วันนี้ (14 มีนาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล คินซัง ดอร์จิ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย
ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
เอกอัครราชทูตฯ ย้ำว่า ประเทศไทยเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของภูฏาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า นอกจากนี้ ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของชาวภูฏานทั้งในด้านการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล และการศึกษา ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ต้องการสานต่อและเพิ่มพูนความร่วมมืออันดีกับไทยต่อไป
โอกาสนี้ ทั้งสองได้หารือเพื่อเตรียมการเสด็จพระราชดำเนินเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ (State Visit) เป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกมิติ และหน่วยงานทั้งสองประเทศจะได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้การเสด็จพระราชดำเนินเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ
ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศเชื่อมั่นว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนในครั้งนี้จะสร้างความปลื้มปีติให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน
ศศิกานต์กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน อาทิ การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงฯ ครั้งที่ 4 ระหว่างกัน และมุ่งหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะลงนามความตกลงฯ ในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 (The 6th BIMSTEC Summit) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนเมษายนปีนี้ โดยนายกรัฐมนตรีภูฏานจะเข้าร่วมประชุมด้วย
ส่วนโครงการเมืองอัจฉริยะ Gelephu Mindfulness City (GMC) หรือเมืองเกเลฟู เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า GMC มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของภูฏาน เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียใต้เข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการดึงดูดการลงทุนและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งรวมถึงไทยด้วย
ด้านนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสนใจลงทุนในโครงการ GMC ของภูฏาน ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และต้องการทราบข้อมูลนโยบาย กฎระเบียบและข้อบังคับการลงทุนใน GMC เพื่อศึกษาและเผยแพร่ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป