×

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้าวันนี้อ่อนค่าเฉียดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ กังวลโควิดระบาดหนัก ตลาดเงินปิดรับความเสี่ยง

02.08.2021
  • LOADING...
เงินบาท

เงินบาทเปิดเช้านี้ (2 สิงหาคม) ที่ระดับ 32.96 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดการเงินกังวลปัญหาการระบาดของโควิดมากขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมกลับมาสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัปดาห์นี้ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามการระบาดของโควิดทั่วโลกอย่างใกล้ชิด หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มน่ากังวลมากขึ้น และอาจกดดันให้ตลาดกลับมาสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ภาคการบริการขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกรกฎาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 60 จุด ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมนั้นยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.9 จุด ทั้งนี้ การจ้างงานอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่บ้าง แต่โดยรวม ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกรกฎาคม จะเพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 5.7% 

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนได้     

 

อนึ่ง ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed เช่น โบว์แมน และคลาริดา ในวันพุธ และ วอลเลอร์ ในวันพฤหัสบดี ถึงมุมมองต่อการทยอยลด QE ของ Fed เพราะทั้งสามล้วนเป็นคณะกรรมการ FOMC และมีส่วนในการตัดสินแนวทางการปรับลด QE

 

ฝั่งยุโรป – เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แม้ว่าล่าสุดอังกฤษจะพบการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากยอดผู้ป่วยหนักและยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มในอัตราเร่งตามยอดผู้ติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดอาจทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องต่อ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินบางส่วนเริ่มสนับสนุนการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในปลายปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้า

 

ฝั่งเอเชีย – ปัญหาการระบาดของโควิดระลอกใหม่จะส่งผลให้เศรษฐกิจในโซนเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น กดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการคุม Yield Curve เช่นเดียวกับธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มดีขึ้น หลังเกิด Natural Herd Immunity ซึ่งแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล ทำให้ RBI จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ที่ระดับ 4.00% ต่อไป 

 

ส่วนในฝั่งจีน ตลาดอาจเริ่มกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Caixin Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม ที่จะลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 50.2 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของสายยพันธุ์เดลตาล่าสุดในเมืองใหญ่ เช่น กรุงปักกิ่งและนครฉงชิ่ง ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจีนในระยะสั้นได้ 

 

ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาดของโควิดที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง จะกดดันให้เศรษฐกิจซบเซาลงมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินไว้ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เลือกที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% และเน้นย้ำถึงการใช้นโยบายการเงินเฉพาะจุด เช่น การเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจที่ต้องการผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Soft Loans เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากปัญหาการระบาด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนกรกฎาคม ชะลอลงสู่ระดับ 0.10% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ก็จะชะลอลงสู่ระดับ 1.0% เช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อยังได้แรงหนุนจากราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่แรงกดดันจะมาจากภาวะการบริโภคที่ซบเซาและมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท มีสองประเด็นหลักที่ต้องจับตา คือ แนวโน้มเงินดอลลาร์ และปัญหาการระบาดขอโควิดทั่วโลก โดยเฉพาะการระบาดในไทย โดยเรามองว่าทิศทางเงินดอลลาร์อาจ Sideways ในระยะสั้น โดยปัจจัยแข็งค่า คือ ความต้องการ Safe Haven Asset จากปัญหาการระบาดโควิดทั่วโลก ทว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวมากกว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงได้

 

ส่วนในฝั่งเงินบาท ปัญหาการระบาดของโควิดที่ยังไม่ถึงจุดเลวร้ายที่สุดอาจสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในกรณีที่เงินดอลลาร์ก็กลับมาแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงเข้ามาช่วยลดความผันผวนของเงินบาท เพื่อให้ภาคธุรกิจปิดความเสี่ยงค่าเงินได้ทัน

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.05 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X