×

ครม. เห็นชอบจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ-ทหาร และยกเว้นภาษีฯ เงินชดเชยถูกเลิกจ้าง

โดย THE STANDARD TEAM
18.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (18 มิถุนายน) รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำส่วนราชการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

 

โดยร่างระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นการปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำส่วนราชการ พ.ศ. 2548 แก้ไขเพิ่มเติม 2 จุด แต่ยังคงหลักการเดิม และปรับอัตราเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีการจ่ายย้อนหลัง ดังนี้

 

สำหรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงมีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง 14,600 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 14,600 บาท 

 

ส่วนเพดานเงินเดือนขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว มีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง 11,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนหรือค่าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 11,000 บาท 

 

รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าครองชีพชั่วคราว ทั้งนี้ ให้เก็บหลักฐานการจ่ายเงินเพิ่มไว้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ หรือค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการที่กระทรวงการคลังกำหนดในปัจจุบัน

 

รัดเกล้ากล่าวด้วยว่า คาดว่าในการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และทหารกองประจำการ จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 200 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย (งบบุคลากร) ซึ่งจะช่วยให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ

 

ครม. มีมติยกเว้นภาษีฯ เงินชดเชยที่ลูกจ้างได้รับกรณีถูกเลิกจ้าง

 

รัดเกล้ายังเปิดเผยว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง) 

 

โดยปรับเพิ่มเพดานของค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท สำหรับเงินค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป 

 

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เพราะวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงาน และเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานมีความสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้น

 

รัดเกล้ากล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ เห็นว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละประมาณ 660 ล้านบาท แต่จะส่งผลให้ลูกจ้างและพนักงานที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่ได้รับจากนายจ้าง รวมทั้งกรมสรรพากรอาจต้องคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับในปีภาษี 2566 ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2567 ด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising