เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับจากเดือนตุลาคม 2563 โดยวันนี้ (12 เมษายน) อ่อนค่าสู่ระดับ 31.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าเร็วขึ้นนับจากปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัย เศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าส่วนหนึ่งเพราะคนลดความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวลง ขณะเดียวกันไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยมองว่ามีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าถึง 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงหลังสงกรานต์
ทั้งนี้ค่าเงินบาทหลังสงกรานต์เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมมีแนวโน้มอ่อนค่าจากสองปัจจัยหลักคือ ฤดูการจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะมีบริษัทโอนเงินปันผลนี้ไปสู่ผู้ถือหุ้น หรือบริษัทแม่ในต่างประเทศ เฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปีนี้คาดว่าจะมีการจ่ายปันผลที่ต้องไหลออกสู่ต่างประเทศราว 74,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันค่าเงินบาทปี 2564 จะผันผวนมากกว่าปี 2563 ทั้งจากความเสี่ยงเรื่องโควิด-19 ที่น่าจะยังอยู่ในไทยยาวออกไป โดยการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ซึ่งประเทศที่มีการฉีดวัคซีนคาดว่าจะฟื้นตัวเร็ว และประเทศที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนจะฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังสงกรานต์ค่าเงินบาทยังต้องติดตามปัจจัยชั่วคราวที่อาจะส่งผลกระทบ เช่น ราคาทองคำ ราคานำ้มัน ค่าระวางเรือ ซึ่งหากสถานการณ์พลิกผันที่จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดค่าเงิน เช่น ถ้าเศรษฐกิจโลกแย่ลง การขนส่งทางเรือลดลง คนจะสนใจทองมากขึ้น และหากมีการนำเข้าทองมากขึ้นย่อมกระทบค่าเงินบาทเช่นกัน
“หลังสงกรานต์อุปสงค์ในประเทศยังไม่เพิ่มมากนัก และหากจะฟื้นการท่องเที่ยวเพื่อดันให้เศรษฐกิจฟื้น ไทยยังตัองมีวัคซีนก่อน”
ทางธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30-31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สัปดาหนี้ (12-16 เมษายน) คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 31.35-31.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-9 เมษายน) ที่เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในช่วง 31.25-31.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือนมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อนจากความกังวลโควิด-19 รอบใหม่ที่ระบาดในประเทศและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินเยน
ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์กรุงศรีตั้งข้อสังเกตว่า แรงส่งขาขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลกเริ่มมีสัญญาณแผ่วลง เห็นได้จากการปรับตัวทั้งค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อยู่บนฐานเดิมหลังข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาดีเกินคาด ภายใต้ยอดการติดเชื้อในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาขึ้นอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้คาดว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับตัวเลขสหรัฐฯ เช่น เงินเฟ้อ ยอดค้าปลีกเดือนมีนาคม 2564 และสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) นอกจากนี้คาดว่าจะติดตาม GDP ไตรมาส 1/64 ของจีน ส่วนปัจจัยในไทยตลาดยังติดตามสถานการรณ์เศรษฐกิจไทย และการแพร่ระบาดที่อาจลุกลามมากขึ้น โดยตลาดมองเรื่องการกระจายวัคซีนที่ไม่ชัดเจน และความไม่แน่นอนเป็นอาจกดเงินบาทให้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในรอบ 1 เดือนค่าเงินบาทอ่อนค่า 2.34% เป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากอินเดียรูปีที่อ่อนค่า 2.9% ซึ่งบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือนนับจาก 2 ตุลาคม 2563 (โดยจุดอ่อนค่าสูงสุดปีก่อนอยู่ที่สิ้นมีนาคม 2564 ที่ 32.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งนี้มองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าถึง 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักที่บาทอ่อนค่าในรอบนี้มาจากปัจจัยในประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 3 โดยเงินบาทอ่อนค่าลงจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล (จากรายได้ท่องเที่ยวที่หายไป) อาจะทำให้บาทกลับมาแข็งค่ายากขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในระยะยาวจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
“เงินบาทน่าจะอ่อนค่าจนกว่าสถานการณ์จะไม่เซอร์ไพรส์ตลาด แต่ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นก็อาจจะกระทบอีก ซึ่งก็เหมือนกกลับไปช่วงไตรมาส 3/63”
ในเชิงมหภาคเมื่อเงินบาทอ่อนค่า ช่วยสนับสนุนการส่งออกให้ดีขึน ซึ่งการส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยหลักอย่างเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอยู่แล้ว ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น อาทิ น้ำมันที่ราคาเป็นขาขึ้นอยู่ ฯลฯ แต่ดีมานด์การใช้งานอาจยังไม่เพิ่มขึ้นเพราะการท่องเที่ยว การเดินทางอาจลดลงจากโควิด-19 ระลอกใหม่
อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อภาคการเงินในกลุ่มรายย่อย เช่น มูลค่า NAV กองทุนรวมบางส่วนจะเพิ่มขึ้นจากส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ราว 2-3% รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ที่ราคาทะลุ 2 ล้านบาทต่อเหรียญ จากบาทที่อ่อนค่า
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า