รายงานฉบับใหม่จากสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ธนาคารใน 7 ประเทศมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้กองทัพเมียนมาโจมตีประชาชนอย่างเป็นระบบและร้ายแรงได้ โดย ‘ประเทศไทย’ กลายเป็นแหล่ง (Sources) จัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์อันดับ 1 ของรัฐบาลเมียนมา ขณะที่แบงก์ไทยก็อำนวยความสะดวกการชำระเงิน (Facilitate Payments) ของรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2023 เช่นกัน
ทอม แอนดรูว์ ผู้สื่อข่าวพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา (UN Special Rapporteur for Human Rights in Myanmar) รายงานว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยกลายเป็นแหล่งทุนหลักที่กองทัพเมียนมาใช้ซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหาร เช่น ชิ้นส่วนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ ซึ่งใช้ในการสนับสนุนสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมากว่า 3 ปี รวมทั้งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและทำให้พลเรือนเสียชีวิตกว่า 5,000 คน
ทั้งนี้ นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจผ่านการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเมียนมาก็ได้ต่อสู้ในสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและกองกำลังต่อต้านจากประชาชนทั่วเมียนมา
แอนดรูว์กล่าวว่า กองทัพ ‘เพิ่ม’ การโจมตีทางอากาศที่ร้ายแรงต่อเป้าหมายพลเรือน 5 เท่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับวิกฤตด้านมนุษยธรรม เนื่องจากกองทัพพยายามขู่ให้พลเรือนหยุดต่อต้านกองทัพ และส่งผลให้ประชาชนกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่น
“กองทัพสามารถทำเช่นนั้นได้โดยการจัดหาอาวุธจากต่างประเทศ และสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยบริการที่พวกเขาได้รับจากธนาคารเหล่านี้” แอนดรูว์กล่าวกับ CNN
รายงานเรื่อง ‘Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar’ พบว่า มีธนาคาร 16 แห่งใน 7 ประเทศ ดำเนินการธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับการจัดหากองทัพในปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า อาวุธเทคโนโลยีสองทาง อุปกรณ์การผลิต และวัตถุดิบที่กองทัพได้รับจากต่างประเทศ มีมูลค่าถึง 253 ล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนเมษายน 2023 – มีนาคม 2024
“ด้วยการอาศัยสถาบันการเงินที่เต็มใจทำธุรกิจกับธนาคารของรัฐบาลเมียนมา กองทัพจึงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ต้องการได้โดยง่าย ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือนได้อย่างง่ายดาย” แอนดรูว์เขียนไว้ในรายงาน
อย่างไรก็ตาม ปริมาณอาวุธและเสบียงทางทหารที่กองทัพซื้อผ่านธนาคารต่างประเทศลดลง 1 ใน 3 จากปี 2566 โดยการส่งออกจากสิงคโปร์ลดลงอย่างมาก
“ข่าวดีก็คือ กองทัพถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ” รายงานระบุ “ข่าวร้ายก็คือ กองทัพกำลังหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรและมาตรการอื่นๆ โดยใช้ประโยชน์จากช่องว่างในระบบการคว่ำบาตร เปลี่ยนสถาบันการเงิน และใช้ประโยชน์จากความล้มเหลวของรัฐสมาชิกในการประสานงานและบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มที่”
แอนดรูว์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถ้าอยากแน่ใจว่าความรุนแรงเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น อย่าทำธุรกิจกับธนาคารของรัฐเมียนมา”
เปิดความเชื่อมโยงแบงก์ไทยกับรัฐบาลทหารเมียนมา
“การซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ของสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) จำนวนมากก่อนหน้านี้ที่ซื้อจากหน่วยงานในสิงคโปร์ ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ที่ใช้ในการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน ขณะนี้ได้มาจากประเทศไทย” รายงานกล่าว
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ หน่วยงานในสิงคโปร์ (Singapore-Based Entities) นับเป็นแหล่งอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเมียนมา แต่หลังจากการเปิดการสอบสวนของรัฐบาล อาวุธที่ส่งไปยังเมียนมาจากบริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ก็ลดลงเกือบ 90% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยย้อนกลับในปี 2022 ธนาคารในสิงคโปร์อำนวยความสะดวกอาวุธและยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่า 70% ของการซื้อผ่านระบบธนาคาร อย่างไรก็ดี ในรายงานล่าสุดพบว่า ภายในปี 2023 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือต่ำกว่า 20% แล้ว
ดังนั้นรัฐบาลทหารเมียนมาจึงต้องมองหาสถาบันการเงินในประเทศอื่นนั่นคือประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือประเทศไทย
ระหว่างปี 2022-2023 การส่งออกอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารที่มีฐานอยู่ในไทย (Thai-Based Entities) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจาก 60 ล้านดอลลาร์ เป็นเกือบ 130 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 กลายเป็นอันดับ 1 แทนจีน
ขณะที่แบงก์ในไทยก็อำนวยความสะดวกการชำระเงิน (Facilitate Payments) ของรัฐบาลทหารเมียนมา เป็นอันดับ 1 ในปี 2023 เช่นกันแทนที่สิงคโปร์ โดยมีการอำนวยความสะดวกการชำระเงินสูงถึง 130 ล้านดอลลาร์ในปี 2023
รายงานปรากฏชื่อ 16 แบงก์จาก 7 ประเทศ: ติดชื่อแบงก์ไทย 5 แห่ง
ในรายงานระบุว่า มี 16 แบงก์จาก 7 ประเทศทำธุรกรรมกับเมียนมา โดยปรากฏชื่อแบงก์ไทย 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารกรุงไทย
“ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหนึ่งในธนาคารไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว” รายงานระบุ
โดยในปี 2022 SCB อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทหารมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2023
อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า บริษัทให้บริการ ‘บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ’ ระหว่างไทยและเมียนมา ‘โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนธุรกิจไทยและต่างประเทศในการชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการไปยังเมียนมา’ CNN รายงาน
นอกจากนี้คำแถลงของธนาคารไทยพาณิชย์ยังกล่าวว่า ธนาคารปฏิบัติตามกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และจากการสอบสวนภายในระบุว่า ธุรกรรมกับเมียนมาไม่เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธ
“ธนาคารไทยพาณิชย์ขอยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง” แถลงการณ์กล่าวเสริม
ด้านแอนดรูว์ ผู้เขียนรายงาน บอกกับ CNN โดยระบุว่า “หวังว่า (การสอบสวน) จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในประเทศไทยเช่นเดียวกับในสิงคโปร์”
ในรายงานแอนดรูว์กล่าวว่า “สถาบันการเงินปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกรรมที่ร้ายแรงของรัฐบาลทหาร” ถือเป็น “เรื่องสำคัญ”
สมาคมธนาคารไทยแจง ‘ไม่หนุน’ การซื้ออาวุธใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (28 มิถุนายน) สมาคมธนาคารไทยชี้แจงกรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลเมียนมา จากกรณีที่สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) โดยระบุว่า
“สมาคมธนาคารไทยขอชี้แจงว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม รวมทั้งประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแลคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย
“นอกจากนี้ธนาคารสมาชิกยังมีหน่วยงาน Compliance ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติงานของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงฐานข้อมูลของบุคคล องค์กร และประเทศ ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีรายชื่ออยู่ในรายการที่ห้ามทำธุรกรรมธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
“ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยมีนโยบายชัดเจน ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน”
อ้างอิง: