กกร. คงเป้า GDP อยู่ที่ 2.2-2.7% เล็งถกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ดูแลค่าเงินบาท ลดดอกเบี้ย หลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องกดดันส่งออกไทย คาดกระทบรายได้ส่งออกราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท ชี้เงินบาทควรอยู่ในระดับ 34-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงจะเหมาะสม แข่งขันได้ พร้อมจับตาสงครามตะวันออกกลางปะทุ อาจบานปลายกดดันค่าระวางเรือ-ราคาน้ำมันพุ่ง ผู้ส่งออกห่วงระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทยท้ายปี
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้เตรียมส่งหนังสือไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือ 2 เรื่องหลัก คือ
- ภาพรวมเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาท
- การปรับลดดอกเบี้ย
“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออก โดยปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าจาก 36.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาที่อยู่ที่กรอบ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา หรือราว 12% เป็นการแข็งค่าที่มากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค ยิ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก” สนั่นกล่าว
ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีอาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกกระทบได้ราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท
สนั่นกล่าวอีกว่า เอกชนมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 34.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3-4 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ 2.2-2.7% ส่งออกอยู่ที่ 1.5-2.5% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-1%
โดยมีแรงสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท หรือดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเอกชนมองว่าเป็นบรรยากาศที่ดีที่เริ่มมีการกระตุ้นเม็ดเงินออกมาแล้ว รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ จากน้ำท่วม
จี้ ธปท. เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนตลาดการเงินล่วงหน้า
ด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงปลายปีนี้ กกร. จะเสนอให้ ธปท. เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนอยู่แล้วในตลาดการเงินล่วงหน้า (Forward Market) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
โดยปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25-0.50% ภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักได้อย่างรวดเร็ว และจะพิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ในช่วงการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
สงครามตะวันออกกลางบานปลาย ดันค่าระวางเรือ-น้ำมันพุ่ง ทุบเศรษฐกิจท้ายปี
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนเกาะติดสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลกระทบของสงครามที่ปะทุขึ้นในขณะนี้ห่วงว่าราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน ที่แม้ว่าในขณะนี้จะอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อาจจะยังไม่กระทบทันทีและถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงมากจนเกินไป
“แต่หากขยายออกไปวงกว้าง อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเส้นทางเดินเรือ กระทบค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนทางเดินเรือ ใช้เวลานาน 2 สัปดาห์ อ้อมแหลมกู๊ดโฮป คล้ายกับปลายปีที่แล้วช่วงหนึ่งที่มีการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าครั้งใหญ่ในทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากตลาดเอเชียไปยังยุโรป”
โดยก่อนหน้านี้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต เคยมีราคาเพิ่มไปถึง 1.2-1.3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ทั้งที่ราคาตามปกติอยู่เพียงแค่ 3-4 พันดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว โดยราคาตู้คอนเทนเนอร์ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 8-9 พันดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ซึ่งหากสถานการณ์ไม่บานปลายเชื่อว่าราคาจะไม่ปรับสูงขึ้นไปแบบเดิมอีก แต่ราคาเช่นนี้ก็ยังถือว่าสูงมากอยู่แล้ว” เกรียงไกรกล่าว
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ช่วงเช้าของวันนี้ (2 ตุลาคม) สรท. เฝ้าติดตามเหตุการณ์การโจมตีระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตะวันออกกลาง
ซึ่งตะวันออกกลางเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างมาก โดยส่งออกไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย 8% และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 10% อีกทั้งต้องเฝ้าจับตาดูว่าจะกระทบต่อการขนส่งทางทะเลผ่านเส้นทางทะเลแดงหรือไม่
“ตอนนี้ห่วงว่าตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่กำลังเติบโตดีต่อเนื่อง มีสัดส่วนการส่งออก 5-7% หากสถานการณ์ยืดเยื้อแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าคำสั่งซื้อสินค้าจะค่อยๆ ลดลง และติดตามราคาน้ำมันที่อาจปรับสูงขึ้น ปัจจุบันราคาน้ำมันเคลื่อนไหวแตะ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นไปอีก” ชัยชาญกล่าว
ห่วงสงคราม ระเบิดเวลาเศรษฐกิจลูกใหญ่ของส่งออกไทย
ชัยชาญกล่าวอีกว่า “ปีนี้ไทยเจอระเบิดเวลาเศรษฐกิจหลายลูกแล้ว ตอนนี้ยังมีระเบิดเวลาสงครามเข้ามาอีก” ที่สำคัญคือผลกระทบเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกระทบ 2 ประเด็นหลัก คือ
- การส่งมอบสินค้า อัตราแลกเปลี่ยนจากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและกลุ่มอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่างสูง ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และผู้ส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นขาดทุน และจากที่คาดการณ์มูลค่าสูญหายเฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน มูลค่าค่อนข้างมหาศาล ทำให้รายได้ของประเทศก็จะลดลงไปด้วย
- คำสั่งซื้อออร์เดอร์ใหม่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอยู่ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการบางรายตัดสินใจหยุดรับออร์เดอร์จากต่างประเทศ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เพราะกังวลว่าอาจจะเกิดความไม่คุ้มค่า รวมถึงอาจจะเกิดการแข่งขันไม่ได้ในตลาดส่งออก ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกลดลง คาดว่าจะเริ่มมีผลในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
ทั้งนี้ ยังคงไม่มีการปรับเป้าการส่งออก เนื่องจาก 8 เดือนที่มาผ่าน ตัวเลขการส่งออกค่อนข้างไปได้ดี ถึงแม้ไตรมาส 4 จะมีความกังวลเรื่องของสินค้าเกษตร โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกเทียบกับปี 2566 เฉลี่ย 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เรื่องขนส่งสินค้าทางเรือ ปัจจุบันค่าระวางเรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีปัจจัยเรื่องภาคการผลิตที่ทั่วโลกยังชะลอตัว ซึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทั้งจีน ยุโรป และสหรัฐฯ โดยดัชนี TMI ยังคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ 3 เรื่องหลักในเวลานี้ ได้แก่
- อยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบในแง่ของการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ให้อยู่ในระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหมือนต้นปีที่ผ่านมา
- พิจารณาเรื่อง Soft Loan ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของค่าเงินบาทและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
- ขอให้ยังคงชะลอการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ที่อาจซ้ำเติมผู้ประกอบการ อีกทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระเรื่องต้นทุนการผลิต