×

เงินบาทไทย ‘ทรงตัว’ แม้ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 36% สรุปปัจจัยชี้ชะตาระยะต่อไป แข็งค่าหรืออ่อนค่า

08.07.2025
  • LOADING...

SCB FM มอง เงินบาท ยัง ‘ทรงตัว’ หลังทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 36% มองหากสหรัฐฯ เลื่อน Deadline หรือลดภาษีให้ไทยอาจดันบาทแข็งค่า แต่หากสถานการณ์การเมืองไทยแย่ลง สหรัฐฯ ใช้ไพ่สวมสิทธิ์ส่งออกต่อรองไทย หรือไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา ‘สูง’ อาจฉุดบาท ‘อ่อนค่า’

 

วันนี้ (8 กรกฎาคม) วันนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบราว 32.44–32.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นราว 0.10-0.30% จากวันก่อน สะท้อนว่า เงินบาทค่อนข้างทรงตัวในทิศแข็งค่า แม้สกุลเงินเอเชียหลายสกุลอ่อนค่า เช่น เยน (USD/JPY) ริงกิต (USD/MYR) และดอลลาร์ฮ่องกง (USD/HKD) หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ร่อนจดหมายประกาศเก็บภาษีนำเข้า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ

 

ด้านวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 36% แต่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป สำหรับผลกระทบต่อเงินบาท พบว่าเงินบาทยัง ‘ทรงตัว’ หลังจากที่อ่อนค่าขึ้นไปราว 30 สตางค์ (ราว 0.9%) ตั้งแต่วันก่อน เพราะมีรายงานข่าวว่า ทรัมป์เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม BRICS เพิ่มอีก 10% (จากเดิมที่ถูกเรียกเก็บที่ 10% อยู่แล้ว)

 

SCB FM ชี้อีกว่า หากดูจากแถลงการณ์ของสหรัฐฯ จะพบว่า ในระหว่างนี้ ทรัมป์ยังเปิดโอกาสให้ไทยเข้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และหากเป็นที่น่าพอใจก็พร้อมจะปรับลดอัตราภาษีลงให้ได้บางส่วน

 

โดยทางสหรัฐฯ ยังเปิดช่องทางให้ไทยเจรจา โดยกล่าวว่าหากไทยสามารถ (1) เข้าไปลงทุนและผลิตสินค้าในสหรัฐฯ (2) นำเข้าสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้น และ (3) ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากสหรัฐฯ ก็อาจพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงได้

 

ย้อนกลับไป เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดทางการไทยได้ยื่นข้อเสนอล่าสุดต่อสหรัฐฯ ไป ซึ่งค่อนข้างครอบคลุมกับสิ่งที่สหรัฐฯ เรียกร้องในแถลงการณ์จึงมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะลดภาษีลงได้

 

สหรัฐฯ ลดภาษีให้ไทยเหลือ 20-35% อาจดันบาทแข็งค่า

 

อย่างไรก็ดี หากประเมินจากข้อเสนอที่เวียดนามได้ยื่นให้แก่สหรัฐฯ และอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากเวียดนามที่ 20% ก็ทำให้อนุมานได้ว่า ไทยอาจถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า 20% ได้ จึงมองว่ามีโอกาสที่ไทยอาจถูกปรับลดภาษีลงมาอยู่ระหว่าง 20-35% ซึ่งอาจทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากระดับปัจจุบันได้

 

จับสถานการณ์การเมืองไทยจะแย่ลงดันบาทอ่อน

 

สำหรับผู้ส่งออก USDTHB ที่ระดับราว 32.50-32.80 เป็นระดับที่ขายได้ โอกาสที่บาทจะอ่อนค่าแรงมีน้อยลงแล้ว เว้นแต่สถานการณ์การเมืองไทยจะแย่ลง โดยหากไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้เร็ว หรือมีแนวโน้มที่จะยุบสภา ก็อาจทำให้บาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

หากสหรัฐฯ ใช้ไพ่สวมสิทธิ์ส่งออกต่อรองไทยบาทจ่ออ่อน

 

สำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องการสวมสิทธิ์ส่งออกของจีน ซึ่งยังไม่ถูกกล่าวถึงในแถลงการณ์ของสหรัฐฯ และเป็นปัญหาใหญ่ที่ไทยอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไข หากประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาใช้ต่อรองกับไทย ก็อาจเป็นเหตุให้ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงได้ และทำให้บาทอ่อนค่าต่อ

 

สำหรับผู้นำเข้า USDTHB ที่ระดับราว 32.00-32.30 เป็นระดับที่ซื้อได้ โดยวชิรวัฒน์มองว่า อาจให้รอการเจรจาการค้าระหว่างทางการไทยกับสหรัฐฯ ไปก่อน ซึ่งมองว่าที่ผ่านมา หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษี หรือขู่ว่าจะขึ้น จะพบว่าดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นพร้อมกับสกุลเงินภูมิภาคที่อ่อนค่าลง

 

เลื่อน Deadline – ลดภาษีไทยดันบาทแข็ง

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการเลื่อน Deadline ออกไปหรือลดอัตราภาษีลงบางส่วน ค่าเงินภูมิภาคก็จะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งในรอบนี้ SCB FM มองว่ามีโอกาสสูงที่เงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าในกรอบใกล้เคียงเดิม จึงแนะให้ลูกค้ารอเข้าซื้อได้

 

อย่างไรก็ดี ด้วยเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น ตลาดแรงงาน) ที่ออกมาดี ทำให้โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงเร็วมีน้อยลง จึงทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์อาจไม่อ่อนค่าได้มากในระยะสั้นนี้ จึงมองว่าโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าต่ำกว่า 32.00 มีไม่มากนัก แต่ในระยะยาว (เช่น ปลายไตรมาส 3) ก็อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 32.00 ได้ในบางช่วง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising