×

นักธุรกิจไทยห่วงวิกฤตโควิดกระทบคนวงกว้าง กำลังซื้อเข้าขั้นวิกฤตหนักกว่า ‘ต้มยำกุ้ง’ และยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของปัญหา

02.07.2021
  • LOADING...
นักธุรกิจไทย

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • นักธุรกิจลงความเห็นวิกฤตโควิดหนักกว่าต้มยำกุ้ง เหตุเกี่ยวพันกับผู้คนจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่เข้าขั้นวิกฤต และไม่รู้ว่าปัญหาจะจบลงเมื่อใด
  • การเยียวยาของภาครัฐเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ จี้เร่งผลักดันให้คนเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและยังช่วยดึงไทยออกจากวิกฤต
  • แนะปรับปรุงฐานข้อมูลและอัปเดตให้เป็นจริงมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างตรงจุดมากที่สุด

วันนี้ (2 กรกฎาคม) เมื่อ 24 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ภาคเอกชนที่มีหนี้สินในรูปเงินตราต่างประเทศมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตามเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่วิกฤตคราวนั้นผู้ได้รับความเดือดร้อนส่วนใหญ่คือนักธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจความเห็นจากนักธุรกิจที่ผ่านร้อนหนาวจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 โดยทุกคนลงความเห็นตรงกันว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจากวิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้ย่ำแย่เท่ากับตอนปี 2540 แต่ในเชิงผลกระทบแล้วถือว่าสาหัสกว่ามาก เพราะเกี่ยวข้องกับผู้คนวงกว้าง ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็น SME ซึ่งมีการจ้างงานจำนวนมาก เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจึงมีแรงงานไม่น้อยที่ตกงาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อ และที่สำคัญยังไม่รู้ว่าวิกฤตรอบนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด

 

เจ้าของวลี ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ ย้ำรอบนี้หนักกว่าต้มยำกุ้ง กำลังซื้อเข้าขั้นวิกฤต

 

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นักธุรกิจเจ้าของวลีโด่งดังในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ ซึ่งกิจการของเขาต้องพังลงในปี 2540 จากการลอยตัวค่าเงินบาท กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันหนักกว่าช่วงต้มยำกุ้งอีก ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจไทยรอบนี้คือกำลังซื้อแท้จริงที่ฟุบลง เงินเยียวยาไม่ถึงตัวผู้ต้องการความช่วยเหลือที่แท้จริง

 

เขากล่าวว่าวิกฤตรอบที่แล้ว (ต้มยำกุ้ง) เกิดจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัวแบบกะทันหัน ทำให้หนี้ที่มีอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว แต่ผู้ได้รับความเสียหายคราวนั้นส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีและนักธุรกิจ และก็ยังพอจะทำงานสร้างรายได้กลับมาได้อยู่ จนมีคนพูดกันว่าล้มบนฟูก

 

นอกจากนี้ในช่วงเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 6-7% ทำให้ผู้เกษียณอายุและผู้มีรายรับเป็นดอกเบี้ยเงินฝากยังมีรายได้พอใช้จ่าย ดังนั้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งกำลังซื้อจึงไม่ได้ย่ำแย่นัก

 

ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบันกำลังซื้อที่แท้จริงอยู่ในขั้นวิกฤตมาก ทุกภาคธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบจากโควิดและมีแรงงานบางส่วนต้องหายไปจากระบบเพราะภาคธุรกิจปิดตัว บางแห่งลดการจ้างงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายรับของประชาชน กดดันต่อกำลังซื้อที่แท้จริงในที่สุด

 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อต่างๆ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับศักยภาพในการหาเงินมาชำระหนี้ของภาคประชาชน

 

“ถ้าเทียบระดับอัตราดอกเบี้ยของช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและช่วงนี้ แม้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ตอนนี้จะต่ำกว่าแต่ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำไปด้วย โดยอยู่แค่เพียง 0.5-1% คนไม่สามารถคาดหวังรายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากได้เลย ก็ซ้ำเติมกำลังซื้อที่แท้จริงอีกว่าแทบไม่มีแล้ว”

 

สวัสดิ์กล่าวว่า ทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่สามารถทำได้ในช่วงโควิดคือการแก้ไขระบบสวัสดิการรัฐ โดยเฉพาะการปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นจริงมากขึ้นและเป็นข้อมูลที่อัปเดตมากขึ้น เพื่อจะช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงได้ตรงจุด

 

“ปัญหาที่เห็นชัดมากในช่วงโควิดคือรัฐบาลแจกเงินแต่คนไทยได้รับเงินไม่ทั่วถึง ทำให้การเยียวยาไม่ตรงจุด การขอเงินกู้ของภาคธุรกิจขนาดเล็กก็เจอกับปัญหานี้เหมือนกันเพราะฐานข้อมูลไม่ครบ หากรัฐสามารถทำให้ข้อมูลรายรับของภาคประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันหมดได้ ไม่ว่าคนที่ถึงเกณฑ์เสียภาษีหรือไม่เสียภาษี ทั้งพ่อค้าหาบเร่แผงลอย เด็กจบใหม่เพิ่งหางานทำก็ควรจะมีข้อมูลไว้เพื่อแทร็กได้ เมื่อเกิดวิกฤตที่ต้องเยียวยาคนจำนวนมากรัฐก็รู้ได้เลยว่าความช่วยเหลือควรไปที่ไหนก่อนและหลัง”

 

สวัสดิ์กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการและสร้างศูนย์ข้อมูลที่เท่าทันสถานการณ์ได้ ในระยะยาว รัฐก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มเช่นเดียวกัน

 

ปัจจุบัน สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ดำเนินธุรกิจท่าเรือน้ำลึกที่ศรีราชา และอยู่ระหว่างพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่เกาะล้าน ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ Smart City ที่ EEC ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลก่อน

 

วิกฤตโควิดสาหัสกว่าต้มยำกุ้ง เพราะกระทบคนวงกว้างและยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด

 

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 กับวิกฤตโควิดในปัจจุบันจะเห็นความแตกต่างกันอยู่ทั้งในแง่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและขนาดความเสียหาย เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ คือสถาบันการเงิน บริษัทขนาดใหญ่ และเจ้าของกิจการที่มีเงินกู้ต่างประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือกระทบคนข้างบนเป็นหลัก แต่เมื่อมองกลับมาที่วิกฤตโควิดจะเห็นว่าคนที่ถูกกระทบรุนแรงนั้นคือคนข้างล่าง ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ค้ารายย่อย แรงงาน และขณะนี้ก็เริ่มเห็นผลกระทบกับธุรกิจขนาดใหญ่บ้างแล้วเช่นกัน

 

“วิกฤตโควิดมันกระทบไปหมด ทั้งระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ ความมั่นคง สาหัสกว่าต้มยำกุ้งเพราะผลกระทบมีฐานกว้างกว่าและจนถึงตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด” ฐากรกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ฐากรระบุว่าในทุกวิกฤตย่อมนำมาซึ่งโอกาส อย่างเช่นในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็เกิดกฎระเบียบทางการเงินต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อดูแลความเสี่ยงไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อวิกฤตโควิดสิ้นสุดลง ประเทศไทยก็จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตในครั้งต่อๆ ไปได้ดีขึ้น

 

สภาอุตฯ ตอกภาครัฐ ต้นเหตุวิกฤตรอบนี้คือวัคซีนที่ล่าช้า

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า วิกฤตต้มยำกุ้งกับวิกฤตโควิดในปัจจุบันมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะต้มยำกุ้งเป็นภาวะฟองสบู่แตก เกิดจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศโดยไม่ประเมินความเสี่ยง ซึ่งในท้ายที่สุดสถาบันการเงินทั้งธนาคารและไฟแนนซ์หลายแห่งต้องปิดตัวไป ผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทในเวลาอันรวดเร็วก็ล้มละลายหายไป แต่เวลานี้คนที่เดือดร้อนคือคนตัวเล็กตัวน้อย ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอีและซัพพลายเชนของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ยังแข็งแกร่งและได้เปรียบจากดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วยซ้ำ

 

“เราเคยได้บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้วว่าทุกปัญหาต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ เมื่อสถาบันการเงินคือต้นเหตุของปัญหา เราก็ออกกฎมาควบคุมจนปัจจุบันสถาบันการเงินเราคุมความเสี่ยงได้ดีมาก ต้นเหตุของวิกฤตโควิดตอนนี้คือวัคซีนที่ล่าช้า ภาครัฐควรมองต้นเหตุให้ถูก การไปชดเชยเยียวยาต่างๆ นั้นล้วนเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ตราบใดที่คนยังเข้าถึงวัคซีนยาก เราก็จะไม่สามารถออกจากวิกฤตนี้ได้ ภาคเอกชนเราพูดไปหลายครั้งแล้วว่าอยากให้ผ่อนคลาย ให้เอกชนมีส่วนร่วมนำเข้าวัคซีนทางเลือกและเวลาออกนโยบายที่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมใดก็ควรให้ตัวแทนของภาคนั้นๆ เข้าร่วมประชุมรับฟังและระดมสมองด้วย” ประธาน สอท. กล่าว

 

‘วัคซีน’ จะเป็นยาช่วยไทยหลุดพ้นวิกฤตได้เร็วขึ้น

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า วิกฤตรอบนี้ต่างกับเมื่อปี 2540 โดยสิ้นเชิงทั้งในแง่ต้นเหตุและผลกระทบ เมื่อครั้งปี 2540 มีต้นเหตุสำคัญจากการกู้หนี้ยืมสินจำนวนมาก ดูได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 6-7% ของ GDP จนเกิดฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ เมื่อฟองสบู่แตกทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก สถาบันการเงินล้มละลาย ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มทุนมหาศาล บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องปิดตัวลงเกือบหมดและหลายธุรกิจต้องล้มลง

 

ส่วนวิกฤตโควิด เรามีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากจากการผ่านทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) และวิกฤตซับไพรม์ (ปี 2551) ปัจจุบันหนี้สาธารณะค่อนข้างต่ำ เงินคงคลังสูง และสถาบันการเงินแข็งแรงมาก ขณะเดียวกันวิกฤตครั้งนี้เกิดจากเชื้อโรคและไม่ได้มีฟองสบู่ขนาดใหญ่อยู่ในระบบ

 

แต่สิ่งที่ต่างกันชัดเจนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้คือ SME และรายย่อย ขณะที่วิกฤตปี 2540 ธุรกิจใหญ่ได้รับผลกระทบ ทำให้การฟื้นตัวในรอบก่อนนี้ใช้เวลานานถึง 5-6 ปี

 

“วิกฤตปี 40 ใช้เวลา 5-6 ปี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ ตลาดหุ้นก็เช่นกันใช้เวลานานมากกว่าจะกลับมาที่เดิม แต่รอบนี้บริษัทใหญ่ได้รับผลกระทบน้อยมากและแทบไม่มีใครล้ม ธนาคารก็แข็งแรง ในขณะที่ SME และรายย่อย ซึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากได้รับผลกระทบหนักกว่า โดยรวมจึงเชื่อว่าการฟื้นตัวในครั้งนี้จะเกิดขึ้นเร็ว ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยแต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก”

 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายอยู่มาก วัคซีนเป็นเหมือนยาที่จะช่วยให้หลุดจากวิกฤตได้เร็ว แต่ในระหว่างที่รอการกระจายวัคซีนต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาดีกว่าเดิม เพราะเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด

 

เมื่อปี 2562 ซึ่งยังไม่มีโควิด นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยถึง 40 ล้านคน แต่ GDP โตได้แค่ 2% ขณะที่ในอาเซียนโตได้ 5-6% เพราะฉะนั้นจะเห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวมาตลอด ขณะที่ปีหน้า ธปท. คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 10 ล้านคน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจำเป็นจะต้องดูภาพระยะยาว ต้องศึกษาอดีตว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น เหตุใดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยถึงอ่อนลงต่อเนื่อง

 

“วัคซีนคือคำตอบในระยะสั้น แต่วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษให้เศรษฐกิจไทยกลับมารุ่งเรือง เพราะเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการชะลอตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว”

 

วิกฤตต้มยำกุ้งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ แต่รอบนี้มาจากธรรมชาติ และไม่รู้จะจบแบบใด

 

ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง เช่น ไฟฟ้า เอทานอล และปุ๋ยอินทรีย์ กล่าวว่า ความต่างระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กับปัจจุบันคือสาเหตุที่มาของปัญหา โดยวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นจากปัญหาที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นจากการใช้เงินผิดประเภท การกู้เงินมากเกินไป การผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่ไม่ปกติ

 

เมื่อเกิดความไม่บาลานซ์ขึ้นจึงพังลงมา แต่วิกฤตต้มยำกุ้งสามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ คนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นสามารถรู้ได้ว่ามูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่และสามารถหาแผนบริหารจัดการวิกฤตทางการเงินได้ มีวิธีแก้ไขหลายทางเลือกขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเครื่องมือทางการเงินประเภทใด 

 

ขณะที่วิกฤตการณ์รอบนี้เกิดจากธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ย่ำแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งคือสภาวการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก และไม่มีรู้ว่าจุดสิ้นสุดคือเมื่อไหร่และจะจบในสถานการณ์แบบใด

 

โดยประเมินว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจหลังโควิดอาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็เป็นได้ และอาจจะมีระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นก็เป็นได้

 

ในเรื่องการรับมือวิกฤตการณ์ครั้งนี้ KSL ยังดูแลพนักงานทั้งในสำนักงานใหญ่และโรงงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในแง่ผลกระทบต่อธุรกิจนั้นไม่มากนัก จะมีเพียงปัญหาแรงงานต่างด้าวที่รับจ้างตัดอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยในเครือข่ายพันธมิตรของ KSL ที่อาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนในโรงงานของ KSL ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising