×
SCB Omnibus Fund 2024

สมาคมธนาคารไทยมั่นใจฐานะแบงก์แกร่ง แม้ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างกว่า 2 ล้านล้าน ชูโรดแมป 3 ปี มุ่งสู่ดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้า

18.11.2021
  • LOADING...
สมาคมธนาคารไทย

สมาคมธนาคารไทยเปิดโรดแมป 3 ปี ธุรกิจแบงก์ต้องปรับตัว ‘4F’ มุ่งสู่ดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ด้วยความรวดเร็วพร้อมสร้างความยั่งยืนให้ระบบเศรษฐกิจ ย้ำฐานะแบงก์ยังแกร่ง แม้ต้องแบกรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าส่งเสริมประสิทภาพธุรกิจการทำการค้าระหว่างภูมิภาค

 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในหัวข้อ ‘วิกฤตโควิด-19 จุดเปลี่ยน สู่อนาคตธุรกิจการเงินไทย’ จัดโดยวารสารการเงินธนาคารว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิดได้สร้างแผลลึกให้เศรษฐกิจ แม้หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศได้ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นราว 5.5-6% ในปีนี้ และจะโตต่อเนื่องราว 4-5% ในปีหน้า 

 

ส่วนประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่การฟื้นตัว มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตราว 4-5% รั้งท้ายในอาเซียน

 

ในภาคการเงินการธนาคารก็เผชิญความท้าทายเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ราว 20% ของสินทรัพย์เสี่ยง และมีเงินสำรองต่อ NPL 152% แต่ก็ต้องแบกความเสี่ยงจากการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือความท้าทายของโลกใบใหม่ จะเห็นสถาบันการเงินปรับตัว 4 ทิศทาง (4F) คือ Full Scale Digital, Fueled by Data, For a Better World และ Fast Moving ด้วยการพัฒนาเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลที่รวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคในโลกออนไลน์ และธุรกิจการเงินจะแข่งขันด้วยข้อมูล (Big Data) มากขึ้น จะเห็นการใช้ AI และ Machine Learning เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า ควบคู่ไปกับการรักษาข้อมูลความลับลูกค้า ทำธุรกิจตามกรอบความยั่งยืน หรือ ESG ทั้งในเรื่องพลังงานสะอาด สังคมสูงอายุ และผลักดันการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโต

 

ขณะเดียวกันต้องปรับตัวรับการดิสรัปของคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามา บทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงินจะลดลงจากการเข้ามาของระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) ทำให้ดิจิทัลเลนดิ้งทั่วโลกโตเท่าตัวใน 5 ปีข้างหน้า คู่แข่งรายใหม่แม้แต่ร้านสะดวกซื้อก็หันมาให้บริการ Embedded Finance หรือ Buy Now Pay Later (BNPL) มากขึ้น อาจจะโตถึงปีละ 60% ท้าทายสถาบันการเงินให้เร่งสร้างนวัตกรรมหรือมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

 

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกได้ร่วมกันวางโรดแมป 3 ปีข้างหน้า มุ่งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นสถาบันการเงิน ยกระดับการแข่งขันประเทศทั้งระดับภูมิภาคและโลก โดยธีมแรก คือ Enabling Country Competitiveness เป็นกลไกเพิ่มการแข่งขันให้กับประเทศ ส่งเสริมภาคเอกชนทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมกับ ธปท. พัฒนาโครงสร้างของประเทศ บนแนวคิดที่ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูลให้ครบวงจร สร้างความเป็นธรรมให้กับแบงก์และนอนแบงก์ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยข้อมูลด้วย

 

ธีมถัดมาคือ Regional Champion ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนสามารถทำกิจกรรมทางการค้า การซื้อขายออนไลน์ และการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างไหลลื่นในต้นทุนต่ำ เชื่อมโยงการเงินภูมิภาค หลังจากที่เราร่วมกับ ธปท. พัฒนาการชำระผ่าน QR ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)   

 

ธีมที่ 3 คือเรื่องของ Sustainability การดำเนินงานของธนาคารเอง การมีส่วนผลักดันในการดำเนินธุรกิจภาคเอกชนที่คำนึงถึงกระแสความยั่งยืน หรือ ESG การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นโอกาสธุรกิจของประเทศไทย แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน การส่งเสริมให้เอกชนและประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

 

และ 4. Human Capital การสร้าง Pool of Talent ให้มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต ทั้งในเชิงกำลังคนที่จะต้องปรับและเพิ่มทักษะต่างๆ ให้พนักงานกว่าแสนรายทั้งระบบ ให้พร้อมรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่มุ่งสู่โลกดิจิทัล

 

“โลกอนาคตภาคการเงินธนาคารจะเปลี่ยนโฉมไปมาก จากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ภายใต้โจทย์ใหม่ ในการผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ โรดแมปนี้จะทำให้สถาบันการเงินไทยก้าวเข้าสู่ปี 2565 และปีต่อไปได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising