ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ธนาคารพาณิชย์ทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้หลังโควิด-19 คลี่คลาย ที่สำคัญระหว่างที่ทำแผนนี้ ธปท. ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 และงดการซื้อหุ้นคืน
ในส่วนระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีระดับเงินกองทุน ณ สิ้นเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 18.9% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. ที่ 11.0% และสูงกว่ามาตรฐานสากลของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ที่ 10.5% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็มีการวางแผนเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนเป็นปกติประจำอยู่แล้ว
นอกจากนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็ยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ รวมไปถึงรองรับการชำระคืนเงินฝากแก่ประชาชน ตลอดจนหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุน โดยระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใกล้เคียงเงินสด อาทิ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรรัฐบาลถึง 4.38 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความต้องการถอนเงินและใช้เงินในระยะสั้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อีกทั้งยังสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 1.8 เท่า
ทั้งนี้มองว่าแนวทางของ ธปท. สอดคล้องกับความเห็นและแนวทางที่เสนอโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ที่มองว่าธนาคารพาณิชย์ควรให้น้ำหนักกับการสะสมทุนให้เข้มแข็งเพื่อรองรับเหตุการณ์เสี่ยงในภาวะวิกฤตระดับโลก (Pandemic) ในปัจจุบัน และเพื่อทำหน้าที่หลักในการให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยต้องรับมือกับภาระการตั้งสำรองสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้น ผ่านการงดกิจกรรมอื่นๆ ที่กระทบต่อเงินกองทุน อาทิ การจ่ายเงินปันผลหรือการซื้อหุ้นคืน โดยระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2563 18.4% และกว่า 20% ตามลำดับ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า