สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย มองสถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้ปัจจุบัน ‘ดีกว่า’ ช่วงโควิด ที่ทำให้กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติต้องตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้ BSF ขึ้นมา เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยอธิบายว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณความตื่นตระหนก (Panic) ของนักลงทุนเท่าช่วงที่เกิดการระบาดหนัก
วันนี้ (10 มกราคม) ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวประเด็นกองทุนพยุงหุ้นกู้ว่า กองทุนที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ขณะนี้ อาจมีแนวทางมาจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหัวหอกในการจัดทำในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด พร้อมทั้งมองว่าสถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้ปัจจุบันกับยุคโควิดยังมีความแตกต่างกัน
โดยสถานการณ์ในยุคโควิด ดร.สมจินต์ อธิบายว่า ปัญหามีเป็นลักษณะเป็นเหมือนภูเขาไฟระเบิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Market Sentiment อย่างหนัก ที่ทำให้ทุกฝ่ายตกใจ หยุดการซื้อและขาย
ดังนั้น การตั้งกองทุนขึ้นมาในขณะนั้นจึงเป็นการบรรเทาความตื่นตระหนกของตลาดได้ (Panic) และทำให้ปัญหาไม่ขยายใหญ่ขึ้น
อย่างไรก็ดี ดร.สมจินต์ มองว่า สถานการณ์ที่เกิดในตลาดหุ้นกู้ขณะนี้ เป็นสิ่งที่สะสมและเกี่ยวเนื่องมาจากการระบาดของโควิด และไม่เห็นสัญญาณความตื่นตระหนกเท่ากับช่วงโควิด
“คำถามตอนนี้คือ ตลาดอยู่ในภาวะตื่นตระหนกหรือไม่ หากไม่ตื่นตระหนก วิธีการจัดการปัญหาควรจะทำแบบไหน ก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกัน” ดร.สมจินต์ กล่าว
ดร.สมจินต์ ยังชี้ให้เห็นว่า ส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อขาย (Bid/Offer Spread) ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการซื้อขายและความตื่นตระหนกของตลาด เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโควิด ซึ่งสะท้อนว่าตลาดไม่ยอมซื้อและไม่ยอมขาย
ThaiBMA เผย ไม่มีบริษัทใดขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กองทุน BSF ที่ตั้งขึ้นมาเป็นแหล่งการสนับสนุนสภาพคล่องสำรอง (Backstop) ในช่วงโควิด วงเงินรวมไม่เกิน 4 แสนล้านบาท โดยมีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ คือการให้สภาพคล่องผ่านการลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกใหม่
อย่างไรก็ตาม โดยตามข้อมูลของ ThaiBMA ระบุว่า ไม่มีบริษัทใดขอความช่วยเหลือจากกองทุนนี้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันนี้ กองทุน BSF ดังกล่าวหมดอายุไปแล้ว สะท้อนว่าประสิทธิภาพหลักของกองทุนนี้คือการตั้งขึ้นมาเพื่อบรรเทาความตื่นตระหนกและฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน