×

โรมถามรัฐบาล ปมธนาคารในไทยอาจเอี่ยวธุรกรรมซื้ออาวุธของรัฐบาลเมียนมา ด้าน รมว.ต่างประเทศ ยัน ไทยไม่นิ่งเฉย เตรียมเรียกถก 24 ก.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
18.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาเป็นประธานการประชุมช่วงกระทู้ถามสด โดย รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ มอบหมายให้ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบแทน

 

รังสิมันต์กล่าวว่า กรณีรายงานของสหประชาชาติระบุว่า สถาบันการเงินของไทยกำลังถูกใช้เป็นทางผ่านเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อนำไปสนับสนุนการจัดซื้ออาวุธสำหรับทำสงครามปราบปรามประชาชนในประเทศ โดยมีข้อมูลว่าในปี 2566 ยอดธุรกรรมมีมูลค่ารวมถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

รายงานฉบับดังกล่าวนี้เกี่ยวพันกับระหว่างประเทศ และเนื้อหาสาระนั้นระบุว่า ธนาคารของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเมียนมา และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเมียนมาได้หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ จนสามารถซื้ออาวุธไปใช้ในการสังหารประชาชนชาวเมียนมาได้ เดิมนั้นธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจของเมียนมา ทั้ง MFTB และ MICB ถูกสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา หรือ OFAC คว่ำบาตรไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สามารถที่จะทำธุรกรรมเหล่านี้ได้อีกต่อไป

 

เนื่องจากเมียนมาถูกประกาศเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านธุรกรรมต่างๆ ดังนั้นการทำธุรกรรมระหว่างไทยและเมียนมาจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อประเมินว่าธุรกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงหรือไม่

 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ยอมรับว่า ธนาคารจะต้องนำข้อมูลการคว่ำบาตรของประเทศต่างๆ มาประกอบการพิจารณาความเสี่ยงในการทำธุรกรรม แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปี 2567 พบธนาคารแห่งหนึ่งมีมูลค่าการทำธุรกรรมเกี่ยวกับเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น หากพิจารณาข้อมูลเรื่องของการคว่ำบาตร ธนาคารของไทยจะต้องยุติการทำธุรกรรมและหยุดการทำธุรกิจกับบริษัทในเมียนมา

 

ดังนั้น การที่กระบวนการตรวจสอบของธนาคารไทยผิดแปลก ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะส่งผลต่อมาตรฐานทางการเงินของไทยด้วยหรือไม่ และอาจถูกประเมินจาก FATF ปี 2570 ที่อาจประเมินว่าระบบธนาคารของไทยไม่ได้มาตรฐาน ยังไม่นับรวมว่ารัฐบาลทหารเมียนมาได้เปลี่ยนมาใช้บริษัทที่ยังไม่ถูกคว่ำบาตร เพื่อมาทำธุรกรรมกับธนาคารของไทย

 

รวมถึงการเปิดบริษัทนายหน้าที่เป็นนอมินีมาดำเนินการ และมีรายงานอีกว่า มีบริษัทไทยอย่างน้อย 2 บริษัท อาจเป็นนอมินีของรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ หากรัฐบาลไม่สามารถให้คำยืนยันหรือมีข้อสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทบทวนกฎเกณฑ์ที่มี ก็ไม่อาจที่จะแก้ปัญหารัฐบาลเมียนมาจัดซื้ออาวุธเพื่อไปดำเนินการกับประชาชนในประเทศของตัวเอง

 

นอกจากนี้ หากทางการไทยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่ไม่ถูกต้อง ก็ยินดีที่จะให้ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งผู้แทนจากต่างประเทศต่างก็เชื่อมั่นและยินดีที่ทางการไทยพร้อมที่จะให้ดำเนินการตรวจสอบอย่างโปร่งใส

 

รังสิมันต์กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ธุรกรรมทางการเงินของไทย เพื่อซื้ออาวุธไปใช้สังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตนจึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีมาตรการต่อกรณีดังกล่าวนี้อย่างไร รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องใดไปแล้วบ้าง เพื่อตรวจสอบรายชื่อที่ปรากฏนี้หรือยัง และผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร

 

มาริษได้ชี้แจงต่อกระทู้ดังกล่าว พร้อมยืนยันจุดยืนและความชัดเจนของรัฐบาลไทยว่า ไม่มีนโยบายสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ส่งเสริมให้ใช้กระบวนการทางการเงินของไทยไปกระทำการที่ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ทางการไทยก็เคารพความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

 

สำหรับเอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารประกอบการประชุม โดยระบุในรายงานว่า ยังไม่พบหลักฐานกรณีที่ระบุในรายงานว่าธนาคารของไทยรับรู้ว่ามีการดำเนินการทางธุรกรรมทางการเงินว่าซื้อยุทธภัณฑ์ และทางการเมียนมาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ รวมถึงไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ารัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้เกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นเพียงเอกสารประกอบการประชุมและไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าสถาบันการเงินของไทยรับรู้กรณีดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องของการตรวจสอบ มีคำแถลงชี้แจงหลายครั้ง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ปปง. ได้ชี้แจงว่า มีมาตรฐานทางการเงิน และไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธให้แก่องค์กรทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

 

เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ซึ่งได้กล่าวถ้อยแถลงการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 56 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ย้ำท่าทีตาม ธปท., ปปง. และธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งของไทย ยืนยันนโยบายของรัฐบาลไทยที่จะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินในการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสังหารประชาชนในประเทศใดก็ตาม

 

เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้แจ้งอีกว่า หากผู้เสนอรายงานพิเศษให้ข้อมูลของบริษัทหรือธุรกรรมที่ชัดเจน ทางการไทยก็พร้อมตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งผู้เสนอรายงานพิเศษยอมรับเองทั้งลายลักษณ์อักษรและทางวาจาในช่วงการประชุมดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ในการสนทนากับเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา นั้นยอมรับว่า การตรวจสอบทางการเงินดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย และแสดงความยินดีที่ทางการไทยรับทราบและมีคำแถลงชี้แจงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งขอบคุณที่ทางการตรวจสอบข้อมูลตามรายงานของตนอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ โดยพร้อมที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับฝ่ายไทยเกี่ยวกับแนวทางในการตรวจสอบ

 

ทั้งนี้ เคยมีหลายกรณีที่มีการร้องเรียนจากต่างประเทศ และผู้ร้องเรียนมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินธุรกรรมของบริษัทในไทยที่เข้าข่ายการทำธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือใช้ไปในการประกอบการซื้อขายอาวุธ หรือเสี่ยงกับการกระทำผิดใดๆ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอ

 

สำหรับกรณีนี้ได้มีการเรียกประชุมแล้ว พร้อมมอบหมายให้ทุกฝ่ายตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งทั้งหมดได้ทำตามกระบวนการที่ชัดเจนตามมาตรฐานสากล กระทรวงการต่างประเทศจะประชุมเพิ่มเติมในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เพื่อตรวจสอบและตักเตือนให้ระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวต่อไป

 

สำหรับข้อเรียกร้องมีมาตรการทางการเงินกับลูกค้า รัฐวิสาหกิจ ที่เมียนมาเป็นเจ้าของนั้น เปรียบเสมือนข้อเรียกร้องให้ไทยมีมาตรการคว่ำบาตรทางการเมียนมา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเราไม่ต้องการเห็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอนาคต

 

มาริษยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญในเรื่องของมนุษยธรรม คำนึงถึงผลกระทบของการคว่ำบาตรเมียนมา เนื่องจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนชาวเมียนมาที่ประสบความยากลำบากมากอยู่แล้วจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของเมียนมา มีการค้าขายติดต่อชายแดนระหว่างกัน และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ต้องรักษาความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ

 

เมื่อรายงานของผู้เสนอรายงานพิเศษไม่ได้ระบุว่า พบหลักฐานชัดเจนที่บ่งชี้ว่าธุรกรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการซื้อขายอาวุธโดยตรง หรือมีกองทัพเมียนมาเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ตลอดจนยอมรับว่าไม่มีหลักฐานระบุได้ว่า รัฐบาลไทยมีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าว แต่เป็นเพียงการอนุมาน โดยสร้างสมมติฐานของผู้เสนอรายงานพิเศษจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารเองเท่านั้น

 

ดังนั้น หน้าที่ของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องชั่งน้ำหนักและดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยและผู้ประกอบการชาวไทย

 

“ไม่ได้หมายความว่าผมจะปฏิเสธ แต่ผมจะรับไปพิจารณา เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับเป้าหมายของทั้งผู้แทนราษฎรและรัฐบาล” มาริษ​กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X