×

แบงก์รัฐ-เอกชนทยอยลดดอกเบี้ย 0.25% ตามคำขอนายกฯ นักวิเคราะห์เชื่อ ไร้ผลกระทบต่อกำไร

02.05.2024
  • LOADING...

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เชิญผู้บริหาร 4 ธนาคารใหญ่เข้าหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 

 

ภายหลังการหารือดังกล่าว นำมาซึ่งการประชุมของ ‘สมาคมธนาคารไทย’ ที่มีมติลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เพื่อช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SMEs เป็นเวลา 6 เดือน แม้ว่าการประชุมครั้งล่าสุด (10 เมษายน) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี 

 

นับจากวันที่สมาคมธนาคารไทยมีมติว่าจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (2 พฤษภาคม) ปรากฏว่า มีธนาคารทั้งที่เป็นของรัฐบาลและธนาคารพาณิชย์เอกชนทั้งหมด 12 แห่งที่ประกาศลดดอกเบี้ยแล้ว  

 

ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลกระทบต่อกำไรของแต่ละแบงก์น่าจะค่อนข้างจำกัด แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือของบางแบงก์จะมากกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ 

 

“เดิมทีตลาดคาดว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยเฉพาะ MRR แต่บางแบงก์ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในส่วนอื่นด้วย รวมทั้งการที่บางแบงก์ลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่มนอกเหนือจากกลุ่มเปราะบาง” 

 

อย่างเช่น กรณีของธนาคารกรุงเทพ แม้จะลดดอกเบี้ยทั้งพอร์ตของลูกค้ารายย่อย แต่ลูกค้ารายย่อยคิดเป็นเพียง 10% ของยอดปล่อยสินเชื่อทั้งหมด จึงกระทบต่อกำไรไม่ถึง 1% 

 

ส่วนธนาคารกรุงไทยที่ลดดอกเบี้ยทั้งในส่วนของ MRR, MLR และ MOR แต่จำกัดแค่ลูกหนี้รายย่อยที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อราว 2 แสนล้านบาท ทำให้ผลกระทบต่อกำไรคิดเป็นเพียงประมาณ 250 ล้านบาท หรือราว 0.7% ของประมาณการกำไรปีนี้ 

 

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทยที่เน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง วงเงินสินเชื่อราว 80,000-100,000 ล้านบาท ทำให้ผลกระทบต่อกำไรจะน้อยกว่า 250 ล้านบาท 

 

“ในแง่พื้นฐานของแต่ละแบงก์ไม่ได้กระทบมากนัก และในมุมกลับกันยังช่วยให้การตั้งสำรองของแต่ละแบงก์ลดลง ช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป” 

 

ส่วนแนวโน้มกำไรของกลุ่มแบงก์ในปีนี้ หลังจากที่ไตรมาส 1 ทำได้ราว 6.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อน ตฤณกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2 น่าจะเติบโตทั้งจากไตรมาสแรกและจากปีก่อน หลังจากที่บางแบงก์ตั้งสำรองไปค่อนข้างสูงในไตรมาสแรก ขณะเดียวกันเงินปันผลจากเงินลงทุนของแบงก์ส่วนมากจะเข้ามาในช่วงไตรมาส 2 

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารต่างๆ สะท้อนว่าธนาคารน่าจะเล็งเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในเวลานี้คือ การลดภาระระยะสั้นให้กับลูกหนี้ 

 

“ส่วนผลกระทบต่อธนาคารต่างๆ อาจจะมีบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะไม่ใช่การลดดอกเบี้ยสำหรับพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด” 

 

 

แบงก์รัฐ-เอกชนขานรับนายกฯ แห่ลดดอกเบี้ย 0.25% ช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเปราะบางเป็นเวลา 6 เดือน นักวิเคราะห์ประเมินผลกระทบน้อยมากเมื่อเทียบกับประมาณการกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารในปีนี้ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X