×

เกียรตินาคินภัทรคาด เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าแตะ 38 บาท ตามพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและสงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0

22.11.2024
  • LOADING...
เงินบาท

KKP Research คาด แนวโน้มเงินบาทระยะยาวอ่อนค่าไปอยู่ในกรอบ 34-38 บาทต่อดอลลาร์​ ตามพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดุลการค้าลดลง การเติบโตต่ำ และความเสี่ยงจากสงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0

 

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKPFG) กล่าวว่า โดยปกติแล้วดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงอุปสงค์และอุปทานของเงินบาท หากตัวเลขเกินดุลมากจะทำให้เงินบาทแข็งค่า จากการที่เราขายสินค้าได้มากและรับรู้รายได้เป็นเงินดอลลาร์เข้ามาในประเทศ

 

 

“ช่วงปี 2015-2019 ไทยเกินดุลคิดเป็นมูลค่า 7-8% หรือบางปีมากถึง 10% ของ GDP จากการส่งออกและท่องเที่ยวบูม แต่หลังจากนั้นการส่งออกด้อยลง พร้อมกับสินค้าจีนทะลักเข้าไทย รวมทั้งการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศและการใช้จ่ายไปกับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาเกินดุลเพียงเล็กน้อยหรือขาดดุลในบางช่วง”

 

 

 

ดร.ณชา กล่าวต่อว่า หากมองด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงในอนาคต และมีแนวโน้มจะอ่อนค่าไปอยู่ในกรอบ 34-38 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมกับความผันผวนที่มากขึ้น ซึ่งในช่วงหลังโควิดจะเห็นว่ากรอบความผันผวนของเงินบาทเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นประมาณ 8% จากก่อนหน้านี้ที่เพียง 4%

 

“หากในระยะสั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าไปต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นโอกาสในการเข้าสะสมเงินดอลลาร์”​ ดร.ณชา กล่าว

 

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การค้าโลกเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา โดยเฉพาะสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) หลังจากที่​ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะหนึ่งในแคมเปญหาเสียงของทรัมป์คือการต่อต้านจีน และตั้งคำถามว่าทำไมสหรัฐฯ จะต้องขาดดุลการค้ากับประเทศอื่นๆ

 

สำหรับประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่พึ่งพาการค้าโลกจะมีความเสี่ยงจากเรื่องนี้ “ทุกวันนี้ไทยเกินดุลสหรัฐฯ 3 หมื่นกว่าล้านบาท สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากช่วงสงครามการค้าครั้งแรกที่เกินดุลราว 1 หมื่นล้านบาท และสินค้าส่วนใหญ่ของไทยก็เป็นสินค้าจีน ทำให้ไทยจะเป็นหนึ่งในเป้าหมาย” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

 

‘ตราสารหนี้’ หลุมหลบภัยยุคทรัมป์ 2.0

 

ทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน (CIO Office) บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 25% ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ดีที่สุดของหุ้นทั่วโลกไปแล้ว ในระยะข้างหน้าผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ 7-8% ต่อปี ขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้คุณภาพสูง (Investment Grade) เฉลี่ยอยู่ที่ 5% ส่วนตราสารหนี้ดอกเบี้ยสูง (High Yield Bond) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ซึ่งจะเห็นว่าช่องว่างผลตอบแทนของหุ้นและบอนด์แคบลงมาก

 

นอกจากเรื่องของผลตอบแทน ตราสารหนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์

 

“แม้อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับลดลง แต่จะเห็นว่าบอนด์ยีลด์ยังคงอยู่สูง 4.5% สูงกว่าช่วงพีคของวัฏจักรก่อนหน้าประมาณ 1.5%”

 

กลยุทธ์สำคัญหลังจากนี้คือเน้นการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนทั่วโลกเพื่อเน้นรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยพยายามรักษาอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ให้อยู่ระหว่าง 3-5 ปี

ภาพ: Boy_Anupong / Shuterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising