ค่าเงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจากไม่มีเงินไหลเข้าในภาคการท่องเที่ยว
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานโดยอ้างอิงจาก Refinitiv Data ระบุว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่า 4% มาอยู่ที่ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่วันนี้ (7 เมษายน) เงินบาทยังอ่อนค่าตัวเอง จนทำระดับต่ำสุดรอบครึ่งปี
ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มอ่อนแอ โดยประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.4 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4/63 จากการเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3/63 และเกินดุล 11.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1/63 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดดุล นับตั้งแต่ไตรมาส 3/57
โดยรายได้จากภาคการบริการท่องเที่ยวลดลงเหลือ 742 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5% ของช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากการปิดชายแดนตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ก่อนหน้านี้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมีเสถียรภาพ โดยได้รับแรงหนุนจากการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศลดการกักตัว จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว รวมทั้งรัฐบาลไทบยังจะสร้าง ‘แซนด์บ็อกซ์’ ที่เกาะภูเก็ต เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ตลอดจนนักลงทุน ยังคงมีความกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนอยู่ และมีความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้สำเร็จ
อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท คือปัจจัยทางฤดูกาล ยกตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่น มักจะส่งเงินสดบางส่วนกลับประเทศก่อนที่ปีงบประมาณของญี่ปุ่นจะปิดในเดือนมีนาคม แม้พฤติกรรมการใช้จ่ายตามฤดูกาลจะมีบทบาทน้อยลง เนื่องจากการบริหารจัดการองค์กรกลายเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อตลาด
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานต่อว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทรอบนี้อาจะไม่ทำให้รัฐบาลไทยเกิดความกังวลมากนัก เนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากสุดรอบ 7 ปี พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา ได้แสดงความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดกับภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นาน ในเดือนพฤศจิยากน 2563 อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยกล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเครื่องมือทางนโยบายที่จำเป็นในการจัดการกับการแข็งค่าของเงินบาท
โดย ธปท. ได้เปิดเสรีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ และเพิ่มวงเงินลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยไทยในการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็น 5 ล้านดอลลาร์ จาก 2 แสนดอลลาร์
ส่วนความเคลื่อนไหวค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และริงกิตของมาเลเซีย อ่อนค่า 3.4% และ 3.1% ตามลำดับในไตรมาสแรก ดอลลาร์สิงคโปร์ และเปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่ากว่า 1% เช่นกัน ในขณะที่ดองเวียดนามยังคงทรงตัว
สำหรับค่าเงินจ๊าตเมียนมา ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ไม่ค่อยมีการซื้อขายในภูมิภาคนี้ ลดลง 5.6% ในช่วงไตรมาสแรก หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้เศรษฐกิจและภาคการเงินของประเทศตกอยู่ในความไม่แน่นอน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: