×

ตลาดหนังสือเริ่มกลับมาสดใส! เจาะอินไซต์คนไทยอ่านเฉลี่ย 92 นาทีต่อวัน ไม่ใช่แค่ 8 บรรทัดอีกต่อไป

18.04.2025
  • LOADING...
thai-book-market-revival-2025

HIGHLIGHTS

  • ตลาดหนังสือไทยมูลค่า 15,000 ล้านบาทฟื้นตัวหลังโควิด ซีเอ็ดเผยเทรนด์ใหม่ หนังสือพัฒนาตัวเองและสุขภาพมาแรง
  • เปิดสถิติย้อนหลังปี 2567 คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 92 นาทีต่อวัน ไม่ใช่แค่ 8 บรรทัดอีกต่อไป พร้อมชี้คนรุ่นใหม่เบื่อความ Toxic บนโซเชียลจนต้องหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น
  • ร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ ยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ต้นทุนพุ่ง เสี่ยงปิดตัว! ต้องเร่งปรับตัวรอบด้าน

 

ถึงวันนี้ตลาดหนังสือไทยเริ่มกลับมาสดใสแล้ว หลังถูกกระแสออนไลน์ดิสรัปต์ไปพักใหญ่ พร้อมเปิดสถิติย้อนหลังในปี 2567 คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 92 นาทีต่อวัน 

 

แม้คนไทยจะอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น แต่การจะอยู่ในตลาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะร้านหนังสือหรือแม้แต่สำนักพิมพ์ ต้องเผชิญสารพัดความท้าทาย ทั้งเทรนด์ของหนังสือที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ภาวะเศรษฐกิจที่เข้ามาฉุดยอดขายหนังสือลดลง 

 

THE STANDARD WEALTH มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในวงการตลาดหนังสือที่จะมาร่วมฉายภาพและวิเคราะห์ทิศทางของอุตสาหกรรมหนังสือต่อจากนี้ 

 

รุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจากโควิดคลี่คลายลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์การอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น จนทำให้หนังสือหลายหมวดหมู่พลิกฟื้นกลับมาฟื้นตัวและเติบโตต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่หนังสือเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มหนังสือที่มีคอนเทนต์หลากหลายและมีอัตราการเติบโตค่อนข้างแข็งแรง 

 

รุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล

รุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

ตามด้วยกลุ่มหนังสือฟิกชัน การ์ตูน ลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เกาหลี ญี่ปุ่น จีนจะได้รับความนิยมมากในกลุ่มวัยรุ่น รวมไปถึงกลุ่มหนังสือเรียน หนังสือพัฒนาตัวเอง และหนังสือการเงิน เนื่องจากปัจจุบันคนไทยเริ่มมีความเครียด จากการแข่งขันสูงและมีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น ทำให้หนังสือที่เน้นการพัฒนาชีวิตเติบโตอย่างมาก

 

เช่นเดียวกับหนังสือหมวดสุขภาพ หากสังเกตจะเห็นว่า คุณหมอหลายคนที่อยู่ในแวดวงสุขภาพก็ผันตัวเองมาเป็นนักเขียน นำเสนอความรู้ความชำนาญที่ตัวเองมีมาเขียนเป็นหนังสือ ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักอ่านเป็นอย่างดี 

 

“อีกด้านต้องยอมรับว่า ในช่วง 1-2 ปี เศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อตลาดหนังสืออยู่พอสมควร จากเดิมแล้ววัยทำงานจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่เข้าซื้อหนังสือในร้าน เน้นซื้อหนังสือการเงินการลงทุน แต่วันนี้เราเห็นชัดเจนว่าเริ่มแผ่วลง เนื่องจากคนกลุ่มนี้เริ่มควบคุมค่าใช้จ่าย” รุ่งกาลย้ำ 

 

ซีเอ็ด ย้ำไม่ลดสาขา แต่ปรับทัพเน้นขายหนังสือตามเทรนด์

 

สำหรับร้านหนังสือซีเอ็ด ปัจจุบันสาขาทั้งหมด 195 แห่ง มีเป้าหมายขยายสาขาไปทุกจังหวัด แต่ปัจจุบันยังเหลืออีก 4 จังหวัด เช่น อุทัยธานีและกาฬสินธุ์ ที่ยังไม่มีสาขา ซึ่งมีการพยายามจะเข้าไปเปิดให้ได้ แต่การเปิดจะเป็นร้านที่มีร้านขนาดเล็กลงหรือในรูปแบบ Pop Up Store สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ซีเอ็ด จะไม่มีการลดจำนวนสาขาลง แต่จะรักษาให้ได้จำนวนนี้เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดหนังสือ พร้อมกับการปรับตัวหันไปโฟกัสการขายหนังสือตามเทรนด์ที่กำลังเติบโต

 

ร้านหนังสือซีเอ็ด

 

“ถึงวันนี้เราไม่สามารถจะทำหนังสือโดยที่ไม่มองเทรนด์ระยะสั้นได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนการทำหนังสืออาจใช้เวลานาน แต่วันนี้หากสังเกตจะเห็นว่าต้นปีกับปลายปีกระแสสังคมเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้นนักเขียนก็ต้องปรับตัวตามให้เร็วที่สุด”

 

ปกติแล้วสำนักพิมพ์จะมีลิขสิทธิ์ของหนังสืออยู่ในมือ โดยการจะตีพิมพ์แต่ละเรื่องเราจะเลือกตามกระแส โดยเฉพาะหนังสือฟิกชัน เทรนด์การอ่านจะเปลี่ยนไปเร็วมาก โดยกระแสจะมาจากช่องทางออนไลน์ อย่าง เว็บตูน เรื่องไหนที่คนอ่านเยอะเรื่องนั้นก็จะเริ่มนิยม ซึ่งหน้านี้ของผู้ผลิตหนังสือจะต้องจับกระแสตรงนี้ให้ได้ 

 

หลังวิกฤตโควิด ตลาดหนังสือไทยฟื้นคืนชีพ!

 

ด้าน จักรกฤต โยมพยอม กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรืออีกหนึ่งบทบาทก็คือ บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์ Avocado Books กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ต่อว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดหนังสือมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท เริ่มกลับมาเติบโตขึ้น สะท้อนได้จากยอดคนซื้อหนังสือจากร้านหนังสือและงานหนังสือเพิ่มขึ้น 

 

ครูทอม คำไทย

จักรกฤต โยมพยอม กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

 

หากดูจากสถิติของการจัดงานหนังสือในปีที่ผ่านมา ยอดคนเข้างานเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 คนต่อวัน โดยถ้าเป็นวันเสาร์และอาทิตย์ สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 160,000 คน ส่วนยอดที่คนจับจ่ายในงานหนังสืออยู่ประมาณ 400-500 ล้านบาท 

เมื่อมาดูหมวดหนังสือที่ได้รับความนิยมมากสุด ได้แก่ หนังสือแนวพัฒนาตนเอง ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ตามด้วยหมวดฟิกชัน แนวสืบสวน สอบสวน วรรณกรรมเยาวชน และเริ่มเห็นเทรนด์หนังสือแนวสืบสวน ที่เป็นเรื่องแปลจากญี่ปุ่น และเกาหลี ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมา

 

หนังสือ

 

คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือกันมากขึ้น เพราะเบื่อความ Toxic บนโซเชียล

 

จักรกฤตกล่าวต่อไปว่า แม้เพิ่งมาทำธุรกิจสำนักพิมพ์ในช่วงโควิด จากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ในวงการหนังสือ หลายคนบอกว่าช่วงก่อนโควิดอุตสาหกรรมหนังสือเผชิญวิกฤตหนักพอสมควรเลย 

 

เหมือนกับว่าเป็นช่วงที่โซเชียลมีเดียบูมมาก คนก็ลดการอ่านและซื้อหนังสือน้อยลง เพราะมีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการดูซีรีส์หรือฟังเพลงต่างๆ

 

แต่จากที่เจอหลังสถานการณ์โควิดคลี่ผ่านไป พฤติกรรมคนกลับมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น จากการศึกษาอินไซต์พบว่า อาจเป็นเพราะบางคนต้องการปรับพฤติกรรมตัวเอง 

 

บางคนมองว่าการเสพสื่อโซเชียลมากไปจะทำให้สมาธิสั้น และการอ่านหนังสืออาจจะช่วยแก้ได้ อีกทั้งคนรุ่นใหม่ที่หันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้นก็เพราะเบื่อความ Toxic ของโลกโซเชียลเหมือนกัน 

 

คนไทยอ่านหนังสือเกิน 8 บรรทัดแล้ว 

 

และอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้เรามักจะพูดว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด แต่จากสถิติเราไม่ได้วัดเป็นบรรทัดแล้ว แต่วัดจากช่วงเวลาที่คนอ่านกัน ซึ่งอยู่ประมาณ 92 นาที ต่อวัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอยู่เหมือนกัน โดยการอ่านหนังสือเล่มและ e-Book ทั้งสองมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

 

แต่คนที่อ่านผ่านช่องทาง e-Book ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพราะสามารถกำหนดขนาดหนังสือได้ ส่วนวัยรุ่นอายุ 12-19 ปีจะนิยมอ่านหนังสือเล่มมากกว่า เพราะสะดวกในการหยิบอ่านและเลือกหน้าอ่านง่าย 

 

ทั้งนี้ในทุกกลุ่มอายุซื้อหนังสือต่อปีไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนใหญ่ซื้อจากร้านหนังสือ ร้านนายอินทร์, งานหนังสือ, บีทูเอส และซีเอ็ดยูเคชั่น เพราะร้านดังกล่าวมักจะมีของแถม และส่วนลดของสมาชิกร้าน ส่วนช่องทางออนไลน์ที่คนนิยมใช้ซื้อหนังสือ คือ Shopee 

 

ต้นทุนสำนักพิมพ์พุ่ง ต้นเหตุของราคาหนังสือแพงขึ้น

 

นอกจากนี้สำนักพิมพ์ ยังต้องรับมือกับความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาต้นทุน ค่าขนส่ง กระดาษราคาค่อนข้างสูง ส่วนนี้ส่งผลให้ราคาหนังสือแพงขึ้นด้วยและอาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เมื่อคนซื้อน้อยลงก็จะส่งผลให้สำนักพิมพ์ผลิตหนังสือน้อยเล่มลง จากเมื่อก่อนสมัยบูมมากๆ การพิมพ์หนังสือเมื่อก่อนจะเริ่มต้น 5,000 เล่ม แต่

ปัจจุบันในแต่ละสำนักพิมพ์ก็ลดลงเหลือ 2,000-3,000 เล่ม 

 

แปลว่าเมื่อเราผลิตน้อยก็ต้องแบกรับต้นทุนสูงตามไปด้วย สำนักพิมพ์บางแห่งปรับตัวไม่ทันหรือแบกรับไม่ไหวก็ได้ปิดตัวไป แต่ขณะเดียวกันก็มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน 

 

“เรียกได้เต็มปากว่า ภาวะเศรษฐกิจมีผลและภาครัฐไม่ได้มีนโยบายกระตุ้นให้คนซื้อหนังสือ ถ้าเทียบกับหลายๆ ประเทศที่ภาครัฐจะมีงบเข้ามาสนับสนุนให้นักศึกษาจบใหม่ไปซื้อหนังสือ แต่ของไทยเราไม่มี โดยส่วนมากรัฐบาลไทยจะไปสนับสนุนให้ไปจัดกิจกรรม ไปออกบูธในงานหนังสือในต่างประเทศ เพื่อให้หนังสือไทยไปมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น” จักรกฤตย้ำ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising