×

ครบรอบ 27 ปี ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’ จับตาปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อาจกดดันบาท ‘เสื่อมค่า’ ในอนาคต

02.07.2024
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ครบรอบ 27 ปี ไทยประกาศ ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’ หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงจาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’
  • ย้อนกลับไปก่อนเกิดวิกฤตดังกล่าว ไทยดำเนินนโยบาย 3 ด้านพร้อมกัน ได้แก่ เปิดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ เข้าข่ายท้าทายทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้’ (Impossible Trinity) ของ Robert Mundell และ Marcus Fleming จนนำไปสู่วิกฤตการเงินที่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
  • แม้เงินบาท (หลังถูกลอยตัว) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้แข็งค่ากว่า 11% อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2018 บาทไทยอ่อนค่าเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค รองจากมาเลเซีย
  • ก่อนหน้านี้ KKP Research เตือนว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับมาเลเซีย ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับริงกิตได้หากไม่ได้รับการแก้ไข พร้อมมองว่าค่าเงินบาทอาจไม่สามารถกลับไปที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเหมือนช่วงก่อนโควิดได้อีก แต่กำลังจะเข้าสู่ระดับสมดุลใหม่ที่อ่อนค่าลงอย่างถาวร
  • ด้านสำนักวิจัยต่างๆ ประเมินว่า เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (THB/USD) ในปีนี้มีแนวโน้มอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากสัญญาณ Fed ไม่รีบลดดอกเบี้ย, เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และแรงขายหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

วันนี้เมื่อ 27 ปีที่แล้ว (2 กรกฎาคม 1997) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท โดยเปลี่ยนจากการผูกกับค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (Pegged Exchange Rate) มาเป็นระบบลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ (Managed Float) หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนักจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์หลายครั้ง จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงจาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

ทำไมไทยต้อง ‘ลอยตัว’ ค่าเงินบาท?

 

หากกล่าวในเชิงทฤษฎี ตามทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้’ (Impossible Trinity) ของ Robert Mundell และ Marcus Fleming ที่ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศหนึ่งจะใช้นโยบาย 3 ประการนี้พร้อมกันได้ ได้แก่

 

  1. ให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี (Free Flow of Capital)
  2. กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate)
  3. การกำหนดนโยบายการเงินได้อย่างอิสระ (Autonomous Monetary Policy)

 

เนื่องจากในเชิงเทคนิคแล้ว ตัวเลือกทั้ง 3 นี้ขัดแย้งกันหมด ดังนั้นตามทฤษฎี ประเทศใดประเทศหนึ่งจึงเลือกได้มากที่สุด 2 ใน 3 ตัวเลือกนี้เท่านั้น

 

ไทยท้าทาย ‘สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้’ จุดกำเนิด ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

 

ย้อนกลับไปก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยดำเนินนโยบาย 3 ประการนี้พร้อมๆ ทำให้บางคนมองว่าการลอยตัวค่าเงินบาทและวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นผลลัพธ์ของการท้าทายสามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้ดังกล่าว

 

โดยในช่วงเวลานั้นไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบตะกร้าเงินที่ผูกกับค่าเงินสกุลต่างๆ ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมาก โดยมีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 24-26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (Fixed Exchange Rate) พร้อมๆ กับการเปิดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี (Free Flow of Capital) ขณะที่ทางการก็ดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Autonomous Monetar Policy)

 

โดยการดำเนินนโยบายดังกล่าวช่วงแรกเหมือนจะเป็นเรื่องดี เนื่องจากความมีเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนของไทย บวกกับการเปิดเสรีทางการเงิน และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล

 

อย่างไรก็ดี เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามานั้นอยู่ในลักษณะของเงินกู้ยืมระยะสั้น ขณะที่การที่หนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนมีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการโจมตีค่าเงินบาท

 

ดังนั้นหลังจากเกิดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และการโจมตีค่าเงินบาทระลอกแล้วระลอกเล่า เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงิน ธปท. จึงดำเนินการปกป้องค่าเงินบาท ซึ่งส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1997 ลดลงเหลือเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 1997 ที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่ 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 กระทรวงการคลัง และ ธปท. จึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด

 

เกิดอะไรขึ้น? หลังไทยลอยตัวเงินบาท เหตุถูกโจมตีค่าเงิน

 

การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเวลานั้นทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างหนัก จาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาแตะระดับต่ำสุดที่ 55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

นำไปสู่การปิดกิจการบริษัทเงินทุนเป็นการถาวร 56 แห่ง จากทั้งหมด 58 แห่งที่ถูกทางการสั่งระงับกิจการชั่วคราว บริษัทเอกชนหลายรายต้องล้มละลายเนื่องจากปัญหาหนี้สิน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในท้ายที่สุด ด้วยมูลค่าเงินกู้ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โดยรัฐบาลจำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่ IMF กำหนดขึ้น เช่น งบประมาณแผ่นดินต้องตั้งเกินดุล 1% ของ GDP ภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเพิ่มจาก 7% เป็น 10% หรือเงื่อนไขที่ระบุให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

 

เงินบาทหลังถูกลอยตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

 

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ investing.com แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2004-2024) ซึ่งนับเป็นช่วงหลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทราว 7 ปี เงินบาทไทยแข็งค่าราว 11.13% (จากระดับปิดที่ 41.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2004 มาเคลื่อนไหวที่ราว 36.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2024)

 

ค่าเงินบาท

 

ทั้งนี้เงินแต่ละสกุลมีลักษณะเหมือนสินค้าที่ราคาขึ้น-ลงจากกลไกตลาด หรือกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานเงินตราของแต่ละประเทศ เช่น กรณีเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หากมีความต้องการซื้อเงินบาทมากขึ้น โดยเอาเงินดอลลาร์สหรัฐมาขาย เงินบาทก็จะแพงขึ้น (แข็งค่าขึ้น) ในทางกลับกัน หากมีความต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยเอาเงินบาทมาขาย เงินบาทก็จะถูกลง (อ่อนค่าลง)

 

บาทแข็ง vs. บาทอ่อน ใครได้ ใครเสีย?

 

การแข็งค่าของเงินบาทถือเป็นผลเสียต่อผู้ส่งออกที่นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง ผู้ที่ทำงานต่างประเทศ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ ที่นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

 

ในทางกลับกัน การแข็งค่าของเงินบาทถือเป็นประโยชน์ต่อผู้นำเข้า ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการต่างประเทศ ผู้ลงทุนที่นำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง และผู้ที่เป็นหนี้ต่างประเทศก็มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศได้มากขึ้น

 

บาทกำลังเข้าสมดุลใหม่ ภาพสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง?

 

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง ‘ค่าเงินบาทจะตามรอยริงกิตหรือไม่’ โดยชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ระหว่างเดือนสิงหาคม 2018 – พฤษภาคม 2024 บาทไทยอ่อนค่าราว 12.3% เป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจใกล้เคียงกันในภูมิภาค ตามหลังริงกิตมาเลเซียที่อ่อนค่าไปถึง 15.3%

 

  • ริงกิตมาเลเซีย (MYR) อ่อนค่า 15.3%
  • บาทไทย (THB) อ่อนค่า 12.3%
  • รูเปียห์อินโดนีเซีย (IDR) อ่อนค่า 8.9%
  • เปโซฟิลิปปินส์ (PHP) อ่อนค่า 7%

 

โดย KKP Research เตือนว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับมาเลเซีย ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับริงกิตได้หากไม่ได้รับการแก้ไข และค่าเงินบาทอาจไม่สามารถกลับไปที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเหมือนช่วงก่อนโควิดได้อีก แต่กำลังจะเข้าสู่ระดับสมดุลใหม่ที่อ่อนค่าลงอย่างถาวร

 

“ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มีแนวโน้มจะปรับลดลงถาวรตามความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกที่แย่ลงของไทย ปัญหาด้านความมั่นคงทางพลังงานที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้นในอนาคต เมื่อแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศกำลังจะหมดลง หรือแม้กระทั่งดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่หลังพ้นช่วงโควิดมาก็ปรับขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจากผลกระทบของปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการ รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

 

“ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าในระยะยาว หากไทยยังไม่มีแผนที่เป็นรูปธรรมมาดำเนินการ ซึ่งในกรณีของมาเลเซียก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน” KKP Research ระบุ

 

เปิด Outlook เงินบาทปี 2024

 

สำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ประเมินว่า เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (THB/USD) อยู่ที่ราว 35-37 บาท เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

โดย SCB EIC มองว่าค่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองในประเทศ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเริ่มออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ตลาด ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับ ณ สิ้นปี 2024 มองเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าค่าเงินบาทยังผันผวนในทิศทางอ่อนค่า โดยบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 3 เนื่องจากมีหลายปัจจัยกดดัน เช่น ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากสัญญาณ Fed ไม่รีบลดดอกเบี้ย, เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แรงขายหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X