เศรษฐกิจกัมพูชามีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 7% ต่อปี เลยเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ และ SME เข้ามาขยายทำการค้าได้มากขึ้น แต่ปี 2563 มีความท้าทายและความเสี่ยงอะไรบ้าง
ทำไมกัมพูชาอาจถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากยุโรป
จิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (DITP) ณ กรุงพนมเปญ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีต ประเทศกัมพูชาได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยปี 2563 ความเสี่ยงของธุรกิจไทยในการทำธุรกิจที่กัมพูชาคือ เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) ที่ยุโรปจะประกาศคำตัดสินในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ ฝั่ง EU ขอทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกัมพูชาในทุกสินค้า ยกเว้นอาวุธ (EPA) โดยให้เหตุผลว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน การเมือง แรงงาน ประชาชนไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง หากมีการตัดสิทธิ GSP กัมพูชาจะมีเวลาปรับตัว 6 เดือน หลังการประกาศ
ผลกระทบต่อไทย หากกัมพูชาถูกตัดสิทธิทางภาษี
หาก EU ประกาศตัดสิทธิ GSP จะส่งผลกระทบต่อกัมพูชา ในธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า เพราะปัจจุบันมีการส่งออกกว่า 80% ไปยังยุโรป คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เบื้องต้นประเมินว่า มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาจะลดลง และจะกระทบต่อเนื่องมายังไทย 2 ทาง ได้แก่
– ทางตรง ธุรกิจไทยบางส่วนที่มาลงทุนในกัมพูชาในธุรกิจ สิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม ฯลฯ ที่มีการส่งออกไปยุโรปราว 7 ราย ต้องรีบปรับตัว
– ทางอ้อม เมื่อผู้ประกอบการส่งออกได้น้อยลง อาจมีบางโรงงานที่ต้องปิดตัว และส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงาน ทำให้การบริโภค แรงซื้อสินค้ากัมพูชาในสินค้าไทยอาจจะลดลง
“มีแนวโน้มสูงที่กัมพูชาจะถูกตัดสิทธิ GSP แต่รูปแบบที่เกิดขึ้นยังไม่แน่นอน อาจเป็นการเก็บภาษีบางส่วนในบางประเภท หรือเป็นกำหนดระยะเวลาเพื่อให้กัมพูชาปรับตัวในเรื่องที่ EU เรียกร้องไว้”
โอกาสของธุรกิจไทย หากกัมพูชาถูกตัดสิทธิทางภาษี
ทั้งนี้ ทาง DITP มีมาตรการในการช่วยเหลือคือ มีการแชร์ข้อมูลให้ผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมตัวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยเบื้องต้นแนะนำให้ผู้ประกอบการคุยกับแบรนด์ เพื่อเปลี่ยนตลาดขนส่งสินค้าเพื่อทดแทนตลาด EU ที่อาจจะหายไป
จุดเด่นของกัมพูชาคือ ค่าแรงขั้นต่ำสิ่งทออยู่ที่ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งดึงดูดนักลงทุนมาก
นอกจากนี้กัมพูชายังมีสัมพันธภาพอันดีกับจีน โดยปัจจุบันกัมพูชาอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับจีน ซึ่งจะทำให้กัมพูชาอาจได้รับสิทธิพิเศษ แต่ไม่สามารถมีสิทธิประโยชน์เกินกว่ากรอบการเจรจาการค้าเสรี FTA ของอาเซียน เพื่อให้จีนผลักดันสินค้าอย่างข้าวและพืชผลทางการเกษตร แต่จะมีสัมพันธภาพที่ดียิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมาจีนมีการช่วยเหลือกัมพูชา เช่น กรณีที่ EU ยกเลิก และเก็บภาษีข้าวจากกัมพูชา ทางจีนมีการเพิ่มโควตาให้ส่งข้าวให้จีนเป็น 4 แสนตัน แต่ตอนนี้กัมพูชายังไม่สามารถส่งให้เต็มโควตา
ทั้งนี้ แม้ว่ากัมพูชาจะสามารถทำ FTA กับจีนสำเร็จ จะไม่กระทบการส่งออกของไทย เพราะกัมพูชายังไม่สามารถผลิตสินค้า ในแง่ปริมาณและแง่มูลค่าเทียบเท่าไทย โดยก่อนหน้านี้ทางกัมพูชามี FTA กับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้อยู่แล้ว
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชาจะได้รับผลดี หากจีนและกัมพูชาทำ FTA สำเร็จ เพราะจะทำให้ตลาดเข้มแข็งขึ้น
เป้าหมายการส่งออกของไทยมาที่กัมพูชาปี 2563 คาดว่า จะเติบโต 5% จากปี 2562 โดย DITP จะสนับสนุนผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขาย, งานแสดงสินค้า และ Business Matchings
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล