×

สมาคมธนาคารไทย-นายแบงก์ ขานรับนโยบาย ธปท. เชื่อช่วยประคองธุรกิจรอด

โดย efinanceThai
22.06.2020
  • LOADING...

สมาคมธนาคารไทย-นายแบงก์ หนุนนโยบาย ธปท. งดจ่ายปันผล-ซื้อหุ้นคืน เชื่อช่วยระบบแบงก์พาณิชย์แข็งแกร่งระยะยาว หลังรายได้ชะลอ เชื่อช่วยเป็นเสาหลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว

  

ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้ในการทำธุรกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และในระหว่างที่ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนใหม่นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืนนั้น เป็นมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์จะรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

  

ทั้งนี้ การงดจ่ายเงินปันผลข้างต้นนั้นจะเป็นเฉพาะเงินปันผลเฉพาะกาล ไม่ใช่การจ่ายเงินปันผลรายปีที่ธนาคารพาณิชย์ยังพิจารณาจ่ายได้ตามสมควร นอกจากนี้แนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับความเห็นและแนวทางที่เสนอโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ที่มองว่าธนาคารพาณิชย์ควรให้น้ำหนักกับการสะสมทุนให้เข้มแข็ง เพื่อรองรับเหตุการณ์เสี่ยงในภาวะวิกฤตระดับโลก (Pandemic) ในปัจจุบัน ตลอดจนเพื่อให้สามารถทำหน้าที่หลักในการให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจและครัวเรือน และรับมือกับภาระการตั้งสำรองสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้น ด้วยการงดกิจกรรมอื่นๆ ที่กระทบต่อเงินกองทุน เช่น การจ่ายเงินปันผล หรือการซื้อหุ้นคืน แม้ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2563 สูงถึงร้อยละ 18.4 และกว่าร้อยละ 20 ตามลำดับก็ตาม นอกจากนี้ IMF ยังมองว่าทางเลือกดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนผ่านผลตอบแทนที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

  

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีระดับเงินกองทุนที่เข้มแข็ง โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,616,162 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ร้อยละ 18.9 ซึ่งนับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของ ธปท. ที่ร้อยละ 11.0 (ระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่ร้อยละ 8.5 และ Conservation Buffer ร้อยละ 2.5) และสูงกว่ามาตรฐานสากลของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ที่ร้อยละ 10.5 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็มีการวางแผนเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนเป็นปกติประจำอยู่แล้ว

  

นอกจากนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็ยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ รวมไปถึงรองรับการชำระคืนเงินฝากแก่ประชาชน ตลอดจนหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุน โดยระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใกล้เคียงเงินสด เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐบาลถึง 4.38 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความต้องการถอนเงินและใช้เงินในระยะสั้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อีกทั้งยังสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 1.8 เท่า

  

“ด้วยสถานะทุนและสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่เข้มแข็งในระดับมาตรฐานโลก ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังสามารถทำหน้าที่สำคัญในการขยายสินเชื่อ ช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาทุกกลุ่ม และดูแลจัดการปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ไปได้เช่นกัน ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเราจะผ่านพ้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน” ปรีดีกล่าว

 

นอกจากนี้ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ปรีดีเปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า ผลกระทบต่อธนาคารกสิกรไทยยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ ซึ่งต้องมีการศึกษาและประเมินอีกครั้ง ในขณะที่ผลกระทบต่อภาพรวมธนาคารนั้นประเมินได้ยากเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างรายได้ของแต่ละธนาคารมีความแตกต่างกัน

 

ด้าน อดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริการ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า ปัจจุบันรายได้ของธนาคารจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะรายได้จากดอกเบี้ย เนื่องจากการช่วยเหลือลูกค้า ไม่ว่าจะใช้วิธีลดดอกเบี้ย การยืดเวลาผ่อนชำระ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน

  

“กระทบรายได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะดอกเบี้ย ถ้ามองในมุมธนาคาร แต่ถ้ามองในมุมลูกค้า การที่ทำให้ลูกค้าหายใจได้คล่องขึ้น โอกาสรอดก็จะมี ถ้าลูกค้ารอด แบงก์ก็รอด แบงก์ต้องยอมเฉือนเนื้อไปบ้าง เพื่อหาจุดสมดุลใหม่ ตอนนี้ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าการประคองให้ลูกค้าอยู่รอด เพราะจะทำให้เรารอดไปด้วยกัน” อดิศรกล่าว

  

ส่วนกรณีการงดการจ่ายปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืนนั้น อาจกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนที่หวังได้เงินปันผลจากการถือหุ้นธนาคาร ซึ่งสะท้อนไปยังราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร อาจมีการปรับลดลงเมื่อตลาดเปิดทำการ แต่เชื่อว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะได้รับผลกระทบระยะสั้น เพราะถ้ามองระยะยาวจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร

  

โดยสถานการณ์ปัจจุบันทั้งภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เงินกองทุนของธนาคารต้องแข็งแกร่ง เพื่อรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจขึ้นไปสูงถึง 10% โดยหากปล่อยปัญหาให้ลากยาว ผลการดำเนินงานธนาคารจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

  

“กำไรปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนแน่นอน ซึ่งปีนี้อาจเห็นบางแบงก์ขาดทุนก็ได้ แต่การยืดหนี้ออกไปอีก 2-3 ปี หรือลดดอกเบี้ย 1-2% ผมก็ยังเชื่อว่าแบงก์ยังมีกำไร แต่คงไม่มาก ดูได้จากไตรมาส 1 ขนาดเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว โควิด-19 เริ่มมา ลดดอกเบี้ยอีก กลุ่มแบงก์ยังมีกำไรเป็นแสนล้าน” อดิศรกล่าว

 

วรภัค ธันยาวงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Facebook ว่า ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ห้ามธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไม่ให้จ่ายเงินปันผลและไม่ให้ซื้อหุ้นคืน ก็เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ในมุมมองของ ธปท. เศรษฐกิจไทยคงจะทรุดหนักกว่าตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน

  

ผมคิดว่า ประชาชนโดยทั่วไปไม่ต้องตื่นตระหนก ผมยังคิดว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ ในเวลานี้แต่ละธนาคารยังมีฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแรง CAR Ratio ของธนาคารใหญ่ๆ ยังอยู่ในระดับประมาณ 15%

  

ถ้าดูจากผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่รายงานออกมาเมื่อสิ้นไตรมาสแรกในปีนี้ แต่ละธนาคารยังตั้งสำรองหนี้สูญตามปกติ ยกเว้นบางธนาคาร เช่น แบงก์กรุงศรีที่เป็นธนาคารใหญ่ระดับต้นๆ ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสูงที่สุดคือเกิน 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ธนาคารใหญ่ๆ ที่เหลือยังตั้งสำรองหนี้สูญในไตรมาสแรกตามปกติ เสมือนกับโควิด-19 ยังไม่ส่งผลอะไรกับพอร์ตลูกหนี้ที่ธนาคารมีอยู่

  

แต่ถ้าเราดูเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในโลก ไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย และธนาคารในยุโรปส่วนใหญ่ ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ในต่างประเทศมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสูงมากตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารเจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีการตั้งสำรองสูงขึ้นเกือบ 200% ในไตรมาสแรก และประมาณการการตั้งสำรองทั้งปีในปีนี้จะสูงมากกว่าปีที่แล้วถึง 4 เท่า ธนาคารในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียก็มีการตั้งสำรองไว้สูงมากตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ รวมทั้งประมาณการการตั้งสำรองทั้งปีก็เพิ่มขึ้นสูงมากถึง 3-4 เท่า

  

แต่พอดูตัวเลขของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยไตรมาส 1 ของปีนี้ แล้วก็แปลกใจมากว่าทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยถึง ‘ยอม/หย่อน’ การกำกับธนาคารพาณิชย์ในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ในความเห็นผม ตัวเลขการตั้งสำรองหนี้สูญของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปีนี้ไม่สะท้อนกับสภาพความเป็นจริง เพราะธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ หนำซ้ำธนาคารใหญ่บางธนาคารยังตั้งสำรองในไตรมาสแรกต่ำกว่าปีที่แล้วด้วย

  

“ผมเองก็ยังงงกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ส่งสัญญาณค่อนข้างแรงที่ห้ามไม่ให้ธนาคารจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืน แต่ในขณะเดียวกันก่อนหน้านี้เหมือนหลับตาข้างเดียวในการตั้งสำรองหนี้สูญ ตลาดหุ้นไทยช่วงอาทิตย์หน้า (วันจันทร์) คงปั่นป่วนพอสมควรจากประกาศนี้

  

“ผลกระทบโควิด-19 ถ้าดูแบบง่ายๆ เร็วๆ จะมีลูกหนี้/อุตสาหกรรมอยู่ 3 กลุ่ม คือ ฟื้นเร็ว ฟื้นช้า และไม่ฟื้นเลย ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่ากระแสเงินสดจากการทำธุรกิจหายไป 1 ปี ใครคือลูกค้า 3 กลุ่มนี้ของธนาคารบ้าง ถ้าธนาคารสามารถวิเคราะห์ให้เห็นภาพนี้ชัดขึ้นเมื่อไร ก็สามารถที่จะมีแผนยุทธศาสตร์และนโยบายที่เหมาะสมมาเยียวยาและประคับประคอง แต่ละกลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาเหล่านี้ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน ปัญหาโควิด-19 คงจะไม่หายไปง่ายๆ ครับ Zero Wave is Unlikely!”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

เรียบเรียง: จารุวรรณ เอี่ยมยิ่งพานิช

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com   

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X