×

จับตา ‘หนี้เสียแบงก์’ สิ้นปี 67 ปะทุแตะ 5.4 แสนล้านบาท พุ่งแตะ 3.8% แซงช่วงวิกฤตโควิด เซ่นปัญหาหนี้บ้าน, รถ, SMEs

16.07.2024
  • LOADING...
หนี้เสียแบงก์

ปัญหาหนี้เสียยังน่าห่วง บล.เอเซีย พลัส มอง NPL เป็นวัฏจักรขาขึ้น คาดหนี้เสียแบงก์ไทยพุ่งแตะ 3.8% ในสิ้นปีนี้ คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียแตะ 5.4 แสนล้านบาท แซงหน้าปี 2562 ที่โรคโควิดระบาดที่มี NPL อยู่ที่ 3.7%

 

ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนวโน้มของหนี้เสีย (NPL) ของภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยนับแต่ปี 2557-2567 ถือเป็นวัฏจักรขาขึ้นมาต่อเนื่อง โดย NPL ของ 8 ธนาคาร ที่ฝ่ายวิจัยครอบคลุมออกบทวิเคราะห์ ได้แก่ BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TTB และ TISCO ณ สิ้นไตรมาส 1/67 ออกมาอยู่ที่ 3.6%

 

ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 2/67 คาดว่า NPL จะขยับขึ้นมาเป็น 3.7% ตามทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่อ่อนแอ รวมทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว พร้อมทั้งมองว่า NPL จะยังเป็นขาขึ้นต่อไปอีกสักระยะ

 

ข้อมูลสินเชื่อและเงินฝาก

 

คาด NPL สิ้นปี 2567 แตะ 5.4 แสนล้านบาท

 

แนวโน้มของ NPL ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่ NPL อยู่ที่ระดับ 3.5% และ ณ สิ้นปี 2567 คาดว่า NPL ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่ง มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับประมาณ 3.8% คิดเป็น NPL มูลค่าหนี้เสียประมาณ 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2562 ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด ซึ่งสร้างผลกระทบวงกว้างทั้งภาคธุรกิจและประชาชน โดยในปีนั้น NPL อยู่ที่ 3.7%

 

สำหรับภาพของ NPL ปี 2567 ยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบจากความเปราะบางของกลุ่มหนี้ภาคครัวเรือน ทั้งกลุ่มสินเชื่อรายย่อย, หนี้บ้าน, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจ SMEs ที่มีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

โครงสร้างสินเชื่อ ณ สิ้นงวดไตรมาส 1/67

 

ทั้งนี้ โดยรวม NPL ของธนาคารทั้ง 8 แห่ง ณ สิ้นไตรมาส 1/67 มีมูลค่าราว 5.1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้ NPL จะเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส แต่ภาคธนาคารยังมีกลไกดูแลบริหารจัดการรับมือเพื่อไม่ให้ NPL ปรับเพิ่มขึ้นมากเกินไป ทั้งการตั้งสำรองหรือขาย NPL ออกมา แม้ว่า NPL ในระบบจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

“TISCO รายงานตัวเลข NPL สิ้นงวดไตรมาส 2/67 ออกมา 2.44% ถือว่าสูงกว่าที่คาดไว้ โดยรวม NPL ของกลุ่มแบงก์ ณ สิ้นปี 2567 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% นั้น นับเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ยังไม่ได้นับรวม NPL จากกรณีที่บิ๊กคอร์ปอาจประสบปัญหาและนำไปสู่การผิดชำระหนี้ ซึ่งใน 2566 ทั้ง 8 แบงก์มีการตั้งสำรองรวมกันไปแล้วราว 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ตั้งสำรองไป 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่โดนกระทบจากโรคโควิด แต่ทั้งปี 2567 คาดว่าตัวเลขการตั้งสำรองจะทรงตัวจากปี 2566 ที่ระดับ 2.3 แสนล้านบาท”

 

ข้อมูล NPL ช่วงไตรมาส 1/65-1/67

 

กำไรรวมไตรมาส 2/67 แบงก์แตะ 6.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.5%QoQ

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีอาจเริ่มมีความหวังดีขึ้นจากปัจจัยการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเริ่มทยอยออกมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยมาพยุงสถานการณ์ปัญหาการไหลตกชั้นของลูกหนี้ไปเป็น NPL ไม่ให้แย่ไปกว่าระดับปัจจุบัน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ก็มีนโยบายในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยด้วย

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จำนวน 8 ธนาคาร ได้แก่ BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TTB และ TISCO งวดไตรมาส 2/67 รวมกันจะอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อน (QOQ) และทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่อ่อนตัวตามภาพรวมการปล่อยทิศทางสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นไปตามภาพของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่เท่าเทียมกัน กดดันต่อพอร์ตลูกหนี้แทบทุกประเภทสินเชื่อทั้งธุรกิจและรายย่อย

 

 

คาดการณ์กำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2/67

 

“การเติบโตของกลุ่มแบงก์ปีนี้ถือว่าเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะผลกระทบปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ GDP ขยายตัวได้เพียง 2-3% ต่อปี”

 

ทั้งนี้ หากกำไรไตรมาส 2/67 ออกมาตามคาด จะส่งให้กำไรสุทธิช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่งออกมาเท่ากับ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) โดยคิดเป็นสัดส่วน 52% ของประมาณการทั้งปีฝ่ายวิจัยที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY)

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising