกไปยังเจ้ากระทรวงการคลัง พิชัย ชุณหวชิร ทำเอาทำเนียบรัฐบาลร้อนระอุ 

 

สึนามิลูกแรกจาก ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไม่ถึง 3 ชั่วโมง ยังสั่นสะเทือนตึกไทยคู่ฟ้าและพรรคเพื่อไทยไม่หาย

 

สึนามิลูกที่สองจากกฤษฎาปรากฏขึ้นตามมาติดๆ หลังจากมีคำสั่งลงนามแบ่งงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คำสั่งนี้กระทบอย่างไร เหตุใดจึงต้องยื่นลาออก

 

หากลงลึกไปยังคำสั่งแบ่งงาน ส่วนราชการที่อยู่ภายใต้การดูแลของกฤษฎาหลังปรับทัพใหม่ เหลือเพียงสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เท่านั้น 

 

ขณะที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงการคลังที่กฤษฎาดูแล ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย, สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.), บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

 

เมื่อเทียบกับการดูแลหน่วยงานก่อนปรับงานที่ได้ดูแลส่วนราชการถึง 3 หน่วยงาน คือ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต และสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง 

 

ส่วนรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงการคลังที่กฤษฎาดูแล ได้แก่ ธนาคารต่างๆ ของรัฐ, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม องค์การสุรา, การยาสูบแห่งประเทศไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 

 

งานลด ความน้อยใจจึงบังเกิดจริงหรือไม่ คงตอบได้ยาก เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำยืนยันจากกฤษฎา มีเพียงการนำรถประจำตำแหน่งมาคืนที่กระทรวงการคลัง 

 

พร้อมคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า ได้ระงับใบลาออกดังกล่าวไว้ก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ต้องมีการพูดคุยกัน หากมีความไม่สบายใจเรื่องการแบ่งงานก็ยังมีโปรเจกต์อีกเยอะในกระทรวงการคลัง สามารถมาทำงานร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ และรัฐมนตรีก็ยินดีจะมอบหมายงานเพิ่มเติมให้ ขอให้ไปคิดก่อนคืนหนึ่ง แล้วค่อยว่ากันใหม่ แต่ก็ต้องให้เกียรติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะท่านแบ่งงานไปแล้ว 

 

เจ้ากระทรวง = เจ้าถิ่น

 

หากมองย้อนไปในรัฐบาลเศรษฐาชุดแรก บริบทนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด ความร้อนแรงของการจัดสรรตำแหน่งตามโควตาพรรคร่วมรัฐบาลมีมาก่อนแล้ว แต่ละกระทรวงย่อมมีเจ้าถิ่น เมื่อมีแกะดำโดดเดี่ยวเข้าไปในฝูง มองไกลๆ ก็ยังดูออกว่า ความสนใจที่เกิดขึ้นมักน้อยกว่าแกะขาวฝูงใหญ่ 

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์: มีเจ้ากระทรวงเป็นพรรคพลังประชารัฐ นำโดย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า มีรัฐมนตรีช่วยว่าการจากพรรคเพื่อไทยคือ ไชยา พรหมา และจากพรรครวมไทยสร้างชาติ อนุชา นาคาศัย ที่ปัจจุบันถูกปรับออกทั้งคู่

 

กระทรวงการคลัง: มีเจ้ากระทรวงเป็นพรรคเพื่อไทย เดิมนำโดย เศรษฐา ทวีสิน มีรัฐมนตรีช่วยว่าการจากพรรคเพื่อไทยคือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และจากพรรครวมไทยสร้างชาติ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่กำลังอยู่ระหว่างทบทวนการลาออกตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

 

การเขย่าใหม่ของ ครม.เศรษฐา ที่เกิดขึ้น จึงมีทั้งพรรคที่สถานการณ์เป็นบวกอย่างพรรคพลังประชารัฐ เพราะได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาครอบครองแบบไร้พรรคร่วม พรรคที่นิ่งสนิท มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ พรรคภูมิใจไทย 

 

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติกลับได้รับผลกระทบหนัก เมื่อมีโควตา 1 รัฐมนตรีว่าการและ 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการ การแฝงตัวทำงานภายใต้เจ้าถิ่นพรรคอื่น แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการ แต่เมื่อพวกพ้องที่รายล้อมมาจากคนละประเภท คงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนน้ำกับน้ำมันที่จะรวมตัวกันได้ 

 

กระทรวงการคลัง เผือกร้อนของรัฐบาลเศรษฐา

 

ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ปัญหาในการบริหารเศรษฐกิจ และความขัดแย้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย 

 

การแบ่งงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่กฤษฎาได้มาแค่ สบน. ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการคนอื่นๆ กลับได้ดูแลกรมเกรดเอ ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 

 

หากดูปริมาณและความสำคัญ เป็นธรรมดาที่กฤษฎาคงออกลูกน้อยใจ แต่เมื่อมองเข้าไปถึงไส้ในของการทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘การสื่อสาร’ 

 

เมื่อตัดสินใจไม่ว่าอย่างไรย่อมมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี แต่ความไม่พอใจย่อมไม่ใช่ความเข้าใจและยอมรับ 

 

ตั้งแต่การประกาศลาออกของปานปรีย์หลังถูกตัดตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีออกไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งคือการสื่อสารของคนปรับไปยังคนถูกปรับ 

 

การแบ่งหน่วยงานในสังกัดก็เช่นกัน เมื่อลดภาระงาน เพิ่มเติมงานส่วนใด การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคำสั่งออกมาและไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ บวกกับไร้การสื่อสารให้เข้าใจ ทางเดียวที่ทำได้คือต้องจากไป พร้อมกับรอยร้าวในการขับเคลื่อนกระทรวง อนาคตจะเดินหน้าอย่างไร เมื่ออดีตปลัดกระทรวงก็ยังไม่อาจทนอยู่ได้ โควตาพรรคร่วมรัฐบาลที่จะเข้ามาทำหน้าที่จะกลมเกลียวพอที่จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เมื่อการแบ่งงานดูไม่สมดุล

 

ที่สำคัญรัฐมนตรีประกาศลาออกเป็นคนที่สอง ปัญหาการจัดสรรตำแหน่งก็ยังไม่จบ จนเกิดเป็นคำถามในใจประชาชนว่า สิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้เอาเวลามาพัฒนาความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้นแล้วหรือไม่

 

ปิดจบตำนานลูกหม้อกระทรวงการคลัง?

 

กฤษฎาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ปักหลักในกระทรวงการคลังอย่างท้าทายในรอบแรกมาได้ หากย้อนประวัติไป คงไม่แปลกถ้าจะเรียกว่าเป็นคนกระทรวงการคลังอย่างแท้จริง 

 

จากรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สู่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไต่เต้าเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมศุลกากร และจบท้ายด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ก่อนจะลาออกจากราชการ เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

 

แต่บทบาทเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลเศรษฐากลับแทบไม่ปรากฏชื่อในหน้าสื่อ และอีกทางหนึ่ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า หากกฤษฎาลาออกจริง “ก็หาคนอื่นแทน แค่นี้เอง และไม่ได้รู้สึกตกใจ เพราะทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ” 

 

ไม่ว่าผลของการทบทวนของกฤษฎาจะเป็นอย่างไร จะจบสวย กลับไปทำงาน ได้รับการเกลี่ยงานตามที่เห็นสมควร หรือค่ำคืนที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่อาจย้อนกลับ ปรากฏหนังสือลาออกจบสถานะลูกหม้อกระทรวงการคลังไว้ที่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ สมกับเสียงรอสายของเจ้าตัวที่ยังบรรเลงว่า “สิ้นสุดกันที ไม่ว่าชาตินี้ชาติไหน เท่านี้ก็สาแก่ใจ ซาบซึ้งทรวงในอกเรา” 

 

ฉากทัศน์ถัดไปก็คงต้องลุ้นว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ในโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติของรัฐบาลที่นำโดยเศรษฐา จะมีใครกล้าเข้ามาทดแทนหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X